Bookmark and Share Add to Favorites  
สมาชิกเข้าสู่ระบบ
User Name:
Password:
จำการล็อกอินของฉันไว้
ลืมรหัสผ่าน | สมัครสมาชิก
ลืมรหัสผ่าน
ใสอีเมล์ที่ลงทะเบียนไว้กับเรา
จีนศึกษา
  CHINESE TEXT PROJECT
  STANDARD CHINESE
  เส้นสายลายอักษร
  ลัทธิเต๋า
  รวมเรื่องจีนศึกษา-China Knowledge
  วัฒนธรรมศึกษาจากเว็บต่างๆ
  วัฒนธรรมศึกษาจากภาพ
  พระบรมฉายาลักษณ์ของฮ่องเต้
  มังกรจีนสมัยโบราณ
  มังกรจีนศึกษา
  เลือกเพศให้ลูก
  จีนโบราณจาก บริทิชมิวเซียม
  การเดินทางไกลของเหมาเจ๋อตุง
  จีนในปัจจุบัน
แซ่สกุล
  แซ่ตระกูลที่ใช้กันมาก
  ข้อมูลตระกูลแซ่ต่างๆ
  ประวัติบางแซ่สกุล
  200 แซ่สกุลที่ใช้มาก
  ตระกูลแซ่หลิน
มหาวิทยาลัยชั้นนำ
  BEIJING UNIVERCITY
  Shanghai Jiao Tong University
  Tsinghua University
  Xi'an Jiaotong University
  The Chinese University of Hong Kong
  The University of Hong Kong
  The Hong Kong University of Science and Technology
  Southeast University
  East China Normal University
  Tongji University
  Huazhong University of Science and Technology
  The Hong Kong Polytechnic University
  Tianjin University
  City University of Hong Kong
  Harbin Institute of Technology
  Wuhan University
  China Agricultural University
  Renmin University of China
  Xiamen University
  Fudan University
  Hong Kong Baptist University
  Shandong University
  Nanjing University
  University of Science and Technology of China
  Zhe Jiang University
พิพิธภัณฑ์และหอสมุด
  NATIONAL LIBRARY OF CHINA
  CHINA'S MUSEUMS
  GREAT WALL OF CHINA
  SACRED MOUNTAINS OF CHINA
หนังสือพิมพ์
  ซินหัวไทย
  People's Daily
  Xinhua
  China Daily
  China News
  China .com.cn
  China Youth Daily
เจ - มังสวิรัติ - VEGETARIAN
  เจ-อิ่มบุญ
  พลังบุญ
  เมนูอาหารเจ
  เจทิพย์
  อาหารมังสวิรัติ
  International Vegetarian Union (IVU)
  The Veggie Hub
  Vegetarianism
  A Guide to Vetetarian
  simple-veganista.com/all-recipes
เว็บเครือสมบูรณ์
  สมบูรณ์แก่นโน้ต
  ตระกูลแซ่หลิน
  ภูเก็ตสารสนเทศ
  สมบูรณ์แก่นโน้ต

พระถังซัมจั๋ง 唐三藏

 

 

 

 

 

        พระเสวียนจั้ง 玄奘  หรือที่รู้จักกันดีในชื่อว่า พระถังซัมจั๋ง ท่านมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ถังซานจั้ง 唐三藏 ถังเซิง หวนกวาน เหียนซัง เหียนเซียง เซวียนซัง ซานจั้ง เป็นต้น คำว่า ซานจั้ง三藏หมายถึงพระไตรปิฎก ส่วน ถังเซิง 唐僧 กล่าวกันว่า ฮ่องเต้ถังไท่จง(หลี่ซื่อหมิน) ถวายให้ท่านในฐานะที่ท่านเป็นน้องบุญธรรมของพระองค์

