Bookmark and Share Add to Favorites  
สมาชิกเข้าสู่ระบบ
User Name:
Password:
จำการล็อกอินของฉันไว้
ลืมรหัสผ่าน | สมัครสมาชิก
ลืมรหัสผ่าน
ใสอีเมล์ที่ลงทะเบียนไว้กับเรา
จีนศึกษา
  CHINESE TEXT PROJECT
  STANDARD CHINESE
  เส้นสายลายอักษร
  ลัทธิเต๋า
  รวมเรื่องจีนศึกษา-China Knowledge
  วัฒนธรรมศึกษาจากเว็บต่างๆ
  วัฒนธรรมศึกษาจากภาพ
  พระบรมฉายาลักษณ์ของฮ่องเต้
  มังกรจีนสมัยโบราณ
  มังกรจีนศึกษา
  เลือกเพศให้ลูก
  จีนโบราณจาก บริทิชมิวเซียม
  การเดินทางไกลของเหมาเจ๋อตุง
  จีนในปัจจุบัน
แซ่สกุล
  แซ่ตระกูลที่ใช้กันมาก
  ข้อมูลตระกูลแซ่ต่างๆ
  ประวัติบางแซ่สกุล
  200 แซ่สกุลที่ใช้มาก
  ตระกูลแซ่หลิน
มหาวิทยาลัยชั้นนำ
  BEIJING UNIVERCITY
  Shanghai Jiao Tong University
  Tsinghua University
  Xi'an Jiaotong University
  The Chinese University of Hong Kong
  The University of Hong Kong
  The Hong Kong University of Science and Technology
  Southeast University
  East China Normal University
  Tongji University
  Huazhong University of Science and Technology
  The Hong Kong Polytechnic University
  Tianjin University
  City University of Hong Kong
  Harbin Institute of Technology
  Wuhan University
  China Agricultural University
  Renmin University of China
  Xiamen University
  Fudan University
  Hong Kong Baptist University
  Shandong University
  Nanjing University
  University of Science and Technology of China
  Zhe Jiang University
พิพิธภัณฑ์และหอสมุด
  NATIONAL LIBRARY OF CHINA
  CHINA'S MUSEUMS
  GREAT WALL OF CHINA
  SACRED MOUNTAINS OF CHINA
หนังสือพิมพ์
  ซินหัวไทย
  People's Daily
  Xinhua
  China Daily
  China News
  China .com.cn
  China Youth Daily
เจ - มังสวิรัติ - VEGETARIAN
  เจ-อิ่มบุญ
  พลังบุญ
  เมนูอาหารเจ
  เจทิพย์
  อาหารมังสวิรัติ
  International Vegetarian Union (IVU)
  The Veggie Hub
  Vegetarianism
  A Guide to Vetetarian
  simple-veganista.com/all-recipes
เว็บเครือสมบูรณ์
  สมบูรณ์แก่นโน้ต
  ตระกูลแซ่หลิน
  ภูเก็ตสารสนเทศ
  สมบูรณ์แก่นโน้ต

ประเพณีการแต่งงาน

                                         

       

 

        การแต่งงานเป็นประเพณีเกี่ยวกับชีวิต ที่บรรพชนได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้ลูกหลานได้ปฏิบัติ สืบเนื่องกันมาเป็นพันปีแล้ว จนถึงยุคปัจจุบัน ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงพิธีกรรมไปบ้าง แต่ก็ยังรักษารากเหง้าเอาไว้ มิได้สูญสลายไปตามกาลเวลาและเศรษฐกิจ

       ตามคติความเชื่อของลัทธิขงจื่อกล่าวไว้ว่า การแต่งงานมีความสำคัญที่ปลูกฝังคุณธรรมทั้งสองครอบครัวและทางสังคมเข้าด้วยกัน จึงมีการหลีกเลี่ยงที่จะแต่งงานกับคนในสกุลแซ่เดียวกัน หรือพี่น้องร่วมสายโลหิต หรือญาติพี่น้องกัน จึงเห็นได้ชัดว่า ตามคติขงจื่อแล้ว จะไม่มีการแต่งงานกับครอบครัวแซ่เดียวกันเป็นอันขาด ซึ่งหมายถึงการแต่งงานที่ทั้งสองครอบครัวต่างแซ่สกุลกัน เป็นการสืบแซ่สกุลที่ต่อเนื่องกันมา เป็นการรักษาเชื้อวงศ์ตระกูลหรือสายเลือดของตนอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเหตุให้มีความต้องการบุตรชายมากกว่าบุตรหญิงในสกุลนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่า ครอบครัวหนึ่งเป็นหน่วยเล็กสุดของสังคม และเป็นครอบครัวที่ฝ่ายชายหรือสามีมีภรรยาได้เพียงคนเดียว  

