Bookmark and Share Add to Favorites  
สมาชิกเข้าสู่ระบบ
User Name:
Password:
จำการล็อกอินของฉันไว้
ลืมรหัสผ่าน | สมัครสมาชิก
ลืมรหัสผ่าน
ใสอีเมล์ที่ลงทะเบียนไว้กับเรา
จีนศึกษา
  CHINESE TEXT PROJECT
  STANDARD CHINESE
  เส้นสายลายอักษร
  ลัทธิเต๋า
  รวมเรื่องจีนศึกษา-China Knowledge
  วัฒนธรรมศึกษาจากเว็บต่างๆ
  วัฒนธรรมศึกษาจากภาพ
  พระบรมฉายาลักษณ์ของฮ่องเต้
  มังกรจีนสมัยโบราณ
  มังกรจีนศึกษา
  เลือกเพศให้ลูก
  จีนโบราณจาก บริทิชมิวเซียม
  การเดินทางไกลของเหมาเจ๋อตุง
  จีนในปัจจุบัน
แซ่สกุล
  แซ่ตระกูลที่ใช้กันมาก
  ข้อมูลตระกูลแซ่ต่างๆ
  ประวัติบางแซ่สกุล
  200 แซ่สกุลที่ใช้มาก
  ตระกูลแซ่หลิน
มหาวิทยาลัยชั้นนำ
  BEIJING UNIVERCITY
  Shanghai Jiao Tong University
  Tsinghua University
  Xi'an Jiaotong University
  The Chinese University of Hong Kong
  The University of Hong Kong
  The Hong Kong University of Science and Technology
  Southeast University
  East China Normal University
  Tongji University
  Huazhong University of Science and Technology
  The Hong Kong Polytechnic University
  Tianjin University
  City University of Hong Kong
  Harbin Institute of Technology
  Wuhan University
  China Agricultural University
  Renmin University of China
  Xiamen University
  Fudan University
  Hong Kong Baptist University
  Shandong University
  Nanjing University
  University of Science and Technology of China
  Zhe Jiang University
พิพิธภัณฑ์และหอสมุด
  NATIONAL LIBRARY OF CHINA
  CHINA'S MUSEUMS
  GREAT WALL OF CHINA
  SACRED MOUNTAINS OF CHINA
หนังสือพิมพ์
  ซินหัวไทย
  People's Daily
  Xinhua
  China Daily
  China News
  China .com.cn
  China Youth Daily
เจ - มังสวิรัติ - VEGETARIAN
  เจ-อิ่มบุญ
  พลังบุญ
  เมนูอาหารเจ
  เจทิพย์
  อาหารมังสวิรัติ
  International Vegetarian Union (IVU)
  The Veggie Hub
  Vegetarianism
  A Guide to Vetetarian
  simple-veganista.com/all-recipes
เว็บเครือสมบูรณ์
  สมบูรณ์แก่นโน้ต
  ตระกูลแซ่หลิน
  ภูเก็ตสารสนเทศ
  สมบูรณ์แก่นโน้ต

กำแพงเมืองจีน 万里长城

 

 

          มีคำกล่าวของชาวจีนอยู่ประโยคหนึ่งว่า “ใครไม่ได้ปีนกำแพงใหญ่ ไม่แน่จริง”    นอก จากกำแพงใหญ่หรือที่เราเรียกกันว่ากำแพงเมืองจีนนั้น ยังมีกำแพงรอบเมืองหลวงเก่าอีกหลายแห่งที่เรียกว่า เฉิงเฉียง ทั้งที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ และบางแห่งถูกทุบทำลายไปในสมัยโบราณแล้ว และบางแห่งยังเหลือแต่ซาก กำแพงเมืองจีนยาวกว่า ๕๐,๐๐๐ กิโลเมตร ขณะนี้ทางการจีนกำลังสำรวจตรวจสอบด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ว่ายาวเท่าใดกันแน่ จากภาพถ่ายทางอากาศจะมองเห็นเหมือนตัวมังกร ที่หัวมังกรดำลงไปในทะเลตงไห่ ส่วนตัวมังกรคดเคี้ยวไปตามสันเขา ผ่านภูเขาสูงที่สำคัญๆ ผ่านหุบเขาเหวลึก ผ่านแม่น้ำ ที่ราบ เนินเขา ผ่านทะเลทราย เริ่มตั้งแต่มณฑลเหอเป่ยทางทิศตะวันออก เขตปักกิ่ง มณฑลซานซี มณฑลส่านซี  มณฑลหนิงเซี่ย เขตมองโกเลียใน จนถึงมณฑลกานซู่ ทางทิศตะวันตกและเลยไปจนถึงเขตซินเจียง

         กำแพงเมืองจีนหรือกำแพงใหญ่ หรือกำแพงยาวที่เรียกว่า ฉางเฉิง 长城 , 長城  หรือ ว่านหลี่ฉางเฉิง 万里长城 , 萬里長城 หมายถึงกำแพงยาว ๑๐,๐๐๐ ลี้

 

 

สร้างเพื่ออะไร

 

        กำแพงเมืองจีนสร้างขึ้นมา เพื่อป้องกันการรุกรานของพวกชนเผ่าทางเหนือของประเทศ ซึ่งเริ่มปรากฏในประวัติศาสตร์จีนตั้งแต่ก่อนค.ศ. ๓๐๐ ชนเผ่าเหล่านี้ได้แก่พวกซวงหนูหรือพวกเติร์กที่อาศัยอยู่แถบเอเชียกลาง แถบไซบีเรีย พวกแมนจูตะวันตก แถบมองโกเลียใน แถบกานซู่และซินเจียง ชนเผ่าเร่ร่อนพวกนี้มีม้าเป็นพาหนะที่สำคัญ การเดินทางจึงรวดเร็วและเข้มแข็งในการรบ มักก่อเหตุปล้น เข้าโจมตีแถบชายแดนอยู่เสมอ

       นอกจากนี้ยังคุ้มครองความปลอดภัย ให้กับพวกพ่อค้าที่ใช้เส้นทางสายไหม การส่งข่าวสารทางทหารเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของข้าศึก ตลอดจนการขนส่ง

        อย่างไรก็ตาม กำแพงใหญ่บางส่วนได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ก่อนค.ศ. ๗๐๐ โดยอาณาจักรฉี อาณาจักรเอียนและอาณาจักรจ้าว สร้างขึ้นมาเพื่อล้อมอาณาจักรของตน เพื่อป้องกันการโจมตีจากอาณาจักรอื่น

 