        พระเสวียนจั้งเป็นคนในตระกูลแซ่เฉิน หรือ แซ่ตัน ซึ่งตระกูลตั้งรกรากแต่เดิมอยู่เมืองต้าเหลียงหรือไคฟง  บรรพบุรุษสืบเชื้อสายมาจาก ตันกึง ผู้เป็นเจ้าเมืองไท่คู หรือ ย่งเซี่ย มณฑลเหอหนานในสมัยตงฮั่น พ.ศ. ๕๖๘ - ๗๖๓ ปู่ทวดชื่อ ตันคิม รับราชการเป็นเจ้าเมืองเซี่ยงตั้ง หรือกี่เล้ง มณฑลซานซีในสมัยราชวงศ์เว่ยเหนือ พ.ศ.๙๒๙ - ๑๐๗๗  ส่วนปู่ชื่อ ตันคัง เป็นนักการศึกษาในตำแหน่งราชบัณฑิตแห่งราชวิทยาลัยในวัง และมีตำแหน่งกินเมืองโจวหนาน   หรือเอ็งซื่อในมณฑลเหอหนาน ในแผ่นดินราชวงศ์ฉี พ.ศ. ๑๐๒๒ - ๑๐๔๔   บิดาชื่อ ตันฮุยหรือเฉินฮุย เป็นผู้มีความรู้ความสามารถคนหนึ่ง เป็นผู้รู้และศึกษาลัทธิขงจื่ออย่างแตกฉาน ด้านวิชาการต่างๆ ท่านได้รับการยกย่องจากนักศึกษาว่ามีความรู้ลึกซึ้งประดุจนักปราชญ์ ท่านมีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ไม่ต้องการในลาภยศ ในสมัยราชวงศ์สุย ตอนปลายบ้านเมืองแปรเปลี่ยนวุ่นวาย ทางราชการต้องการให้ท่านรับราชการ แต่ท่านปฏิเสธ  เฉินฮุยมีบุตร ๔ คน คนโตเป็นชาย คนรองเป็นชายชื่อ เฉินซู ต่อมาบวชเป็นพระสงฆ์ฉายาชางเจ้ย คนที่สามเป็นหญิง และคนสุดท้องชื่อ เฉินอี้ คือพระเสวียนจั้ง

        เฉินอี้ถือกำเนิดที่หุบเขาเฉินเหอ ตำบลโกวซื่อ ชานเมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน เมื่อ พ.ศ. ๑๑๔๓ สมัยฮ่องเต้สุยเหวินตี้(เอี๋ยงเจียน) ปีไค่หวงที่ ๑๑ เฉินอี้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เป็นเด็กอัจฉริยะ มีความจำเป็นเลิศ สนใจใฝ่เรียนรู้สรรพวิชาต่างๆ โดยมีบิดาเป็นครูสอนเริ่มตั้งแต่เรียนเรื่องคำสอนของขงจื่อ เมื่อบิดาสอนเรื่องเฮ้าเกียเกี่ยวกับจวงจื่อรับคำสอนจากขงจื่อ ด้วยการลุกจากนั่งแสดงความเคารพครู เฉินอี้ทำตามที่จวงจื่อทำคือยืนขึ้นเคารพบิดา เมื่อเขาอายุเพียง ๗ ขวบ ทำให้บิดาปลาบปลื้มมาก

        ฝ่ายพี่ชายคนรองคือเฉินซูได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุชางเจ้ยที่วัดจิงตู้ในเมืองลั่วหยาง เห็นว่าน้องชายสามารถที่จะศึกษาธรรมได้ จึงพาไปพำนักด้วย แล้วให้ศึกษาข้อธรรมต่างๆ เฉินอี้ศึกษาได้อย่างรวดเร็ว  แต่บังเอิญช่วงนั้นบิดาได้ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๑๑๕๕ เมื่อเขาอายุได้ ๑๒ ขวบ 

       ที่เมืองลั่วหยางมีรับสั่งให้บวชนาคหลวงเป็นสามเณรจำนวน ๑๔ รูป ได้มีผู้มาสมัครบวชกับข้าหลวงชื่อ เจิ้งเซี่ยงกั๋ว โดยคัดเอาผู้ที่ได้ศึกษาธรรมมาอย่างดีแล้ว เมื่อเฉินอี้ไปยืนที่ประตูหอหลวงดูเขาคัดเลือกซึ่งตนไม่สามารถสมัครได้ เพราะความรู้ธรรมยังไม่แตกฉานพอ แต่ข้าหลวงเห็นบุกคลิกลักษณะดี มีแววแห่งความเฉลียวฉลาด จึงได้ถามถึงเทือกเถาเหล่ากอ ก็ทราบว่าเป็นคนตระกูลขุนนางเก่า และถามว่าทำไมจึงอยากบวช เมื่อได้รับคำตอบที่พึงพอใจจากเฉินอี้ จึงให้รับไว้เป็นพิเศษ  เฉินอี้จึงได้รับการบวชเณรนาคหลวงเมื่อ พ.ศ. ๑๑๕๖ เป็นสามเณรเฉินอี้เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี และศึกษาธรรมกับพระเก้งให้สอนคัมภีร์มหาปรินิพพานสูตร ศึกษาคัมภีร์มหายานสัมปริครหศาสตร์กับพระเงี้ยม ได้ฟังเพียงครั้งเดียวก็จำได้เกือบทั้งหมด หมู่สงฆ์จึงนิมนต์ให้ขึ้นเทศน์ สามเณรเฉินอี้ก็แสดงได้อย่างแจ่มชัดเป็นที่งวยงงแก่หมู่สงฆ์