 

        การแต่งงานในสังคมประเทศจีน บางครั้งเป็นนโยบายในการปกครองของรัฐด้วย เช่น การส่งองค์หญิงไปสมรสกับองค์ชายต่างเมืองที่เป็นเมืองขึ้น อย่างในสมัยราชวงศ์ฮั่น พวกชาวนอกด่าน สู่ขอองค์หญิงในราชวงศ์ฮั่นไปอภิเษกด้วย เช่น มองโกล แมนจู เซวียงหนู หรือพวกเติร์ก เป็นต้น

        ในสังคมคนจีนโบราณ มีการกล่าวไว้เกี่ยวกับสิ่งสำคัญในชีวิตลูกผู้ชายว่ามีสามอย่างที่จะต้องทำให้ได้ คือ การสอบเป็นขุนนาง การแต่งงาน และการมีบุตรชาย ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฉินระหว่างก่อนค.ศ. ๒๒๑ ถึงก่อนค.ศ. ๒๐๖ จนถึงสมัยราชวงศ์ชิง ระหว่าง ค.ศ. ๑๖๔๔ ถึง ค.ศ. ๑๙๑๑ 

 

        ในสมัยโบราณ แน่นอนว่าไม่มีการแต่งงานอย่างเป็นทางการ เมื่อบ้านเมืองมีการสู้รบกันในแต่ละรัฐ บางครั้งขุนพลเมื่อยกทัพผ่านดินแดนใดย่อมมีเพศสัมพันธ์ชนเมืองนั้น จึงกล่าวกันว่า มารดาย่อมรู้ดีว่า บุตรของตนใครเป็นบิดา อย่างไรก็ตาม เมื่อนักปราชญ์ได้กำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นเรียกว่า บิดา มารดา สามี ภรรยา บุตร ซึ่งได้กำหนดกฎเกณฑ์ชัดเจนขึ้นในสมัยขงจื่อ เพื่อสั่งสอนคนให้เข้าใจว่า บิดาหรือสามี มารดาหรือภรรยา พี่น้องร่วมสายโลหิต ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว พฤติกรรมในทางเพศ คืออะไร

 

        แต่มีตำนานอยู่เรื่องหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานระหว่างพี่ชายกับน้องสาว คือ หนิ่วอวากับฟูซื่อที่แต่งงานกัน แต่ด้วยความอายจึงอพยพกันไปอยู่ที่พืดเขาคุนลุ้น ส่วนนางหนิ่วอวาด้วยความอายจึงถือพัดปิดหน้า อันเป็นธรรมเนียมหญิงจีนมักใช้พัดปิดหน้า และอีกเรื่องหนึ่งคือในสมัยเลียดก๊ก มีท่านกงองค์หนึ่งมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับน้องสาวของตน จนได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์

 