        ถึงอย่างไรก็ตาม ในที่สุด ชนเผ่าทางเหนือก็ยังรุกรานและครองแผ่นดินจีนถึงสองราชวงศ์ คือ ราชวงศ์เอวี๋ยนหรือหยวนและราชวงศ์ชิง แต่สมัยราชวงศ์ชิงนั้น มีขุนนางนายด่านคือ อู่ซานกุ้ย เปิดให้ข้าศึกเข้าเมืองโดยสะดวก

 

 

 

 

 

ประวัติสังเขปการก่อสร้างกำแพงใหญ่  

 

        ๑.   กำแพงของอาณาจักรฉี ก่อนค.ศ. ๖๘๕ – ๖๔๕ มีความยาว ๖๑๖ กิโลเมตร เริ่มจากชายฝั่งแม่น้ำหวงเหอ แถบภูเขาไท่ซาน ไปจดทะเลเหลือง เพื่อป้องกันอาณาจักรจิ้นและหลู

        ๒.   กำแพงของอาณาจักรฉู่ ก่อนค.ศ. ๖๕๖ ความยาวประมาณ ๕๐๐ กิโลเมตร เริ่มจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเติ้งโจว เหอหนาน เหนือเมืองเน่ยเซี่ยงและเจินผิง ทางตะวันออกยาวตลอดแนวภูเขาฟูหนิง จนถึงเมืองเย่ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ถึงภูเขาจงเอี๋ยนที่เมืองซินเอี๋ยง เพื่อป้องกันอาณาจักรฉิน

        ๓.   กำแพงของอาณาจักรเอียน ก่อนค.ศ. ๓๓๔ ความยาวไม่ปรากฏ เริ่มจากภูเขาไท่หาง มณฑลเหอเป่ย ลากยาวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองซวง โดยผ่านเมืองชูสุ่ย และอันซิน  แล้วลากลงทิศใต้จนถึงเมืองจื่อหยา เพื่อป้องกันการรุกรานของอาณาจักรฉิน จ้าวและฉี

        ๔.   กำแพงของอาณาจักรฉิน ในสมัยพระเจ้าหลี่กง ก่อนค.ศ. ๔๖๑ ความยาวไม่ปรากฏ เริ่มจากหมู่บ้านเซียวจาง เชิงเขาหัวซาน มณฑลส่านซี ลากยาวขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จนถึงชายฝั่งแม่น้ำเว่ย แล้วลากยาวไปทางทิศตะวันตกตลอดแนวทิศใต้ของแม่น้ำหลัวจนถึงเมืองปูเฉิง สิ้นสุดลงที่ภูเขาหวงหลงเมืองเป่ยสุ่ย ตลอดแนวชายฝั่งตะวันตกของแม่น้ำหลัว เพื่อป้องกันพวกชนเผ่าทางเหนือ

 

        ๕.   กำแพงสมัยสงครามระหว่างรัฐ ก่อนค.ศ. ๔๗๖ – ๒๒๑ พระเจ้าจ้าวแห่งอาณาจักรฉิน ปีและความยาวไม่ปรากฏ เริ่มจากเมืองหมิ่น มณฑลกานซู่ ลากขึ้นไปทางทิศเหนือจนถึงเมืองหลินเต้าจดชายแดนหมู่บ้านเทียนซื่อว่านใน เมืองจิงเปียน มณฑลส่านซี แล้วลากลงมาทางทิศใต้จนถึงเมืองอันไซในส่านซี แยกออกเป็นสองทาง ทางหนึ่งลากไปทางทิศตะวันออกผ่ากลางแม่น้ำต้าหลี่และแม่น้ำโฮ่วหนิง จบลงที่หมู่บ้านอิ้วเหอ เมืองอิ้วหลิน มณฑลส่านซี อีกเส้นหนึ่งลากขึ้นไปทางทิศเหนือจนถึงเมืองจิงเปียน เมืองอิ้วหลิน ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำหวงเหอ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของมองโกเลียใน

        ๖.   กำแพงของอาณาจักรจ้าว ก่อนค.ศ. ๓๐๐ ความยาวไม่ปรากฏ เริ่มจากภูเขาอู่ลาและภูเขาหลังซาน ลากขึ้นไปตามสันเขาต้าชิงทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของโฮะฮอต โดยผ่านไหล่เขาทางทิศใต้ของภูเขาอินซาน เมืองอู่เอวี๋ยนและเมืองกู่เอี๋ยง มองโกเลียใน

        ๗.   กำแพงสมัยอาณาจักรเว่ย ก่อนค.ศ. ๓๖๑- ๓๕๒ ความยาวกว่า ๑๐๐.๘ กิโลเมตร โดยลากยาวไปทางทิศตะวันตก จากภูเขาหัวซาน มณฑลส่านซี แล้วลากผ่านแม่น้ำหวงเหอไปทางแม่น้ำเว่ยเมืองต้าหลี่ ส่านซี แล้ววกขึ้นไปทางทิศเหนือถึงเมืองเหออินและเมืองหันเฉิงในส่านซี

        ๘.   กำแพงของอาณาจักรเว่ย  ปี และความยาวไม่ปรากฏ เริ่มจากเมืองเอวี๋ยนเอี๋ยง มณฑลเหอหนานไปจบลงที่เมืองมี่เซี่ยน เหอหนาน โดยผ่านเมืองเอี๋ยงอู่ ทางทิศตะวันออกของเจิ้งโจว

        ๙.   กำแพงของอาณาจักรฉิน ก่อน ค.ศ. ๒๒๑ – ๒๐๖สมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ พระองค์รับสั่งให้สร้างเชื่อมต่อกับกำแพงเดิมของอาณาจักรฉีและอาณาจักรจ้าว พร้อมทั้งสร้างขึ้นมาใหม่ โดยลากไปทางทิศตะวันออก เริ่มจากเมืองหมิ่นเซี่ยน ในกานซู่ สิ้นสุดที่ฝั่งทิศใต้ของแม่น้ำหวงเหอ บริเวณเมืองหลินเต้า ในกานซู่ เมืองจิงเปียนในส่านซี ภูเขาเหิงซาน เมืองอิ้วหลินในส่านซี เมืองทั่วเกอตั๋ว มองโกเลียในลากไปทางทิศเหนือ ก่อนค.ศ. ๒๑๔ เริ่มจากภูเขาอินซาน จบลงที่ปากแม่น้ำชิงชวน เกาหลีเหนือ ทางทิศเหนือของภูเขาต้าชิง เมืองอินหนิง มองโกเลียใน  เมืองจางอี้ เหอเป่ย เมืองฟูซุนและเปินซี มณฑลเหลียวหนิง