        เมื่อ พ.ศ.๑๑๖๑ ราชวงศ์สุยก็ล่มสลาย ราชวงศ์ถังโดยฮ่องเต้ถังเกาจู่(หลี่เอียน) เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นปฐมราชวงศ์ถังเมื่อ พ.ศ.๑๑๖๑ สภาพบ้านเมืองวุ่นวายเต็มไปด้วยโจร ตามถนนหนทางเต็มไปด้วยกระดูกคนสัตว์ จึงชวนพระพี่ชายไปอยู่ที่เมืองฉางอานเมื่อ พ.ศ. ๑๑๖๑ เป็นปีอู่เต๋อที่ ๑ แต่บรรดาพระสงฆ์ได้เดินทางไปพำนักที่แคว้นเสฉวนเป็นจำนวนมาก ด้วยหนีภัยสงครามไปอยู่ดินแดนที่สงบ พระสองพี่น้องจึงเดินทางไปเสฉวนที่เมืองเฉิงตู ศึกษาธรรมอยู่สองสามปี จนอายุได้ ๒๒ ปี ในพ.ศ. ๑๑๖๕ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุอี้ ศึกษาพระวินัยทั้ง ๕ คัมภีร์ ๗  หมวด จนจบอยากศึกษาเพิ่มเติมที่ประเทศอินเดีย เพื่อตอบปัญหาคาใจอยู่หลายเรื่องในพระคัมภีร์

        จึงเดินทางไปยังเมืองฉางอานเมื่อ พ.ศ. ๑๑๖๘ แต่พระพี่ชายไม่ไปด้วย ท่านจึงได้ศึกษาภาษาสันสกฤตกับผู้รู้ ศึกษาภาษาโตชาเรียนที่ใช้พูดกันในพื้นที่ราบซินเจียง พร้อมกับเรียนวิชากังฟู โยคะทางพุทธศาสนาด้วย พร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานไปสืบพระพุทธศาสนาที่อินเดีย เพื่อให้แน่ใจจึงลองให้หมอดูทายว่าการไปอินเดียจะสำเร็จหรือไม่ หมอดูชื่อ ฮอฮ่องตั๊ดทายว่าจะสำเร็จจะขี่ม้าแก่สีแดงและผอม

        ฝ่ายการเมืองในเมืองฉางอานและไท่หยวน ฮ่องเต้ถังเกาจู่รับสั่งให้หลี่ซื่อหมินหรือฉินหวาง ยกทัพไปปราบหวางซื่อเฉิงซึ่งครองเมืองลั่วหยางอยู่เป็นแคว้นเจิ้ง และมีเขตแดนต่อกับก๊กของหลี่มี่ที่แคว้นอุย ทัพหวางซื่อเฉิงแพ้ปิดประตูเมืองหลายวัน หลี่ซื่อหมินจึงออกไปล่าหงส์บนภูเขาหลงเข้าเขตของหลี่มี่หวาง ซึ่งมีตันเซียงซินนายทหารเอก ออกไล่ล่าหลี่ซื่อหมินขึ้นไปบนภูเขาด้วยความแค้นที่หลี่เอียนแต่ครั้งยังเป็นข้าหลวงฆ่าพี่ชายตน คิดว่าเป็นโจรปล้นคนเดินทาง ตันเซียงซินจึงแก้แค้นให้พี่ชาย เจอเสือเฝ้าอยู่หน้าอาคารปากประตู เสือปีบ ตนจึงลงมาคอยที่เชิงเขา หลี่ซื่อหมินหนีขึ้นไปพบพระภิกษุหนุ่มรูปงาม ท่านได้ช่วยโดยให้นอนอยู่หลังแท่นที่นั่งเก๋ง จนเขาปลอดภัย พระภิกษุรูปนั้นคือ เสวียนจั้งนั่นเอง ฉินหวางรับปากจะให้ขุนนางมาปรนนิบัติท่าน แต่ท่านปฏิเสธ จนถึงพ.ศ. ๑๑๖๙ ผลัดแผ่นดินเป็นฮ่องเต้ถังไท่จง(หลี่ซื่อหมิน) แต่การสู้รบยังคงดำเนินต่อไป