ชุดแต่งงานที่ภูเก็ตในอดีต

       การแต่งงานในชนเผ่าเดียวกัน หรือในกลุ่มญาติมิตรในระหว่างชนชั้นเดียวกันในสังคม เช่น ชนชั้นสูงพวกขุนนางย่อมแต่งงานในกลุ่มลูกหลานขุนนางด้วยกัน ชนชั้นกลาง ก็จะแต่งงานในกลุ่มชนชั้นกลางด้วยกัน หรือชนชั้นกรรมกร ย่อมแต่งงานในกลุ่มดียวกัน แต่ทุกกลุ่มหลีกเลี่ยงที่จะแต่งงานกับพวกข้าทาสหรือชนชาติเผ่าอื่น ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายของบ้านเมืองที่กำหนดไว้ ในสมัยโบราณ ผู้หญิงไม่สามารถจะเลือกคู่ครองเองได้ บิดามารดาเป็นผู้จัดการหาคู่ครองหรือสามีที่เหมาะสมให้ ทั้งนี้จะดูสถานะทางสังคมของฝ่ายหญิง ว่าสมน้ำสมเนื้อกับครอบครัวตนหรือไม่ ถ้าหากเป็นครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวยหรือเป็นครอบครัวขุนนางด้วยแล้ว ยิ่งดี เช่นเดียวกัน ถ้าฝ่ายชายมีสกุล เป็นขุนนางหรือมีฐานะร่ำรวย บิดามารดาจะไม่อนุญาตให้ไปแต่งงานกับหญิงที่ครอบครัวยากจนหรือมีฐานะด้อยกว่า การแต่งงาน อาจแต่งออกคือ ฝ่ายหญิงจะต้องไปอยู่บ้านฝ่ายชาย แต่บางครอบครัว ฝ่ายชายจะไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง ทั้งนี้แล้วแต่จะตกลงกัน หรือขึ้นอยู่กับฐานะของแต่ละฝ่าย มักมีให้เห็นที่ฝ่ายชายจำต้องแต่งงานไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิง จนถูกบิดาฝ่ายหญิงให้เปลี่ยนแซ่สกุลตามฝ่ายหญิง ด้วยฝ่ายหญิงมีทรัพย์สมบัติมากและไม่มีญาติพี่น้องใกล้ชิด ฝ่ายชายจำยอม

 

ชุดแต่งงานที่ภูเก็ตในอดีต

       อย่างไรก็ตาม การแต่งงานในประเทศจีน ได้เริ่มเป็นประเพณีกันมาตั้งแต่ก่อนค.ศ. ๔๐๒ ถึงก่อนค.ศ. ๒๒๑ มาแล้ว แต่ก็มีความแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ของประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาล แต่ก็ยังยึดถือเอา ข้อกำหนดตามมารยาท 三書六禮 เป็นหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

 

คู่บ่าวสาวในอดีตที่ภูเก็ต

  •  ประการแรก คือการทาบทามสู่ขอ เมื่อบุตรชายมีอายุพอสมควรที่จะมีเหย้าเรือนแล้ว บิดามารดาย่อมหาคู่ครองให้บุตรชาย เมื่อเห็นว่าบุตรสาวบ้านใดมีคุณสมบัติพร้อมที่จะมาเป็นบุตรสะใภ้ จึงติดต่อแม่สื่อพ่อสื่อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแม่สื่อหรืออึ่มหลาง ให้ไปทาบทามสู่ขอ และเช่นเดียวกัน ฝ่ายบุตรชายบุตรสาวของทั้งสองครอบครัวไม่ทราบเรื่องการทาบทามดังกล่าว

 

คู่บ่าวสาวในอดีต

  •  ประการที่สอง การดูวันเดือนปีเกิด แม่สื่อก็จัดแจงเอาวันเดือนปีและเวลาตกฟากของฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ไปให้หมอดูทำนายว่าทั้งคู่อยู่ด้วยกันสมพงศ์กันหรือไม่  ถ้าหากผลปรากฏว่าทั้งคู่เป็นคู่สร้างคู่สมกันจริง ก็จะไปถึงขั้นที่สามคือสินสอดทองหมั้น
  • ประการที่สาม สินสอดทองหมั้น ข้างครอบครัวฝ่ายชายก็จะส่งสินสอดทองหมั้นพร้อมหนังสือรับรองการหมั้นหมายไปให้บ้านฝ่ายหญิง
  • ประการที่สี่ ของขวัญแต่งงาน บ้านเจ้าบ่าวก็จะจัดของขวัญแต่งงาน ซึ่งมีขนมนมเนยไปยังบ้านเจ้าสาว
  • ประการที่ห้า การเตรียมงานแต่งงาน โดยทั้งสองฝ่ายหาฤกษ์ยามวันที่ดีเพื่อให้ทั้งคู่ได้อยู่กันยืนยาว จึงต้องดูและเลือกฤกษ์งามยามดีที่สุดเท่านั้น ซึ่งบางครั้งบางคู่หาฤกษ์งามยามดีในช่วงนั้นๆยาก