        รวมกำแพงยาวทั้งหมด   ๔๙๗๑.๒  กิโลเมตร และเรียกว่า กำแพงยาวหนึ่งหมื่นลี้  การสร้างสมัยนี้เมื่อดูสภาพพื้นที่แล้วไม่ได้ป้องกันข้าศึกตามที่คิด เพราะไม่ได้ก่อสร้างทางที่ข้าศึกจะยกมาโดยตรง

 

        ๑๐.  กำแพงของอาณาจักรฮั่นตะวันตก  ก่อนค.ศ.  ๒๐๖ – ๒๔

        - ก่อนค.ศ. ๒๐๕ ฮ่องเต้ฮั่นเกาจู่รับสั่งให้ซ่อมกำแพงอาณาจักรฉิน

        -   ก่อนค.ศ. ๑๓๐ ฮ่องเต้ฮั่นอู่ตี้รับสั่งให้ซ่อมและขยายกำแพง

        -   ก่อนค.ศ. ๑๒๗ ฮ่องเต้ฮั่นอู่ตี้รับสั่งให้ขยายกำแพงที่เมืองจิ่วเซวียน

        -   ก่อนค.ศ. ๑๒๑ สร้างกำแพงด่วนที่เมืองอู่เว่ยและจิ่ว

เซ วียน เป็นกำแพงขนาดใหญ่ หลิงจิ่วไซเป็นกำแพงใหญ่แรกของกำแพงใหญ่เหอซี โดยเริ่มจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำหวงเหอที่เมืองย่งเติ้ง ในกานซู่ จนถึงเมืองจินต้า ทางทิศเหนือเมืองจิ่ว

เซวียน จนถึงฉนวนเหอซี

        -   ก่อนค.ศ. ๑๑๑   ฮ่องเต้ฮั่นอู่ตี้ รับสั่งให้ขยายกำแพงที่เมืองอิ้วเหมิน ซึ่งเป็นส่วนที่สองของกำแพงใหญ่เหอซี

        -    ก่อนค.ศ. ๑๐๒  ฮ่องเต้ฮั่นอู่ตี้รับสั่งให้สร้างต่อจากเมืองอิ้วเหมินไปยังเมืองหลัวปูปั๋ว มณฑลซินเจียง เป็นส่วนที่สามของกำแพงใหญ่เหอซี

        ความยาวทั้งหมดในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตกรวม ๙๙๔๒.๔ กิโลเมตร

 

        ๑๑. กำแพงของอาณาจักรราชวงศ์เหนือ  ค.ศ. ๓๘๖ – ๕๓๔

        ค.ศ. ๔๒๓  ความ ยาว ๙๙๓.๖ กิโลเมตร เริ่มจากเมืองซีเฉิงจบลงที่ภูเขาอินซาน ผ่านเมืองจางเป่ย ในเหอเป่ย และเมืองซังอี้ ในเหอเป่ย เมืองฮั่วเต๋อ เมืองซังตู้ เมืองอู่เซวียน ที่มองโกเลียใน

        - ค.ศ. ๕๕๒  ความยาว ๑๙๘.๔ กิโลเมตร เริ่มจากเมืองหลี่ซือในซานซี จบลงที่เมืองอู่ไจในซานซี ตลอดแนวภูเขาลู่เหลียง

        - ค.ศ. ๕๕๕ ยาวกว่า ๔๔๘ กิโลเมตร เริ่มจากเมืองเจียโก่วใกล้ด่านจูย่งกวน จบลงที่เมืองเหิงโจวหรือเมืองต้าถงในซานซี

 

        ๑๒. กำแพงของอาณาจักรฉีเหนือ ค.ศ. ๕๕๐ – ๕๕๗

        - ค.ศ. ๕๕๖ ความยาว ๑๔๙๑.๒ กิโลเมตร เริ่มจากเมืองเฟินเอี๋ยง ในซานซี จนถึงชายฝั่งทะเลด่านซานไห่กวน

        -  ค.ศ. ๕๕๗ ความยาว ๑๙๘.๔ กิโลเมตร เริ่มจากเมืองไต้เซี่ยน เมืองซังเซียนในซานซี จบลงที่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองหลิงชิวในซานซี

        - ค.ศ.  ๕๖๓  ความยาว ๙๙.๒ กิโลเมตร อยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองจีเอวี๋ยน ในเหอหนาน

 

        ๑๓.   กำแพงของอาณาจักรราชวงศ์สุย  ค.ศ. ๕๘๑ – ๖๑๘

 

        ค.ศ. ๕๘๑ – ๖๐๘ ความยาว ๑๔๙๑.๒ กิโลเมตร เริ่มจากฝั่งแม่น้ำหวงเหอ ยาววกไปวนมาจนถึงฝั่งทะเลปั๋วไห่ ผ่านมองโกเลียใน ซานซี และเหอเป่ย

 

        ๑๔.  กำแพงของอาณาจักรราชวงศ์เหลียง ค.ศ. ๙๑๖ – ๑๑๒๕

        - ค.ศ. ๙๐๘ ความยาวไม่ปรากฏ เริ่มจากภูเขาหนานกวนที่เมืองต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิง

 

        ๑๕. กำแพงของอาณาจักรราชวงศ์จิ้น ค.ศ. ๑๑๑๕ – ๑๒๓๔

 

        - ก่อสร้างระหว่างค.ศ. ๑๑๒๓ – ๑๑๙๘ แบ่งเป็นสองส่วน เรียกว่า หมิงฉางกำแพงเก่า ประมาณ ๕๐๐ กิโลเมตร ใกล้กับมณฑลเหยหลงเจียง ส่วนหมิงฉางกำแพงใหม่ เพื่อป้องกันพวกมองโกล ความยาวประมาณ ๑๕๐๐ กิโลเมตร เริ่มจากเมืองเหอเต้า มองโกเลียใน ผ่าน ส่านซี ซานซี เหอเป่ย มองโกเลียใน เหลียวหนิง  เหยหลงเจียง จบลงที่แม่น้ำซ่งฮั่ว มณฑลเหยหลงเจียง

 

        ๑๖.   กำแพงของอาณาจักรราชวงศ์หมิง ค.ศ. ๑๓๖๘ – ๑๖๔๔

        กำแพงใหญ่หมิง ค.ศ. ๑๓๖๘- ๑๖๔๔ มีความยาวทั้งหมด ๗๒๕๗.๖ กิโลเมตร เริ่มจากแม่น้ำยาลู่ ในเหลียวหนิงจบลงที่ด่านเจียอิวกวน ในกานซู่ ผ่านเหอเป่ย เทียนจิน ปักกิ่ง ซานซี มองโกเลียใน ส่านซี และหนิงเซี่ย

