|
เฉิงหวง 城隍 : เทพเจ้าประจำเมือง
เฉิงหวง 城隍 เป็นเทพเจ้าประจำเมือง คล้ายเจ้าพ่อหลักเมืองของไทย หรือเป็นพระภูมิเจ้าที่ประจำเมือง ในสมัยโบราณ เมืองต่างๆในประเทศจีน ต่างต้องสร้างกำแพงสูง คูน้ำและคูแห้งล้อมรอบเมืองทุกด้าน เพื่อป้องกันศัตรูรุกราน คำว่า เฉิง เดิมหมายถึง กำแพงเมืองที่สร้างด้วยดิน ส่วนคำว่า หวง เดิมหมายถึง คูที่ไม่มีน้ำรอบกำแพงเมือง ดังนั้นกำแพงเมืองและคูเมืองจึงป้องกันภัยจากข้าศึกให้คนในเมืองนั้นได้ระดับหนึ่ง นอกจากกำแพงเมืองที่สูงแล้ว ยังประกอบไปด้วยช่องใบเสมา หอคอยเป็นระยะ ป้อมยาม บันไดขึ้นลง ประตูเมืองทั้งสี่ด้าน ซึ่งบางแห่งเหนือประตูเมืองมีหอคอยหรือกองบัญชาการอีกด้วย กำแพงเมืองบางเมือง สร้างอย่างแข็งแรงและหนามาก บางแห่งรถยนต์สามารถวิ่งสวนกันได้
ด้วยเหตุนี้ กำแพงเมืองตลอดจนส่วนประกอบของกำแพงเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยปกป้องกันภัยให้ชาวเมือง ได้อยู่กันอย่างมีความสุข เหล่าบรรดาชาวเมือง จึงระลึกถึงความสำคัญของส่วนนี้ จึงได้สร้างศาลเจ้าขึ้นบริเวณริมกำแพงแห่งหนึ่ง เพื่ออัญเชิญองค์เทพเจ้าผู้ปกปักรักษากำแพงเมือง ซึ่งเรียกว่า เทพเจ้าเฉิงหวง ให้มาสถิตที่ศาลเจ้าเฉิงหวง 城隍廟 แล้วทำพิธีบวงสรวงเซ่นไหว้ พิธีกรรมดังกล่าวได้เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยสามก๊ก แล้วขยายสืบเนื่องกันมาจนถึงสมัยราชวงศ์สุย ได้มีพิธีกรรมบวงสรวงเซ่นไหว้เทพเฉิงหวงด้วยการฆ่าสัตว์สังเวย เทพเจ้าเฉิงหวงหรือเทพแห่งเมือง ได้มีการเคารพนับถือประกอบพิธีใหญ่โตเป็นยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองในสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง โดยเฉพาะในสมัยราชวงศ์ซ่งการประกอบพิธีกรรมบวงสรวงถือเป็นความสำคัญระดับชาติทีเดียว ถึงสมัยราชวงศ์หมิง ชาวเมืองได้ให้ความเคารพต่อเทพเจ้าเฉิงหวงและรวมเอาเทพเจ้าแห่งปถพีหรือเทพเจ้าปุนเถ่ากงเข้าไปด้วย จากสาเหตุที่จูหยวนจาง ฮ่องเต้องค์ปฐมราชวงศ์หมิงได้ถือกำเนิดที่ศาลเจ้าปุนเถ่ากง ศาลเจ้าเฉิงหวงและศาลเจ้าปุนเถ่ากงจึงได้เริ่มสร้างและขยายไปตามหัวเมืองเล็กใหญ่ทั่วประเทศในยุคนั้น
อย่างไรก็ตาม ในสมัยโบราณ พวกขุนพลนายทหารชั้นจูโหวหรือจูเฮ้า ต่างอยากออกไปเป็นเจ้าเมืองครองเมืองเอกเมืองโท เพื่อก่อร่างสร้างฐานะให้ตนเองและครอบครัว ฮ่องเต้จึงโปรดฯให้ไปครองเมืองต่างๆ ทำให้ชาวเมืองอุ่นใจและให้ความเคารพมาก เมื่อถึงแก่อนิจกรรม ฮ่องเต้โปรดฯให้สร้างศาลเจ้าวาดรูปหรือปั้นรูป แล้วให้ขุนนางเมืองนั้นประกอบพิธีเซ่นไหว้ประจำปี ชาวเมืองได้กราบไหว้บูชาและถือว่าเป็นเทพเจ้าประจำเมืองของตนด้วย พวกเขาถือว่าองค์เทพเจ้าเหล่านั้นอาจนำโชคลาภความมั่งมีศรีสุขมาให้และขจัดภัยอันตรายต่างๆให้หมดไป
เฉิงหวง ตามลัทธิเต๋าถือว่าเป็นองค์เทพเจ้าที่เดิมเป็นมนุษย์ แล้วได้ยกฐานะขึ้นเป็นเทพเจ้า เรียกว่า เฉิงหวงจวินเสิน 城隍尊神 หรือเฉิงหวงกง 城隍公 เทพเจ้าแห่งเมือง และเป็นเทพเจ้าผู้ประสานสัมพันธ์ระหว่างโลกมนุษย์กับโลกอื่น
บทสวดสรรเสริญเทพเจ้าเฉิงหวง 城隍尊神寶誥 **** ศาลเจ้าเฉิงหวงริมกำแพงกรุงปักกิ่ง ****
ศาลเจ้าเฉิงหวงเมืองเซี่ยงไฮ้ ****
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๕ ธันวาคม ๒๕๕๖
*****
|
|
|