        ใน พ.ศ. ๑๑๗๒ เมื่อท่านอายุได้ ๒๙ ปี ท่านได้ทำหนังสือถึงราชการขอไปแสวงบุญที่อินเดีย แต่ทางราชสำนักคือ ฮ่องเต้ถังไท่จง(หลี่ซื่อหมิน)ได้มีรับสั่ง ไม่อนุญาตให้คนจีนออกนอกประเทศไปตะวันตก ด้วยจีนกำลังสู้รบกับพวกเติร์กตะวันออกอยู่ท่านทำหนังสือขออนุญาตถึง ๓ ครั้งก็ถูกปฏิเสธทุกครั้ง  ท่านจึงเดินทางเป็นการลับ ด้วยความช่วยเหลือของพระสงฆ์เจ้าอาวาสรูปหนึ่งจนถึงเมืองหลานโจว มณฑลกานซู่ ท่านได้รับความช่วยเหลือจากนายด่านหลี่เชียง ที่นับถือพุทธศาสนาให้เดินทางออกไปได้ พร้อมกับนำจดหมายไปให้หัวหน้าป้อมทหารที่ ๑ ด้วย ท่านได้รับความช่วยเหลือจากชาวฟู่มองโกลเผ่าหนึ่ง พร้อมม้าแก่ผอมสีแดง ที่เคยเดินทางมาหลายครั้งแล้ว นำทางไปได้ระยะหนึ่งก็ขอกลับ ท่านเดินทางคนเดียวโดยใช้กองกระดูกและขี้ม้านำทาง จนถึงป้อมทหารที่ ๑ ในจำนวน ๕ ป้อม และออกจากป้อมที่ ๑ ซึ่งตั้งแต่นี้ไปเป็นทะเลทราย จนถึงป้อมที่ ๔ แล้วเดินทางต่อไป  

         การเดินทางออกทะเลทราย ในช่วงกลางวันร้อนจัด พายุทรายพัด ตกกลางคืนหนาวจัด มีพวกผีเปรตทั้งหลายล้อมหน้าล้อมหลัง ท่านต้องสวดภาวนาถึงพระโพธิสัตว์ให้ช่วย และท่องคัมภีร์ปรัชญาปรมิตาหฤทัยสูตร ป้องกันภัย บางช่วงเกิดท้อใจอยากกลับหลังหันไปป้อมที่ ๔ แต่ด้วยตั้งสัตย์อธิษฐานไว้ว่า จะไปสืบพระพุทธศาสนาที่อินเดียให้ได้ จึงเดินทางต่อไป เมื่อมองออกไปรอบทิศ เห็นแต่ความอ้างว้างไร้ผู้คน กลางคืนเจอพวกภูต กลางวันเจอพายุทรายพัดกระจายไปทั่ว ครั้งหนึ่งเห็นกองทหารหลายร้อยคนเดินเรียงหน้าเข้ามาเต็มพื้นทราย เดี๋ยวเดินเดี๋ยวหยุด พวกนี้นุ่งห่มด้วยขนสัตว์ทั้งสิ้น ขี่อูฐบ้าง ต่างถือธงทิวถือหอก แล้วเปลี่ยนเป็นรูปไปต่างๆ มองไกลเห็นชัด  ตอนแรกท่านคิดว่าเป็นพวกโจรทะเลทราย แต่เมื่อเข้าใกล้มาก็กลับเลือนหายไปสิ้น แล้วมีเสียงจากอากาศว่า “อย่ากลัว อย่ากลัว” แถมถุงน้ำก็มาหกหมด จนถึง ๔ คืนกับ ๕ วัน น้ำสักหยดก็ไม่ได้ผ่านลงคอเลย แล้วตั้งจิตอธิษฐาน จนถึงวันที่ ๕ ลมเย็นพัดมา ทำให้ทั้งคนทั้งม้าสดชื่น จนม่อยหลับไป ฝันเห็นเทพเจ้าองค์หนึ่งสูงใหญ่ถือทวน ร้องว่า ทำไมยังมัวนอนอยู่ ไม่อุตส่าห์เดินทางต่อไปเล่า ท่านตกใจตื่นจึงเดินทางต่อไป แต่ม้าพลุ่งพลั่นพาคนไปตามยะถากรรม จนพบแหล่งน้ำหญ้าเขียว แล้วเดินทางต่อไปจนถึงเมืองอู้อี้ พบพระสงฆ์ชาวมองโกล ๓ รูป  เดินทางต่อไปได้ ๖ วันเข้าเขตซินเจียงหรือเกาเชียง