 

 

วัสดุที่ใช้ก่อสร้าง

        กำแพงเมืองจีนมีความยาวหลายหมื่นกิโลเมตร ดังนั้นวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างในสมัยโบราณ จึงเลือกใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นเท่านั้น เพราะยากต่อการขนส่ง ถ้าจะนำวัสดุจากต่างถิ่นเข้ามาใช้ในการก่อสร้าง อีกประการหนึ่งการก่อสร้างต้องใช้แรงงานจำนวนมาก จึงยากที่จะเอาคนเหล่านั้นไปลำเลียงวัสดุจากถิ่นอื่น

        การก่อสร้างในสมัยแรกๆ จะใช้ดินโคลนผสมทรายหรือไม้ที่เรียกว่า ไท่ป่า คือการเอาดินเหนียว+ดินสอพอง+กรวด แต่ถ้ากำแพงผ่านไปตามภูเขาก็จะใช้หินด้วย ดังนั้นกำแพงสมัยแรกจึงไม่มั่นคงแข็งแรง ได้มีการสำรวจว่า ใช้ดินธรรมดาหนา ๑.๕ เมตร แล้วถมดินเหลืองอีก หนา ๓ เมตร โดยใช้กรอบไม้เป็นแบบแล้วเอาดินผสมน้ำใส่แล้วอัดแน่นลงไปเป็นชั้นๆ จึงต้องใช้เวลานานในการก่อสร้าง   ถึง สมัยราชวงศ์ฮั่นจึงเริ่มเอาหินเกล็ดผสมกรวดและดินเหนียว สมัยที่ก่อสร้างแข็งแรงมากคือสมัยราชวงศ์หมิง โดยลำเลียงวัสดุมาจากถิ่นอื่น ใช้อิฐเผาเริ่มใช้มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง แต่ระยะแรกราคาอิฐค่อนข้างแพง จึงใช้เพียงภายนอก ส่วนภายในยังคงใช้ดิน สมัยนี้ได้พัฒนาอิฐด้วยเทคโนโลยีให้ดีขึ้นคือ ใช้ปูนขาวผสมน้ำข้าวเหนียวเป็นเสมือนซีเมนต์   ใช้วิธีเคลือบแบบวัสดุเคลือบด้วยการเอาไปเผาไฟด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง  ใช้ หินแกรนิต ใช้หินสีเขียว หินสีขาวและบางส่วนเป็นหินอ่อน อิฐจะสร้างแผ่นค่อนข้างใหญ่ มีการสกัดก้อนหินขนาด ความยาว ๖.๖ ฟุต กว้าง ๑.๖ ฟุต หนา ๑ ฟุต จากภูเขาแห่งหนึ่ง แล้วลำเลียงไปก่อสร้างอีกแห่งหนึ่ง

 

        การก่อสร้างกำแพงใหญ่ในที่สูงชันมาก ด้วยการขนวัสดุขึ้นไปจึงลำบากมาก เช่นที่ด่าน ปาต๋าหลิ่ง ใช้ก้อนหินสกัดเป็นแท่งสี่เหลี่ยม แต่ละก้อนหนักกว่าหนึ่งตัน เอาไปเรียงซ้อนกัน ซึ่งใช้เพียงแรงงานคน ในขณะที่บางแห่งกำแพงสูงถึง ๒๐๐ เมตรในสมัยราชวงศ์หมิงที่ก่อสร้างเมื่อค.ศ. ๑๕๘๒  

 

        แต่สรุปแล้วกำแพงใหญ่อันยาวเหยียด เป็นกำแพงดิน กำแพงอิฐ และกำแพงหิน

 

 

 

แรงงานการก่อสร้าง

 

        มักมีคำถามว่าเอาใครบ้างมาช่วยในการก่อสร้าง ได้มีการสรุปกันว่า ผู้ที่ถูกเกณฑ์มาก่อสร้างคือคนสามกลุ่ม คือ ทหาร๑ ชาวบ้าน๑และนักโทษ๑ เท่าที่ได้มีการระบุตัวเลขกรรมกรก่อสร้างคือในสมัยราชวงศ์ฉิน จิ๋นซีฮ่องเต้รับสั่งให้นายพลเมิ่งเทียน นำทหาร ๓๐๐,๐๐๐ นายไปก่อสร้าง แต่ปรากฏว่าไม่เสร็จ จึงเกณฑ์ชาวบ้านอีก กว่า ๕๐๐,๐๐๐ คนไปสร้างต่อจากที่ทหารสร้างไว้  ในสมัยราชวงศ์ฉีเหนือ ได้มีการเกณฑ์ชาวบ้าน ๑,๘๐๐,๐๐๐ คนไปทำการก่อสร้าง ในสมัยราชวงศ์สุย ได้มีการเกณฑ์ชาวบ้านกว่าล้านคน  ส่วน พวกคนโทษ ได้ให้ไปก่อสร้างกำแพงใหญ่เพื่อชดใช้โทษตามเวลาที่กำหนด โดยในเวลากลางวันพวกนักโทษจะต้องควบคุมชาวบ้านให้สร้าง ส่วนเวลากลางคืนพวกตนจะต้องผลัดเปลี่ยนแทนชาวบ้านที่สร้างไว้ในเวลากลางวัน คนโทษเหล่านี้ต้องชดใช้เป็นเวลา ๔ ปี จึงหมดอายุความตามกฎหมายในสมัยนั้น แล้วใครจะมีชีวิตกลับบ้านไปหาครอบครัวได้ บางสมัยโดยเฉพาะสมัยแรกๆ จะงดการก่อสร้างในช่วงฤดูหนาวที่มีหิมะโปรยหนา ยากแก่การก่อสร้างและภาระอื่นๆอีกมาก ในสมัยราชวงศ์หมิง ใช้ทหารจำนวนมากควบคุมชาวบ้านที่เป็นแรงงานก่อสร้างกำแพงใหญ่  แน่ นอนว่า แรงงานการก่อสร้างกำแพงใหญ่จำนวนมาก ได้เสียชีวิตที่นั่นด้วยถูกบังคับ อดอยาก โรคภัย ฯลฯกล่าวกันว่าสมัยราชวงศ์หมิงมีผู้ล้มตายกว่าสองล้านคน

 

 

 

 

 