 

พวกเกี๋ยเพื่อนเจ้าบ่าวและเพื่อนเจ้าสาวในอดีต

  • ประการที่หก พิธีกรรมในวันแต่งงาน ที่ทั้งสองฝ่ายรอก็มาถึง เป็นพิธีกรรมที่แตกต่างกันไปในรายละเอียด คือ
  • ขบวนแห่เจ้าบ่าวเจ้าสาวระหว่างทั้งสองบ้าน จะประกอบด้วยเครื่องดนตรีแห่ เกี้ยวสำหรับให้เจ้าสาวนั่ง  เกี้ยวสำหรับเพื่อนเจ้าสาว สิ่งของเครื่องใช้ของเจ้าสาวที่ไม่ใช่เงินทอง ทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะแต่งชุดสีแดง อันเป็นประเพณีดั้งเดิม แต่ภายหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงสีไปตามท้องถิ่นและกาลเวลา 
  • ยินดีต้อนรับเจ้าสาว ด้วยขบวนเจ้าสาวจะหยุดอยู่ที่ประตูบ้านเจ้าบ่าว เพื่อทำพิธีต้อนรับเจ้าสาวเข้าบ้านเจ้าบ่าว และมีความแตกต่างกันไปตามภูมิภาคท้องถิ่น
    • ในพิธีกรรม ทั้งคู่จะไหว้ป้ายซินจู้บรรพบุรุษ ไหว้บิดามารดาของทั้งสองฝ่าย ไหว้ผู้อาวุโสของทั้งสองครอบครัว แล้วคำนับกันระหว่างเจ้าสาวกับเจ้าบ่าว
    • พิธีจัดงานเลี้ยงวันแต่งงาน หรือการดึ่มสุรามงคล ซึ่งบางครั้งอาจยิ่งใหญ่หรูหรากว่าการแต่งงานด้วยซ้ำ  ในพิธีทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะยกถาดน้ำชาหรือสุราให้บิดามารดาของทั้งสองฝ่าย ให้ญาติผู้ใหญ่ และแขกผู้ใหญ่ที่รับเชิญ การออกค่าใช้จ่ายในงานจัดเลี้ยงนี้จะเป็นของเจ้าบ่าวซึ่งจัดอาหารชั้นดีทั้งสิ้น และเป็นอาหารที่มีความหมายเกี่ยวกับการมงคลทั้งหมด แต่บางงานจะมีการจัดเลี้ยงทั้งบ้านเจ้าสาวและบ้านเจ้าบ่าว หรือตกลงกันว่าจะจัดบ้านใคร งานเลี้ยงนี้เป็นการเลี้ยงขอบคุณแขก การทำความรู้จักกับญาติทั้งสองฝ่าย

        การแต่งงานตามลัทธิขงจื่อในปัจจุบัน มักแขวนรูปขงจื่อขนาดใหญ่ไว้ในห้องพิธี ส่วนเจ้าบ่าวเจ้าสาวต่างแต่งชุดแบบจีน ในพิธีมีการคำนับสี่ครั้ง ครั้งแรก คำนับฟ้าดิน ครั้งที่สองคำนับบรรพบุรุษ ครั้งที่สามคำนับบิดามารดา ครั้งที่สี่คำนับซึ่งกันและกัน

       ก่อนพิธีแต่งงาน ฝ่ายหญิงจะส่งสินสอดไปยังบ้านฝ่ายชาย เพื่อแสดงถึงฐานะทางสังคมของเธอ เช่น กรรไกรหนึ่งคู่ซึ่งมีความหมายถึงเราจะไม่แยกจากกัน ไม้บรรทัดแสดงถึงจำนวนไร่นาสาโท และแจกันแสดงถึงความสงบสุขและความร่ำรวย

