|
ส่วนประกอบของกับข้าวไหว้เจ้าวันตรุษจีน
วัฒนธรรมในการกินของคนจีน ได้สืบเนื่องมาหลายพันปีแล้ว ได้มีการประดิษฐ์ประดอยอาหารและส่วนที่นำมาทำอาหารให้อร่อย เพื่อนำไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ และเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ในสวรรค์ อาหารที่ทำซึ่งประกอบด้วยพืชผักชนิดต่างๆ เนื้อสัตว์บกสัตว์ทะเล ได้เลือกสรรอย่างดี แล้วให้ความหมายหรือสัญลักษณ์กับพืชผักหรือเนื้อสัตว์ ในทางที่เป็นสิริมงคลแก่ผู้บริโภค อาจเป็นการสอนให้รู้คุณค่าโดยทางอ้อมก็ได้ โดยไม่ได้พูดถึงคุณประโยชน์ที่มีต่อร่างกาย แต่เลี่ยงเป็นบอกว่าเป็นสิริมงคลแทน ส่วนประกอบของอาหารเหล่านั้น พอจะแบ่งออกได้เป็น ๕ ชนิด คือ พวกผักสด๑ พวกเห็ด๑ พวกของแห้งและแปรรูป๑ พวกเนื้อสัตว์๑ พวกสัตว์และพืชทะเล๑ ในที่นี้จะไม่พูดถึงคุณประโยชน์ในเชิงสมุนไพร แต่จะกล่าวถึงความเป็นมงคลของสิ่งต่างๆเหล่านั้นแทน การที่จะเลือกชนิดใดมาประกอบในการปรุงอาหารนั้น ขึ้นอยู่กับท้องถิ่น ตลาด ฤดูกาล และงบประมาณเป็นสำคัญ ต่อไปนี้จะเลือกมากล่าวถึงส่วนประกอบของการปรุงอาหารไหว้เจ้าเพียงสังเขป ดังนี้ พวกพืชผักสด ซึ่งได้แก่พวกผักใช้ใบ ใช้ต้น ใช้หัว ใช้ดอก หรือส่วนอื่นๆซึ่งมีเป็นจำนวนมากมายหลากหลายชนิด อาจรวมเรียกว่าผักสีเขียว มาประกอบในการปรุงอาหารแต่ละชนิด โดยจะเลือกมากล่าวถึงความหมายหรือสัญลักษณ์พอให้เห็น ดังนี้ กะหล่ำปลี เป็นสัญลักษณ์ของความมีโชคมีลาภหลากหลายอย่างต่างกันไป ผักกาดหอม เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรือง หน่อไม้ หมายถึงความมีสุขภาพดี การเริ่มต้นที่ดี ถั่วงอก หมายถึงการเริ่มต้นที่ดีในวันปีใหม่ กระเทียม หมายถึง ความเป็นนิรันดร ความมีอายุยืนนาน หัวหอม เป็นสัญลักษณ์ของความเฉลียวฉลาด กะทิมะพร้าว หมายถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความสามัคคี ถัวลิสง เป็นสัญลักษณ์ของความมีสุขภาพดี การมีชีวิตที่ยืนยาว เป็นบ่อเกิดของความเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ข้าวโพด เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญเติบโต เมล็ดบัว เป็นสัญลักษณ์ของความร่ำรวยมีเงินเต็มกระเป๋า การมีบุตรชายเต็มบ้านหลานชายเต็มเมือง แครอตสีแดง หมายถึง ความมีโชคมีลาภ ฟักทอง เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรือง ความอุดมสมบูรณ์ ความมีโชคมีลาภที่จะนำมาสู่ลูกหลาน เหล่าลูกหลานจะรุ่งโรจน์มีชื่อเสียง มันฮ่อ หรือวอลนัต หรือ เหอเต้า หมายถึง ความสงบสุขภายในครอบครัว ผักสีเขียว หมายถึง ความกลมเกลียวกันในครอบครัว แปะก๊วย เป็นสัญลักษณ์ของความร่ำรวย ความหวังในเงินทอง ถั่วลันเตา หมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความสามัคคี หัวแห้ว หมายถึง ความสามัคคีกลมเกลียว พุทราจีน อั่งโจ้วสีแดง หมายถึง ความร่ำรวย ความเจริญรุ่งเรือง ความอุดมสมบูรณ์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ หมายถึง ทองคำแท่ง ความมั่งคั่ง พวกเนื้อสัตว์ โดยทั่วไปแล้ว คนจีนรับประทานอาหารที่เกี่ยวเนื่องกับ หมู ไก่ เป็ด แต่มีชนบางกลุ่มที่รับประทานเนื้อแพะ แกะ ไม่นิยมรับประทานสัตว์ใหญ่ เช่น วัว ควาย แต่ในสมัยโบราณไม่สามารถจะเลือกสัตว์ตามที่ต้องการได้ จึงจำเป็นต้องรับประทานสัตว์บางชนิด เนื้อสัตว์ที่นิยมนำมาทำอาหารเซ่นไหว้ ได้แก่ ไก่ เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรือง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในครอบครัว ความสงบสุขในครอบครัว เนื้อไก่ที่มีทั้งหัว หางและขาหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ เวลาซื้อมาไหว้เจ้าจึงต้องซื้อไก่ทั้งตัวดังกล่าว หมู หมายถึงความมั่นคงแข็งแรง ความมั่งคั่งร่ำรวย ความอุดมสมบูรณ์ ลูกชิ้น หมายถึงความสามัคคีกลมเกลียว เป็ด หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ ไข่ หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่งร่ำรวย ทองคำ พวกสัตว์และพืชทะเล อาหารทะเลที่นิยมนำมาปรุงเพื่อเซ่นไหว้ ย่อมขึ้นอยู่กับท้องที่ที่พวกเขาอาศัย หากอยู่ใกล้ทะเลย่อมเสาะหาได้ง่ายกว่าที่อาศัยอยู่ไกลทะเล สัตว์ทะเลที่นิยมนำมาปรุงอาหารได้แก่ ปลาทั้งตัว หมายถึง ทรัพย์สินเงินทองมีเหลือกินเหลือใช้ ความร่ำรวย ความเพิ่มพูนในทรัพย์สินเงินทอง ความเจริญรุ่งเรือง ลูกชิ้นปลา หมายถึงความสมัครสมานสามัคคีกัน กุ้ง เป็นสัญลักษณ์ของความร่าเริง ความมีชีวิตชีวา ความสุขในครอบครัวและตัวเอง ความมีโชคมีลาภ ปลาหมึก หมายถึง ความร่ำรวย การมีทรัพย์สินเงินทอง ปู หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง ความมั่นคงแข็งแรง หอยเชลล์ หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง ความร่ำรวย ทำธุรกิจใหม่ เปิดโลกใหม่ให้ชีวิต หอยเป๋าฮื้อ หรือหอยทากทะเล หมายถึง ความมีโชคมีลาภตลอดเวลา หอยนางรม เป็นสัญลักษณ์ของความมีโชค การได้รับแต่โชค ความเจริญก้าวหน้าของธุรกิจ สาหร่ายสีดำ เป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งร่ำรวย
พวกเห็ด เห็ดมีหลากหลายชนิดที่นำมาประกอบอาหารและเป็นยา เห็ดบางชนิดรับประทานแทนเนื้อสำหรับผู้ที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิด เห็ดที่น่าสนใจ มีดังนี้ เห็ดหอม หมายถึง ความมีอายุยืน ความมีสุขภาพที่แข็งแรง เห็ดหูหนู หรือ จิน หมายถึง ความเจริญงอกงาม ความมั่งคั่ง เห็ดเยื่อไผ่หรือเห็ดร่างแห เป็นสัญลักษณ์ของความมีอายุยั่งยืนยาว พวกของแห้งและของแปรรูป พวกพืชผักบางชนิดทำเป็นของแห้งหรือการดองเค็ม พวกของแห้งที่ใช้ทำอาหารหรือเป็นส่วนประกอบอาหารมีหลายชนิด นอกจากนี้บางชนิดแปรรูปเป็นแป้ง เป็นเส้น ซึ่งมีทั้งของสดและของแห้ง พอจะกล่าวได้ดังนี้ ข้าวเจ้า เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญงอกงาม ความร่ำรวย ความมีโชค ข้าวเจ้าเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมโยงระหว่างเทพเจ้าบนสวรรค์กับมนุษย์ในโลก ฟองเต้าหู้ เต๊กกากีสีเหลือง ไม่ใช้สีขาว หมายถึงเต็มไปด้วยความมั่งคั่ง ความสุขอันล้นเปี่ยม เต้าหู้สดสีเหลือง หมายถึง ทองคำ ความมั่งคั่ง เต็มไปด้วยความสุข หากเป็นเต้าหู้สีขาวต้องเอาไปทอดให้เป็นสีเหลืองก่อน วุ้นเส้น เป็นสัญลักษณ์ของสายโซ่เงิน การเพิ่มพูนของทรัพย์สินเงินทอง เกี๊ยว หมายถึง ความมั่งคั่ง ความสามัคคีกลมเกลียว การได้รับพรจากสวรรค์ เส้นหมี่ที่ไม่ตัด หมายถึง ความมีอายุยืน เส้นหมี่ไม่ว่า หมี่เหลือง หมี่สั่ว วุ้นเส้น ฯลฯ จะไม่ตัดเป็นท่อนๆในการปรุงหรือการกินตามประเพณีจีน จู๋อี้ หรือแป้งท้าวยายม่อม หมายถึง การมีชีวิตที่ดี เหล่านี้เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งของส่วนประกอบในการปรุงอาหารไหว้เจ้า การจัดหาจะมากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์และญาติพี่น้อง การทำพิธีไหว้เจ้ามักทำกันที่บ้านใหญ่ ดังนั้นเหล่าบรรดาญาติพี่น้องที่อยู่ต่างถิ่น เมื่อถึงวันตรุษจีน ต่างเดินทางกลับมาบ้านใหญ่ เพื่อไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ในขณะเดียวกันต่างก็ได้พบปะญาติที่นานทีปีหนจะได้เจอกัน จึงมีการเลี้ยงกินกันอย่างสนุกสนาน พวกเด็กๆต่างรับอั่งเปา การประกอบอาหารไหว้เจ้าจึงต้องเลือกของดีที่สุด ปรุงอาหารให้อร่อยที่สุด และมีปริมาณมากพอที่จะเลี้ยงเหล่าบรรดาญาติทั้งหลาย แถมกลับเอาไปกินที่บ้านอีกด้วย ถ้าหากอาหารเหลือจากการรับประทาน สามารถเอามารวมต้มด้วยหม้อใบใหญ่ เรียกว่า จับฉ่าย ที่เก็บไว้ได้หลายวันหรือแจกจ่ายญาติมิตรเอากลับบ้าน ต่างก็ได้รับความเป็นสิริมงคลกันไปถ้วนหน้า : ผศ. สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ***** ฯลฯ
|
|
|