ส่วนก่อสร้างเสริมเติมกำแพงใหญ่      

        ในสมัยแรกๆการก่อสร้าง ยังไม่มีการก่อสร้างอะไรเพิ่มเติม มีแต่กำแพงล้วนๆ ต่อมาในสมัยราชวงศ์ฮั่น ได้เริ่มมีการก่อสร้างประตูทางเข้าออกผ่านตัวกำแพง สร้างหอสังเกตการณ์ หอสัญญาณไฟ ขุดคู ทำสนามเพลาะ สร้างปราสาทบริเวณทางเข้าออก สร้างอาคารห้องแถว สร้างเครื่องดักจับด้วยการโรยทรายสีเงินไว้ หากพวกข้าศึกลอบเข้ามาก็จะสังเกตเห็นได้ชัด

        ในสมัยราชวงศ์หมิง ได้สร้างกำแพงที่แข็งแรง ที่จะป้องกันข้าศึกเข้าจู่โจมพาดบันได มีช่องเสมาบนกำแพงที่ทหารยามจะมองเห็นการเคลื่อนไหวนอกกำแพงได้ชัดเจน และสามารถยิงข้าศึกจากช่องดังกล่าวได้สะดวก และยังมีหอสังเกตการณ์รูปทรงสี่เหลี่ยมบนกำแพงที่สูงกว่ากำแพง บางแห่งเป็นรูปทรงกลมเพื่อให้ทหารเดินยามบนกำแพงได้พัก และสามารถเก็บกักตุนอาหารไว้กินเป็นเวลานาน รวมทั้งเป็นที่เก็บสรรพาวุธด้วย สิ่งก่อสร้างต่างๆ มีดังนี้

 

 

ด่าน  เป็นส่วนสำคัญที่สุดของกำแพงเพื่อเป็นทางเข้าออก โดยสร้างขึ้นบริเวณที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการทหาร สำหรับป้องกันประเทศ สะดวกในการยกทัพออกนอกด่านไปปราบศัตรูนอกเขตประเทศ หรือการสู้รบกับข้าศึกนอกด่าน ด่านจะประกอบด้วย ประตูด่านเปิดปิดขนาดใหญ่ บริเวณนี้จะสร้างกำแพงทรงสี่เหลี่ยม เหนือประตูมีหอสังเกตการณ์ และขุดคูรอบด่านด้านนอก

 

        ตลอดแนวกำแพงใหญ่ มีด่านหลายร้อยแห่ง บางแห่งตั้งอยู่บนภูเขาสูง บางแห่งตั้งอยู่ในหุบเหวลึก บางแห่งอยู่กลางทะเลทราย แต่ด่านที่สำคัญมีหลายแห่ง ตามมณฑลต่างๆ เช่น

-        เขตปักกิ่ง มี อินซานหลิง  เจียนโก่ว  หวงฮั่วเฉิง  กูเป่ยโก่ว  ป้อมไป๋หม่ากวน สุ่ยกวน

-        เทียนจิน  มีด่านหวงหยากวน

-        มณฑลเหอเป่ย  มี ด่านจื่อจิงกวน  กำแพงเจียวซาน  กำแพงหวงไท่โท่ว

 

-        มณฑลส่านซี มี หอเจินเป่ยไท่ 

 

-        มณฑลกานซู่  มี ด่านอิ้วเหมินกวน  ด่านเอี๋ยงกวน  กำแพงแขวน

-        มณฑลเหลียวหนิง  มี กำแพงฮู่ซาน  กำแพงจิ่วเหมินโก่ว

 

-        มณฑลซานซี  มี  ด่านเอียนเหมินกวน  ด่านเหนียงจื่อกวน 

 

ด่านเปียนเอียน

       จากทางทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก คือ  ด่านจือหลิงกวน ด่านเต้าหม่ากวน ด่านหนิงอู่กวน   อิ้ เอวี๋ยนโก่ว ซีเฟิงโก่ว จางเจี่ยโก่ว ต้าถง อิ้วหลิน จิงเปียน ติงเปียน เอียนซื่อ ซื่อสุ่ยซาน จงเว่ย จิงไท่ อู่เว่ย จางเย่ จิ่วกวน ตุนหวง เป็นต้น

 

หอสัญญาณไฟ   สร้าง ขึ้นเพื่อส่งต่อสัญญาณทางทหารไปยังป้อมถัดไปเป็นทอดๆ เพื่อรายงานความเคลื่อนไหวไปยังหน่วยเหนือ เป็นการส่งข่าวสารในสมัยโบราณคล้ายโทรศัพท์

        ในแต่ละระยะช่วงหอสัญญาณ จะสามารถเห็นสัญญาณควันไฟหรือได้ยินเสียงปืนใหญ่ได้ชัดเจน เมื่อมีข้าศึกรุกราน โดยแจ้งจำนวนทหารที่เห็นว่ามีเท่าไรนอกกำแพงเมือง แล้วส่งสัญญาณควันไฟ ด้วยการเอาอุจจาระสุนัขป่าใส่ลงไปในกองไฟ ทำให้เกิดควันดำทึบแม้มีหมอกลงหนาหรือมีเมฆบังก็สามารถมองเห็นได้ชัด

        ส่วนสัญญาณการยิงปืนใช้เช่นเดียวกับควันไฟ เพื่อแจ้งจำนวนข้าศึกที่เห็น คือ

-        ควันไฟปล่อย ๑ ครั้งหรือ เสียงปืนใหญ่ ๑ ครั้ง ข้าศึกที่มองเห็นนอกกำแพง น้อยกว่า ๕๐๐ คน

-        จำนวนควันไฟปล่อย ๒ ครั้งหรือ ยิงปืนใหญ่ ๒ ครั้ง จำนวนข้าศึกที่มองเห็นนอกกำแพง ๕๐๐ ถึง ๑๐๐๐ คน

-        ควันไฟปล่อย ๓ ครั้ง หรือ ยิงปืนใหญ่ ๓ ครั้ง ข้าศึกจำนวน ๑๐๐๐ ถึง ๕๐๐๐ คน

-        ควันไฟ ปล่อย ๔ ครั้ง หรือยิงปืนใหญ่ ๔ ครั้ง ข้าศึก ๕๐๐๐ ถึง ๑๐๐๐๐ คน

-        จำนวนควันไฟที่ปล่อย ๕ ครั้ง หรือยิงปืนใหญ่ ๕ ครั้ง มีจำนวนข้าศึกมากกว่า ๑๐๐๐๐ คนขึ้นไป