        ก่อนที่ขบวนเจ้าบ่าวจะมาถึง แม่แก่จะผูกผมเจ้าสาวด้วยด้ายแดง เมื่อขบวนมาถึง เจ้าสาวแต่งชุดแดง จะใช้ผ้าเช็ดหน้าสีแดงคลุมหน้า เธออาจจะร้องไห้ที่จะต้องจากบ้านพ่อแม่ไป ฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องผ่านด่านประตูเงินประตูทอง แล้วเข้าสู่พิธีกรรม

        ช่วงกลางคืนในวันแต่งงาน ในบางท้องถิ่น จะมีญาติหรือเพื่อนเจ้าบ่าว ทำการหยอกล้อเจ้าสาวเจ้าบ่าว เพื่อให้ทั้งคู่หายเขินอาย

        ในวันที่สาม หรือวันที่หก หรือวันที่เจ็ด หรือวันที่เก้า หรือวันที่สิบ หรือครบหนึ่งเดือน หลังวันแต่งงาน เจ้าสาวจะกลับไปเยี่ยมบิดามารดา และมีการเลี้ยงเหล่าบรรดาญาติๆด้วย

        เหล่านี้คือความเป็นมาสังเขปที่ได้ปฏิบัติกันมาในประเทศจีน จากอดีตจนถึงปัจจุบัน

        คราวนี้ลองมาดูชาวจีนโพ้นทะเล หรือคนไทยเชื้อสายจีนที่ภูเก็ตซึ่งส่วนใหญ่อพยพมาจากมณฑลฮกเกี้ยน ว่าพวกเขาทำกันอย่างไรบ้าง ซึ่งมีความเหมือนและมีความต่างแน่นอน พอเป็นสังเขปเท่าที่จำได้ ดังนี้

        ประการแรก เมื่อหญิงสาวเริ่มอายุประมาณ ๑๕ปีขึ้นไปกำลังแรกรุ่น และมีความสวยงามทั้งมารยาทและจิตใจ ย่อมมีบิดามารดาฝ่ายชายอยากได้เป็นสะใภ้ จึงให้อึ่มหลางแม่สื่อ ไปติดต่อทาบทาม ถ้าบิดามารดาฝ่ายหญิงเห็นว่า ครอบครัวฝ่ายชายและชายหนุ่มนั้น ไม่เป็นที่น่าสนใจ ก็จะปฏิเสธไปแบบนุ่มๆ หรือชายหนุ่มเห็นหญิงสาวและตนสนใจ อาจบอกบิดามารดาให้ไปสู่ขอก็ย่อมได้ การติดต่อทาบทามจากอึ่มหลางแม่สื่อ เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลง ก็จะเริ่มในขั้นต่อไป แน่นอนว่าบิดามารดาฝ่ายหญิงไม่อยากดองลูกสาวไว้ เพราะเมื่อหญิงสาวอายุเลยยี่สิบปีขึ้นไปแล้ว จะหาคนมาสู่ขอยาก บิดามารดาก็ไม่สบายใจ บางครั้งกลายเป็นหนุ่มพ่อหม้ายมาสู่ขอ ก็ต้องจำยอม

        ประการที่สอง เมื่อตกลงกันแล้ว อึ่มหลางก็จะเอาวันเดือนปีเกิดของทั้งสองฝ่ายไปให้หมอดูดวงว่าสมพงศ์กันหรือไม่ เมื่อดวงไม่สมพงศ์กัน ก็เลิกรากันไป แต่ถ้าดวงของทั้งคู่เหมาะสมกัน อยู่กันยืนยาว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป

ภาพการแต่งงานย้อนยุคที่ภูเก็ต

ระหว่าง

คุณวีรวรรณ แก่นตะเคียน กับ คุณปฐวี คิ้วเที่ยง

๙ พฤษภาคม ๒๕๕๗

 