        พระราชาแห่งซินเจียงทรงต้อนรับ รับสั่งให้ส่งท่านไปยังสำนักเยรู่ข่าน แล้วเดินทางผ่านแคว้นอัคนิ พระราชาทรงต้อนรับแล้วเดินทางต่อไปถึงดินแดนพวกเติร์ก เข้าเฝ้าเยรู่ข่าน ได้รับถวายอาหารเจมีข้าวขนมผลองุ่นเป็นต้น ท่านแสดงพระธรรมเทศนาธรรมยกถาอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ เดินทางเข้าเขตทัชเคนต์เมืองหลวงของอุชเบกิสถาน เข้าเขตทะเลทรายถึงแคว้นสามารกันต์ พระราชาเปลี่ยนจากลัทธิบูชาไฟเป็นพุทธศาสนา แล้วผ่านแคว้นต่างๆหลายแคว้นจนถึงด่านประตูเหล็กทิเหมินกวน ซึ่งตั้งอยู่ที่ปากช่องแคบรูปเกือกม้า มีแร่เหล็กจำนวนมาก มุ่งหน้าสู่ทิศใต้ ผ่านหลายเมืองเข้าเขตอามูดาร์ยาและเทอร์เมช จนถึงแคว้นกุนดุช มีโอรสองค์ใหญ่ของเยรุ๋ข่านปกครอง ท่านพักอยู่เดือนเศษเพื่อเข้าพิธีศพเจ้าตะตูชะ น้องเขยเยรู่ข่าน พร้อมกับสนทนากับพระธรรมสิงห์ เดินทางต่อไปทางทิศตะวันตกตามที่เจ้าชายตาร์ตูเคยแนะนำไว้ เข้าเมืองพัลต์หรืออัฟกานิสถาน เพื่อศึกษาพระพุทธรูปลอยนูนและพุทธสถาน ได้พบพระสงฆ์เถรวาทกว่า ๓๐๐๐ รูป และศึกษาอักษรธรรม(บาลี)กับพระเถระที่นี่

        เดินทางต่อไปถึงเมืองบำยำ เข้าเฝ้าพระราชาและเยี่ยมวัดเถรวาทหลายแห่ง นมัสการพระพุทธรูปขนาดใหญ่สลักจากหิน ผ่านซีร์บาร์ซึ่งห่างจากคาบูลประมาณ ๖๐ กิโลเมตร ที่นี่มีวัดฝ่ายมหายานกว่า ๑๐๐ แห่ง พระสงฆ์กว่า ๖,๐๐๐ รูป ซึ่งเป็นดินแดนคันธาระ ท่านได้แสดงธรรมด้วย นอกจากนี้เป็นครั้งแรกที่ได้พบกับกลุ่มที่นับถือลัทธิเชนลัทธิฮินดู ถึงเมืองจาลาลาบัดและเมืองลักขมัน ท่านถือว่าได้ถึงประเทศอินเดียแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๑๑๗๓