        ดังนั้นทหารประจำป้อมและนายด่าน จะสู้จำนวนข้าศึกได้หรือไม่ เพราะอาวุธสมัยนั้นใช้เพียง กระบี่ ธนู และหอก สู้กันแบบถึงตัว นายด่านจึงต้องประเมินก่อนที่จะเข้าต่อสู้กับข้าศึกที่ยกมาประชิดด่าน จึงไม่จำเป็นที่นายด่านจะยกกองทหารออกไปปะทะกับข้าศึก ถ้าเห็นว่าตนมีกำลังน้อยกว่า เพียงรักษาด่านไว้เท่านั้น

กำแพง   เป็นส่วนหลักของกำแพงใหญ่ โดยเฉลี่ยแล้วสูง ๒๖.๖ ฟุต เป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างด่าน หอสัญญาณ หอสังเกตการณ์ และส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการทหาร

กำแพงเมือง     เป็น ส่วนประกอบของด่านทางเข้าออก สูงประมาณ ๓๓ ฟุต มีบริเวณข้างบนกว้างขวางพอที่จะให้ม้าเทียมรถ ๔ ตัว วิ่งได้ มีป้อมปืน ป้อมสังเกตการณ์

ประตูเมือง  ใช้เป็นทางเข้าออกในยามสงบ แต่เวลาเกิดศึกจะระมัดระวังเป็นพิเศษ มีทหารยามตรวจตราการเข้าออก ด้านในมีกลอนประตูขนาดใหญ่และรูสำหรับสอดใส่สลัก บานประตูบางแห่งมีกลไกซ่อนไว้สำหรับฆ่าคนรุกล้ำเข้ามา เหนือบานประตูด้านหน้ามีป้ายชื่อด่านตัวอักษรขนาดใหญ่ บางแห่งขนาดตัวอักษรสูงกว่าหนึ่งเมตร

หอสังเกตการณ์ หอสังเกตการณ์ส่วนใหญ่จะสร้างส่วนที่สูงที่สุดเมื่อการก่อสร้างกำแพงลากผ่านไป ยังบริเวณใดก็ตาม เช่น สันเนินเขา สันเขา ที่เป็นเนินสูงหากเป็นที่ราบ สร้างตลอดแนวกำแพง อีกส่วนหนึ่ง เป็นหอสังเกตการณ์เหนือประตูเมือง     อาจ เป็นอาคาร ๒ หรือ ๓ ชั้น มักสร้างด้วยไม้หรืออิฐ มีไว้เพื่อสังเกตการเคลื่อนไหวของศัตรูและเป็นที่บังคับบัญชาในยามสงคราม หอสังเกตการณ์หลายแห่งสร้างและตกแต่งสวยงาม

เหวิงเฉิง   เป็นสิ่งก่อสร้างอยู่ชั้นนอกเพื่อป้องกันข้าศึกโจมตีประตูเมืองอีกชั้นหนึ่ง

หลัวเฉิง  เป็นกำแพงชั้นที่สอง เพื่อป้องกันเหวิงเฉิง ซึ่งเป็นจุดที่ข้าศึกเข้าโจมตี เหนือขึ้นไปมีหอสังเกตการณ์ เป็นที่ประชุมสั่งการเวลามีข้าศึกเข้ามาติดพัน

 คูเมือง   ส่วนใหญ่สร้างอยู่รอบด่าน เป็นคูลึกมีน้ำขังตลอดเพื่อป้องกันข้าศึกได้อีกชั้นหนึ่ง ทำให้ข้าศึกเข้าโจมตีตัวเมืองได้ยากขึ้น และเปิดโอกาสให้ทหารบนกำแพงสังหารข้าศึกได้สะดวกขึ้น

 

การก่อสร้างเพื่อป้องกันการโจมตี  

 

- ป้อมปราการ   สูงประมาณ ๖.๖ ฟุต เพื่อสังเกตข้าศึกเคลื่อนไหว และยิงข้าศึก ขณะเดียวกันก็ใช้เป็นที่กำบังด้วย

- เชิงเทิน หรือ หนิ่วเชียงหรืออิ้วเชียง เป็นสิ่งก่อสร้างขนาดเตี้ยเพื่อป้องกันความปลอดภัยของทหารและม้า โดยสร้างภายในกำแพง

 

- เชิงเทินเดี่ยว มักสร้างบนกำแพงที่ลาดชันขึ้นไปบนภูเขา เป็นกำแพงแคบ ความสูงขึ้นอยู่กับสถานที่ แต่ส่วนใหญ่สูง ๖.๖ – ๑๑.๕ ฟุต

- กำแพงกีดขวาง  สร้างไว้บริเวณป้อมปราการเพื่อให้ทหารไว้ป้องกันตนเอง เมื่อถูกข้าศึกจู่โจม

- สันกำแพงหลังใบเสมา เป็นทางขึ้นลงของทหารและม้าบริเวณหอสังเกตการณ์ ความลาดชัน ๓๐ องศาใช้อิฐก่อสร้างเพื่อป้องกันการลื่น

- ช่องระบายน้ำฝน สามารถระบายน้ำฝนออกไปนอกกำแพงได้ เพื่อป้องกันการซึมของน้ำบนกำแพง เมื่อฝนตกเป็นเวลานาน

- เฉวียนเหมิน เป็นประตูโค้งอยู่ภายในกำแพง เมื่อเกิดศึกทหารจะใช้เป็นทางผ่านขึ้นไปบนกำแพงได้สะดวก

- ปูฟาง เป็นที่ยืนยามของทหารยามหรือเป็นที่หลบภัย หรือเป็นที่สังเกตการณ์ของทหารบนกำแพง

 

 

เรื่องเล่าขานหลังกำแพง  

        ชีวิตเป็นจำนวนมากที่ถูกฝังใต้กำแพง ด้วยสาเหตุนานาทั้งทหาร ชาวบ้านและคนโทษ นิยายเรื่องเล่าขานจึงมีหลายเรื่องหลากรสที่เต็มไปด้วยความเศร้าเสียเป็น ส่วนมาก พอจะสรุปได้ดังนี้

 