        ประการที่สาม การแลกแหวน หรือการหมั้น เมื่อถึงฤกษ์ยามงามดี โดยฝ่ายชายจะทำพิธีไหว้พระที่หิ้งพระที่บ้าน มีขนมหวานต่างๆจัดเป็นคู่ๆกี่ชนิดก็แล้วแต่ แต่จะต้องเป็นจำนวนคู่ โดยมีน้ำตาลกรวดเป็นหลัก เสร็จแล้วจะนำแหวนหมั้นพร้อมขนมหวาน เช่น น้ำตาลกรวดหรือเต่งถึง ขนมหยุ่นถึง ขนมตังโก้ยหรือจันอับ ขนมก้านบัว ขนมเปี้ย โดยใส่เสี่ยหนาตะกร้า ไปบ้านฝ่ายหญิง เพื่อไหว้หน้าพระบนหิ้งพระประจำบ้านฝ่ายหญิง เสร็จแล้วเอาขนมดังกล่าวใส่จาน พร้อมแผ่นกระดาษแดงปิดขนมใส่เสี่ยหนาไปแจกญาติ เพื่อประกาศให้ญาติทราบว่า จะมีงานมงคลในไม่ช้านี้

 

 

ภาพการแต่งงานย้อนยุคที่ภูเก็ต

ระหว่าง

คุณชณภา ฐานันดรวัฒน์ กับ คุณเกียรติขจร ก่อเกียรติพิทักษ์

๗ มิถุนายน ๒๕๕๘

 

        ประการที่สี่ การกำหนดวันแต่งงาน แน่นอนว่า เมื่อมีการหมั้นหมายแล้ว ฝ่ายชายย่อมหาฤกษ์วันแต่งงาน ซึ่งโดยทั่วไปจะแต่งงานในเดือนหก เดือนแปด เดือนสิบสองไทย ในช่วงเดือนดังกล่าวจึงมีงานแต่งงานชุกเป็นพิเศษ ในวันดังกล่าวทั้งสองฝ่ายจะตกลงกันว่า จะแต่งออกหรือแต่งเข้า นั่นก็คือ ฝ่ายหญิงไปอยู่บ้านฝ่ายชาย ซึ่งเป็นธรรมเนียม บางครั้งฝ่ายชายต้องไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง ด้วยเหตุผลของแต่ละฝ่าย

        ประการที่ห้า การเตรียมงานแต่งงาน เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงกันแล้วว่า ฝ่ายไหนจะไปอยู่บ้านใคร บ้านนั้นจะต้องเตรียมห้องเจ้าสาว มีเตียงตู้โต๊ะเครื่องแป้ง การพิมพ์หรือเขียนบัตรเชิญ การเชิญแขก การบอกญาติผู้ใหญ่ที่จะรับไหว้กินน้ำชา ฝ่ายชายจะบอกเพื่อนๆหนุ่มที่สนิทให้มาเป็นเพื่อนเจ้าบ่าว เรียกว่า พวกเกี๋ย การเตรียมเกี้ยว รถลาก เกวียน หรือเตรียมยืมรถเก๋งวันแห่ การเตรียมชุดเจ้าสาวเจ้าบ่าวคนแต่งตัวเจ้าสาว การเตรียมป้ายตุ้ยเหลียนคำอวยพรติดประตูบ้าน ผ้าฉายหน้าบ้าน ผ้าโต๊ะอุ๋ยคาดหน้าโต๊ะ เข้าของเครื่องใช้ต่างๆพวกถ้วยโถโอชาม เก้าอี้โต๊ะ การติดต่อแม่ครัวทำอาหารเลี้ยงแขก การทำขนมสด ขนมหวาน ไม้ฟืน พื้นที่เลี้ยงแขกบริเวณบ้าน เพิงพักสำหรับทำอาหาร เป็นต้น แล้วถึงขั้นตอนต่อไป

        ประการที่หก วันสุกดิบ ก่อนถึงวันงานสองสามวัน มีการจัดตกแต่งบ้านด้วยกระดาษแดง ผ้าแดง ผ้าม่านประตูหน้าต่างของทั้งสองบ้าน ห้องเจ้าสาวดูฤกษ์ประกอบเตียงเหล็กหรือไม้ จัดตู้เสื้อผ้าโชว์ทั้งคู่ เป็นต้น ขนมบางชิดทำก่อนเช่น ขนมทองม้วนทองพับ ภูเก็ตเรียก ขนมคีบ ขนมที่ใช้ในงานเลี้ยง ได้แก่ ขนมคีบ กะละแมหรือกันแม ขนมชั้น ขนมใส่ไส้หรือขนมห่อ

 