         เดินทางต่อไปถึงเมืองคันธาระ เปชะวอร์ นมัสการสถูปคณิชกะ  ออกจากเปชะวอร์เข้าอูเดียนา มีวัดเก่าแก่กว่า ๑,๔๐๐ วัด พระสงฆ์ ๑๘๐๐๐ รูปเป็นฝ่ายมหายาน  แล้วย้อนขึ้นไปทางเหนือถึงเมืองปูนา ข้ามแม่น้ำสินธุ ถึงเมืองตักสิลา อาณาจักรฝ่ายมหายาน ในแคว้นแคชเมียร์ มีพระสงฆ์กว่า ๕,๐๐๐ รูปตามวัดต่างๆกว่า ๑๐๐ แห่ง ได้พบพระปัจเจกรูปหนึ่งเพื่อขอศึกษาธรรมฝ่ายมหายานระหว่างพ.ศ. ๑๑๗๔ – ๑๑๗๘ และเขียนเรื่องการประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๖๔๓ ซึ่งอยู่ใกล้ที่นั่น

 

        พ.ศ. ๑๑๗๖ ออกเดินทางไปเมืองชินะพุกติ อยู่ปีเศษเพื่อศึกษาข้อธรรมกับพระวินิตพระบาทอดีตเป็นองค์ชาย

        พ.ศ. ๑๑๗๗ ธุดงค์ถึงเมืองจาลันธาระอยู่ทางตะวันออกแคว้นปัญจาบ ข้ามไปเมืองไพรัตน์และมถุราริมฝั่งแม่น้ำยมนา  มีพระสงฆ์กว่า ๒๐๐๐ รูป ผ่านไปอีกหลายเมือง

         พ.ศ. ๑๑๗๘ ข้ามแม่น้ำคงคาถึงเมืองสังกัสยะ ขึ้นไปทางเหนือถึงเมืองกันยคุปต์มีพระจักรพรรดิฮาร์ชาปกครอง

        พ.ศ.  ๑๑๗๙  ได้พบพระสงฆ์จำนวนมากและศึกษาอักษรบาลีกับฝ่ายเถรวาท แล้วเดินทางเข้าเมืองอโยธยา พุทธศาสนาฝ่ายโยคะ แล้วย้อนลงทางใต้เข้าเมืองโกสัมพี ได้รับพระพุทธรูปฝีมือท้องถิ่น เดินทางขึ้นไปทางเหนือถึงเมืองสาวัตถี ผ่านเมืองเทรายตอนใต้ของเนปาล เข้าเมืองกบิลพัสตุ์ ก่อนถึงลุมพินี สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า เห็นเสาศิลาใกล้ต้นอโศกสถานที่ประสูติ ท่านเข้านมัสการ

        พ.ศ. ๑๑๘๐  ออกจากลุมพินีไปยังเมืองกุสินาราสถานที่ปรินิพพาน แล้วย้อนลงทางใต้ถึงสวนกวางเมืองสารนาท สถานที่ปฐมเทศนา มีพระสงฆ์กว่า ๑๕๐๐ รูป เดินทางต่อไปทางทิศตะวันออกถึงเมืองพาราณสี  ถึงเมืองไวสาลี ปาตลีบุตร (ปัตนา) และโบสถ์คะยา ท่านร่วมเดินทางกับหมู่พระสงฆ์ท้องถิ่นไปยังเมืองนาลันทา กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ มหาวิทยาลัยนาลันทาอันเก่าแก่ของอินเดีย ท่านพักอยู่ที่นี่ประมาณ ๒ ปี ได้ศึกษาตรรก ไวยากรณ์ สันสกฤต ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เวชศาสตร์ คณิตศาสตร์ คัมภีร์พระเวทย์ทั้ง ๔ ท่านจึงศึกษาวิชาทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างกว้างขวาง ได้ศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนในสิ่งที่อยากรู้ที่มีปมปัญหาจากในใจที่ศึกษามาจากประเทศจีน จนแจ่มแจ้ง โดยมีพระศีลภัทร เจ้าอาวาสเป็นประธานมอบให้พระพุทธภัทรผู้ทรงความรู้เยี่ยมเป็นอาจารย์ พร้อมทั้งได้เล่าถึงสาเหตุแห่งทุกข์ของพระศีลภัทรให้ฟัง คือเป็นโรคลมชักกระตุกรักษาไม่หาย ด้วยกรรมเก่าในชาติก่อนทำไว้ พระศีลภัทรได้นิมิตฝันว่าได้พบพระโพธิสัตว์สามองค์ คือ องค์ที่ ๑ มีผิวพรรณเหลืองดั่งทองคือพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ องค์ที่ ๒ ผิวพรรณสุกใสเหลืองแกมเขียวหรือน้ำตาลเทาดั่งแก้วไพฑูรย์คือ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ และองค์ที่ ๓ ผิวพรรณขาวดั่งเงินยวง คือ พระเมตรไตรยโพธิสัตว์ ให้พระศีลภัทรเผยแผ่พระสัทธรรม มีคัมภีร์โยคาจารภูมิศาสตร์เป็นต้น แล้วจะเป็นสุขไม่ต้องทนทุกข์ถึงโรคอีกต่อไป ต่อมาโรคของท่านก็หาย อีกสามปีข้างหน้าจะมีพระภิกษุสงฆ์จากประเทศจีนใคร่จะศึกษาพระปรมัตถธรรมกับท่านขอให้ท่านสอนเขาเถิด และวันนี้ครบสามปี พระเสวียนจั้งก็ได้ปรากฏตามความฝันทุกประการ หมู่พระสงฆ์ที่ร่วมฟังต่างอนุโมทนากันทั่ว