-  เมิ่งเจียงหนิ่ว  เหตุเกิดสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้  ก่อนค.ศ. ๒๒๑ – ๒๐๖  ความ ย่อว่า เมิ่งเจียงหนิ่วบุตรสาวครอบครัวแซ่เมิ่ง รูปสวยงามมาก มีหนุ่ม ฟาน ฉีเหลียงหนีการเกณฑ์แรงงานสร้างกำแพงไปหลบซ่อนในสวนหลังบ้านครอบครัวนี้ จนนางมาพบเข้า ทั้งสองแต่งงานอยู่ด้วยกันได้สามวัน จึงถูกทหารจับได้ส่งไปก่อสร้างกำแพง เมิ่งเจียงหนิ่วเศร้าโศกเสียใจมาก รอสามีกลับมาไม่ไหว จึงถักผ้าไหมพรมเอาไปให้ที่ก่อสร้าง ถามหาคนชื่อ ฟานฉีเหลียงไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าเขาหายไปไหน จนไปถึงที่ก่อสร้างด่านซานไห่กวน จึงรู้ว่าสามีตายและถูกฝังอยู่ใต้กำแพงนั่นเอง นางจึงนั่งร้องไห้อยู่ตรงนั้นเป็นเวลานาน ทันใดนั้นกำแพงทั้งแผงที่กำลังก่อสร้างยาว ๔๐๐ กิโลเมตรพังทลายลงมา จิ๋นซีฮ่องเต้ทรงกริ้วนางมาก จึงคิดทำโทษนาง แต่พอเห็นหน้านางก็กลับสงสารและขอให้ไปเป็นพระสนม นางตกลง แต่มีข้อแม้ ๓ ข้อ คือ ๑. ค้นหาศพฟาน ฉีเหลียงให้พบ ๒. ฝังศพฟาน ฉีเหลียงอย่างสมเกียรติเช่นขุนนาง ๓. พระองค์จะต้องไว้ทุกข์ให้เขา  เป็นของง่ายสำหรับพระองค์จึงทรงรับที่จะปฏิบัติ  ครั้นทหารเผลอ นางจึงกระโดดลงทะเลตงไห่จมหายไป

-   น้ำแกงเหล็ก  ไช่ ไค ผู้บัญชาการก่อสร้างป้อมดอกไม้เหลืองหรือหวงฮั่วเฉิง สมัยราชวงศ์หมิง เมื่ออัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหารไปตรวจการก่อสร้าง เขาถูกข้อหาว่า ใช้เงินในการก่อสร้างสุรุ่ยสุร่ายเกินตัว จึงถูกประหารชีวิต แต่เมื่อสำรวจดูแล้วปรากฏว่า ป้อมแข็งแรงทนทานมาก ฮ่องเต้จึงรับสั่งให้สร้างสุสานให้เขา ชาวบ้านจึงเขียนป้ายประชดว่า จินถังหรือน้ำแกงเหล็ก

-  ซีเฟิงโก่ว  เกี่ยวกับบุตรถูกเกณฑ์ไปเป็นแรงงานสร้างกำแพงใหญ่ เมื่อถึงหน้าหนาวบุตรยังไม่กลับมา บิดาจึงนำเสื้อถักไปให้ที่ทำการก่อสร้าง แต่เขาก็เสียชีวิตที่นั่น

 

- อิฐก้อนเดียว  อี้ไคจาน เป็นคนงานก่อสร้างด่านเจียอิ้วกวน เขาเป็นนักคำนวณที่เก่งฉกาจ เขาบอกว่า ด่านนี้ใช้อิฐทั้งหมด ๙๙,๙๙๙ ก้อนเท่านั้น หัวหน้างานไม่เชื่อเขา จึงพนันกันว่า หากอิฐเหลือแม้แต่ก้อนเดียวเขาจะถูกทำโทษชดใช้อีกเป็นเวลา ๓ ปี เมื่อก่อสร้างเสร็จ ปรากฏว่าอิฐเหลืออยู่ ๑ ก้อนที่หลังประตูซีว่อง หัวหน้าก่อสร้างดีใจนักที่เขาชนะพนันครั้งนี้ แต่อิ้วไคจานตะโกนก้องฟ้าว่า เทวดาองค์ไหน ที่เอาอิฐก้อนนั้นไป จะทำให้โครงสร้างกำแพงไม่แข็งแรงพังลงมาได้ ปัจจุบันอิฐก้อนนั้นยังคงอยู่ที่ด่านเจียอิ้วกวน

-  ทางลำเลียงก้อนหิน   ขณะกำลังก่อสร้างด่านเจียอิ้วกวนจำเป็นต้องใช้ก้อนหินสกัดบนภูเขา แล้วลำเลียงลงมายังที่ก่อสร้าง แต่การทำงานของคนงานล่าช้า ทางการจึงกำหนดโทษ หากไม่เสร็จตามกำหนด เมื่อสกัดหินเสร็จรอที่จะลำเลียงลงจากภูเขา ต่างคิดวิธีลำเลียง ถึงอย่างไรก็ไม่ทันกำหนดแน่ ทันใดนั้นพวกแรงงานต่างได้ยินเสียงกัมปนาทบนยอดเขา แล้วมีเส้นไหมปลิวลงมาพร้อมข้อความว่า จะลำเลียงก้อนหินอย่างไร พวกเขาจึงพากันขุดทางเป็นร่องลงมาจากภูเขาจนถึงที่ก่อสร้าง รอจนหิมะตก จึงเอาน้ำเทลงไปในร่องรางที่ขุดไว้ น้ำก็กลายเป็นน้ำแข็ง พวกเขาจึงเลื่อนก้อนหินเหล่านั้นลงไปในทางน้ำแข็งอย่างสะดวก จนหมดครบก่อนกำหนด

 

-  เรื่องอื่นๆ  เช่น

   - พระนางเปาซื่อกับหอสัญญาณ เหตุเกิดสมัยพระเจ้าอิ้วแห่งราชวงศ์โจวตะวันตก

   -   แพะขนอิฐ เหตุเกิดที่ด่านเจียอิ้วกวน

   -   เสียงนกนางแอ่น เหตุเกิดที่ประตูโอ่วเอวี๋ยนด่านเจียอิ้วกวน

   -   ด่านประตูหยก  เหตุเกิดที่ด่านอิ้วเหมินกวน

   -   ภรรยาหอสังเกตการณ์ เหตุเกิดที่หอสังเกตการณ์ใกล้ด่านซานไห่กวน

   -   ด่านแรกอยู่ใต้หล้า เหตุเกิดที่ด่านซานไห่กวน

   -   จางเหอซาน ชาวนานักอนุรักษ์กำแพงใหญ่

   -   วิลเลียม ลินเซย์ นักอนุรักษ์กำแพงใหญ่ชาวอังกฤษ

                  ฯลฯ

 

 