การผั่งเต๋รับน้ำชาจากบ่าวสาว

        ประการที่เจ็ด วันแห่เจ้าสาวหรือวันแต่งงาน ตอนเช้า เจ้าบ่าวแห่ไปบ้านเจ้าสาว เจ้าบ่าวผ่านประตูเงินประตูทอง เข้าบ้านเจ้าสาว ทั้งคู่ไหว้เทพประจำบ้าน เชิญบิดามารดาฝ่ายหญิงออกมานั่ง หน้าโต๊ะ เจ้าบ่าวเจ้าสาวถือถาดน้ำชาด้วยกัน มีสองถ้วย เชิญบิดามารดาเจ้าสาวรับน้ำชา ฝ่ายบิดามารดารับน้ำชามาดึ่ม พร้อมทั้งยื่นอั่งเปาใส่ถาดน้ำชา อาจเป็นเงินหรือเพชรนิลจินดาทองคำ พวกเพื่อนเจ้าบ่าวเปิดออก ประกาศเสียงดังว่า เขาให้อะไรเป็นของขวัญ แล้วเชิญญาติผู้ใหญ่คู่ต่อๆไปตามรายการที่จดมาจนหมด การเชิญรับน้ำชานี้ จะไม่เชิญชายหญิงที่เป็นโสดถึงแม้จะมีอายุมากก็ตาม ยกเว้นเป็นหม้าย  หลังจากนั้นแห่ไปบ้านเจ้าบ่าว เชิญบิดามารดา และญาติข้างเจ้าบ่าวรับน้ำชาและรับซองอั่งเปา จนหมดตามรายชื่อที่กำหนด แล้วเลี้ยงอาหารที่บ้านเจ้าบ่าว เสร็จแล้วอาจไปไหว้ศาลเจ้าจีนประจำหมู่บ้านและศาลเจ้าปุดจ้อ เพื่อขอพร

 

เสี่ยหนาตะกร้าใส่ขนม

        ถึงตอนค่ำ มีการเลี้ยงขอบคุณเพื่อนเจ้าบ่าว และพิธี “หยอกเจ้าสาว” โดยเพื่อนเจ้าบ่าว ด้วยการถามเจ้าสาว เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้ทั้งคู่ แล้วส่งตัวเจ้าสาวเข้าห้องหอ เป็นเสร็จงานแต่งงาน

        ประการที่แปด ภายหลังจากการแต่งงานครบ หกวันหรือหนึ่งเดือน เจ้าสาวกลับไปเยี่ยมบิดามารดาและญาติพี่น้อง

        อย่างก็ตาม ทั้งที่ประเทศจีนและคนไทยเชื้อสายจีน ถ้าขณะที่หมั้นอยู่นั้นและได้กำหนดวันแต่งงานเรียบร้อยแล้ว เกิดบิดามารดาของฝ่ายใด ถึงแก่กรรมและต้องไว้ทุกข์ ทั้งบ้านจะออกทุกข์เจ็ดวัน แล้วแต่งงานวันที่กำหนด หลังจากนั้นกลับมาไว้ทุกข์ตามเดิม แต่บางครอบครัวรอให้ออกทุกข์ก่อนจึงแต่งงาน

        เมื่อวันเวลาเปลี่ยน พิธีกรรมต่างๆก็ต้องเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมและเศรษฐกิจ การแต่งงานจึงไม่ยุ่งยากวุ่นวายเหมือนสมัยก่อน โดยใช้สถานที่โรงแรมจัดพิธีทุกขั้นตอน แบบม้วนเดียวจบ เจ้าบ่าวเพียงเตรียมเงินไว้ให้พอค่าใช้จ่ายเท่านั้น

        ประเพณีการแต่งงาน ซึ่งเป็นประเพณีเกี่ยวกับชีวิตของทุกคน ที่ได้ยึดถือกันมาแต่โบราณ จึงควรที่จะช่วยกันรักษาเอาไว้ เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้สืบทอดกันต่อไป

        :   ผศ. สมบูรณ์ แก่นตะเคียน   ๑ กันยายน  ๒๕๕๖

 

****  

 

                    

 

 

 

 

บทความอื่นๆ ในหมวดเดียวกัน