|
หงส์
หงส์ 鳳凰 เป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งของจีนที่คู่กับมังกร คำว่า หงส์ ภาษาจีนเรียกว่า เฝิงหวง ( Feng huang ) จากตำนานประวัติพระเจ้าหวงตี้ กล่าวว่า พระองค์ทรงปกครองไพร่บ้านพลเมืองด้วยความเป็นธรรม บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ขนาดว่า หงส์ซึ่งอาศัยอยู่ในป่าใหญ่ ยังได้บินมาทำรังบนหลังคาพระตำหนักของพระองค์ เมื่อถึงสมัยพระเจ้าจิ้นเทียนซื่อ โอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าหวงตี้ กล่าวว่ามีหงส์บินมาเกาะหลังคาพระตำหนักของพระองค์ ทรงเห็นว่าเป็นมงคล จึงทรงแต่งตั้งตำแหน่งขุนนางให้มีคำว่าหงส์อยู่ด้วย และโปรดฯให้ปักรูปหงส์บนเสื้อคลุมประจำตำแหน่งยศตั้งแต่นั้นมา
ในสมัยราชวงศ์ฮั่น ( ก่อน พ.ศ. ๗๔๕ ) ได้ใช้สัญลักษณ์ของหงส์เป็นส่วนภาคใต้ของจีนคือแถบฝูเจี้ยน กว่างตง กว่างซี ฯลฯ เป็นรูปหงส์ตัวผู้และตัวเมียหันหน้าเข้าหากัน หงส์เป็นสัตว์ของราชวงศ์ที่แสดงถึงความซื่อสัตย์ ความมีคุณธรรม ความยิ่งใหญ่ ที่ทรงพลัง ความมีน้ำใจ ความร่ำรวย แสดงพลังของหยินและหยาง ความไม่เบียดเบียนใคร เป็นต้น
สัญลักษณ์รูปหงส์มักหมายถึง ผู้หญิง และเป็นสัญลักษณ์ของสมเด็จพระจักรพรรดินี หรือ สตรี และใช้คู่กับ มังกร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ สมเด็จพระจักรพรรดิ หรือ บุรุษ เชื่อกันว่า หงส์ เป็นเทพสัตว์ที่ส่งมาจากสวรรค์ประทานแด่ สมเด็จพระจักรพรรดินี ข้อสังเกตจากภาพภาชนะทองบรอนซ์ราชวงศ์ซัง จะเห็นว่า มีรูปนกประกอบคู่กับมังกร แต่อยู่คนละแถว บางชิ้นจะมีนกอื่นๆเช่น นกฮูก นกตัวคล้ายไก่มีหงอนแต่หางสั้น ส่วนนกที่เข้าใจว่าน่าจะเป็น หงส์ เป็นรูปนกที่มีปากงุ้มคล้ายนกแก้ว มีขนพู่คล้ายหงอนจากหัวลงมายังลำคอ หงอนจะใหญ่ มีสร้อยใต้หูใต้ตาคล้ายไก่ป่า มีปีกใหญ่ มีขนหางสั้นและขนแผงยาวมากคล้ายสามแผงใหญ่ และโค้งลง ตีนนกมีเดือยแหล รูปสัตว์ที่แกะสลักบนภาชนะทองบรอนซ์สมัยราชวงศ์ซัง ล้วนเป็นสัตว์ที่มีอยู่ในโลก ถึงแม้จะไม่มีในพื้นที่ภาคกลางภาคเหนือของจีน เช่น ช้าง ก็ยังเป็นรูปสัตว์จริงๆ ดังนั้นรูปหงส์ที่เป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์ซังและราชวงศ์ต่อมา คงใช้รูปนกที่มีอยู่ในจีนนั่นเอง เมื่อพิจารณารูปร่างและสภาพพื้นที่แล้ว น่าจะเป็น ไก่ฟ้าสีทอง ( Golden Pheasant ) ซึ่ง อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ภาคกลางและภาคกลางตอนใต้ ภาคตะวันตกแถบมณฑลเสฉวน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของยูนนาน ไก่ฟ้าสีทองชอบอาศัยอยู่ตามป่าไผ่ ตามภูเขา ทุ่งหญ้าทั่วไปในปัจจุบัน จากหัวถึงปลายหางตัวผู้ยาวกว่าหนึ่งเมตร ตัวเมียยาวกว่าห้าสิบเซ็นติเมตร น้ำหนักประมาณ ๖๕๐ กรัม จีนเรียกว่า ป่าวจี ( Baoji ) และใช้เป็นชื่อเมืองป่าวจี มณฑลซานซี
ใน สมัยราชวงศ์ฮั่นซึ่งมีนักปราชญ์ราชบัณฑิตมากมาย คงจะได้พัฒนารูปหงส์ไปสู่สีสันที่สวยงามมากขึ้น ด้วยการนำจุดเด่นของสัตว์แต่ละชนิดมารวมอยู่ในรูปหงส์ คือ หัว เอามาจากไก่ฟ้าสีทอง ปากเอามาจากนกยูงหรือนกแก้ว ลำตัวเอามาจากเป็ดแมนดาริน ปีกเอามาจากพญาอินทรีย์ ขนหางเอามาจากขนหางนกยูง ขาเอามาจากนกกระเรียน สีขนมีสีดำ ขาว แดง เขียวและ เหลือง
คำว่า หงส์ ภาษาอังกฤษใช้ว่า Chinese Phoenix - ไชนิซ ฟีนิกซ์ ซึ่งแตกต่างจากนกฟีนิกซ์ของอียิปต์และยุโรป ญี่ปุ่น เรียกว่า โฮ- โอะ ตัวผู้เรียกว่า โฮ ตัวเมียเรียกว่า อู ส่วนหงส์ของไทย เป็นนกตระกูลชั้นสูง ร้องเสียงไพเราะ เป็นพาหนะของพระพรหม สีขนเป็นสีแดงปนเหลืองหรือสีแดงแสด หงส์เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ นอกจากนี้ประเทศพม่ามอญใช้หงส์เป็นสัญลักษณ์เช่นกัน
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๘ มกราคม ๒๕๕๐
Title : Feng Huang
: Somboon Kantakian
|
|
|