การป้องกันบูรณปฏิสังขรณ์กำแพงใหญ่

        ภาพที่ได้พบเห็นส่วนใหญ่ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาแล้ว เพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่อีกหลายส่วนที่เป็นส่วนมากของกำแพงใหญ่ ยังไม่ได้รับการบูรณะแต่ประการใด จึงทำให้หลายส่วนเหล่านั้น จมหายไปตามทุ่งหญ้าและใต้พื้นทะเลทรายบ้าง ถูกฝนชะล้างเป็นพันปีจนสึกหรอ ถูกหิมะกัดกร่อน ถูกลมพายุ พายุฝุ่น พายุทะเลทราย พายุฝน พัดกระหน่ำปีแล้วปีเล่า หลายแห่งจึงถูกพายุทรายกลบฝัง กว่าชาวโลกจะได้พบเห็น ด้วยความยาวหลายหมื่นกิโลเมตร จึงยากที่จะป้องกันได้ ยังมีภัยธรรมชาติอื่นอีกเช่น แผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม แถมยังมีคนในท้องถิ่นช่วยกันถล่มอีกแรง ซึ่งคนพวกนี้มีอยู่ หลายกลุ่ม คือ รื้อเอาก้อนอิฐก้อนหินและดินขุดจากกำแพงไปเป็นวัสดุก่อสร้างส่วนตัว การก่อสร้างสมัยใหม่ เช่น ตัดถนนทางด่วน ตัดผ่านหรือเข้าไปใกล้กำแพงใหญ่ เมื่อชาวบ้านได้รับรู้ถึงการอนุรักษ์กำแพงใหญ่ จึงกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กลับไปซ่อมกำแพงตามวิธีการสมัยใหม่ เอาวัสดุสมัยใหม่เข้าไปทำ บางแห่งยังถูกรังแกจากนักท่องเที่ยวอีกด้วย

        กำแพงใหญ่ได้รับให้เป็นมรดกโลก โดยยูเนสโกเมื่อค.ศ. ๑๙๘๗  ในเดือนกันยายน ปีค.ศ. ๒๐๐๖ รัฐบาลกลางได้ออกกฎหมายคุ้มครองกำแพงใหญ่แล้ว

 

 

ส่วนที่นักท่องเที่ยวเข้าชมได้    

 

        มีอยู่ประโยคหนึ่งที่ชาวจีนมักพูดถึงกำแพงใหญ่คือ “ใครที่ไปไม่ถึงกำแพงใหญ่ ไม่แน่จริง”  ปัจจุบัน ทางการจีนได้เปิดให้นักท่องเที่ยวชมได้หลายแห่ง ผู้ไปชมจึงเลือกสถานที่ที่จะไปให้สอดคล้องกับสภาพสังขารของตน มิเช่นนั้นจะไปได้เพียงตีนกำแพง เพราะไม่สามารถที่จะปีนกำแพงอันสูงชันขึ้นไปได้

        ส่วนที่น่าสนใจ คือ

-        ปาต๋าหลิ่ง  อยู่ใกล้กรุงปักกิ่ง มีทัวร์ลงมาก เดินสะดวกและปลอดภัย

-        มู่เทียนอิ้ว  สูงชันกว่าปาต๋าหลิ่ง แต่น่าสนใจ

-        ซื่อหม่าไท่  ร่างกายต้องแข็งแรงจึงควรไป เพราะต้องปีนกำแพงที่สูงชัน

-        จินซานหลิ่ง  ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยว ยกเว้นคนต่างชาติ พื้นที่สูงชันและยังไม่ได้บูรณะ

-        จวียงกวน อยู่เขตปักกิ่งห่างจากปักกิ่ง ๕๐ กิโลเมตร

-        สุ่ยกวน ห่างจากปาต๋าหลิ่ง ๒ กิโลเมตร

-        ซานไห่กวน

-        จาอิ้วกวน อยู่ในมณฑลกานซู่ เป็นด่านที่อนุรักษ์ได้ดีที่สุด

-        เอี๋ยงกวน อยู่ห่างจากตุนหวง ๗๕ กิโลเมตร

-        ฯลฯ

 

เวลาที่เหมาะที่จะไปปีนกำแพงใหญ่ 

 

        ช่วงที่เมาะสมคือในฤดูใบไม้ผลิและใบไม้ร่วง ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม  กันยายน หรือต้นเดือนตุลาคม ถ้าไปเดือนกรกฎาคม สิงหาคม อากาศจะร้อน ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายนเป็นฤดูหนาว หิมะโปรย ลมหนาว คนเที่ยวน้อย ยกเว้นนักท่องเที่ยวที่นิยมชมชอบหรือนักถ่ายภาพอาชีพ

 

        ยีน เซอร์นัน นักบินอวกาศสหรัฐอเมริกากล่าวว่า เมื่อโคจรขึ้นไปเหนือโลกประมาณ ๑๖๐ – ๓๒๐ กิโลเมตรจะสามารถมองเห็นกำแพงจีนด้วยตาเปล่าได้ จากภาพถ่ายทางอากาศด้วยกล้องเรดาร์ของศูนย์นาซา สหรัฐอเมริกา ได้ถ่ายภาพกำแพงเมืองจีนไว้ ภาพถ่ายดังกล่าวอยู่ห่างจากปักกิ่งประมาณ ๗๐๐ กิโลเมตรไปทางทิศตะวันตก ในทะเลทรายตอนเหนือของจีน ภาพที่ปรากฏเป็นส่วนของกำแพงใหญ่ ที่ก่อสร้างในสมัยราชวงศ์หมิง สูงประมาณ ๕ – ๘ เมตรในบริเวณดังกล่าว ความยาวของกำแพงที่ถ่ายไว้ ประมาณ ๓๐๐๐ กิโลเมตร อีกภาพหนึ่งถ่ายไว้ ความยาวประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตร การถ่ายภาพกำแพงใหญ่ด้วยกล้องเรดาร์จะมองเห็นได้ชัดเจน ด้วยตัวกำแพงสูงชันและมองลงมาดูเรียบราบ จึงทำให้เกิดแสงสะท้อนจากกล้องเรดาร์ได้ดี ส่วนที่กล่าวว่าเมื่อออกไปอยู่บนดวงจันทร์ จะสามารถมองเห็นกำแพงใหญ่ได้ด้วยตาเปล่านั้น โดยทฤษฎีแล้วเป็นไปไม่ได้ เมื่อทำการสัมภาษณ์นักบินอวกาศหลายคนว่า เคยมองลงมาเห็นกำแพงใหญ่หรือไม่ หลายคนตอบว่า มองไม่เห็น แม้แต่นักบินอวกาศของจีน

 

 

 

           :   สมบูรณ์ แก่นตะเคียน  ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๑

 

Title     :   Great Wall of China   万里

 

           :   Somboon Kantakian

 

Credits  :  Somboon Kantakian  02/05/2004

 

Note     :   Juyong Guan about 50 kilometers from Beijing.

 

 

 

 

                       

บทความอื่นๆ ในหมวดเดียวกัน