        หลังจากที่ได้ศึกษาพระธรรมต่างๆปีเศษ ท่านจึงขออนุญาตพระอาจารย์ศีลภัทรเดินทางไปแสวงบุญ ยังที่ต่างๆหลายแคว้นแล้วกลับมายังอารามนาลันทาได้ศึกษากับพระชัยเสน คืนหนึ่งท่านได้นิมิตฝันว่า ได้เดินเข้าไปในหอพระราชาพาลาทิตย์ เห็นบนหอชั้นสี่มีเทพองค์หนึ่งยืนอยู่ ท่านอยากขึ้นไปแต่ปีนขึ้นไม่ได้ จึงขอให้เทพช่วยดึง แต่เทพตอบว่า “เราคือมัญชุศรีโพธิสัตว์ ตัวท่านยังไม่หมดเวรกรรม จึงขึ้นมาไม่ได้” แล้วชี้ออกไปข้างนอกให้ดูไฟกำลังลุกไหม้บ้านเรือน เทพกล่าวว่า “ท่านควรรีบกลับจากประเทศนี้เสียโดยเร็ว อีก ๑๐ ปีข้างหน้าพระราชาศีลาทิตย์จะสิ้นพระชนม์ ในอินเดียจะเกิดจลาจลฆ่าฟันกันเป็นทุรยุค ท่านจงทราบไว้เถิด”

         ท่านได้เล่าให้พระชัยเสนฟัง พระชัยเสนว่า “ในไตรภพนี้ ความสงบย่อมไม่มี เหตุการณ์อาจจะเป็นอย่างที่ฝันก็ได้ แต่เมื่อเกิดนิมิตขึ้นเช่นนี้ ท่านผู้เจริญจงใคร่ครวญดูเองเถิด”  ต่อมาอีก ๑๐ ปี เมื่อราชทูตจีนไปยังเมืองนี้ได้ประสบพบเห็นสิ่งดังกล่าวทุกประการ ภายหลังพระราชาศีลาทิตย์สิ้นพระชนม์ ด้วยพวกขุนนางผู้ใหญ่คิดกบฏ

        ขณะที่ท่านกำลังรอเข้าเฝ้าพระราชกุมารราชา ได้ให้นิครนถ์หมอดูทำนาย เขาได้ทำนายไว้ว่า อยู่อินเดียก็ดี กลับไปจีนก็ดี มีผู้สนับสนุนตลอด ท่านถามต่อว่า ถ้ากลับจีนของมีมากจะขนไปได้อย่างไร นิครนถ์ตอบว่า จะมีพระราชาศีลาทิตย์และพระราชกุมารราชาช่วยส่งจนถึงเมืองจีน ท่านบอกไม่เคยเข้าเฝ้าทั้งสององค์ นิครนถ์บอกอีกสามวันจะได้พบ  หลังจากนั้นพระราชาทั้งสองพระองค์ได้นิมนต์ไปแสดงธรรมและดูการถวายทาน

        ท่านได้ถวายพระพรลา พระราชาได้มอบภาระการขนพระพุทธรูป และคัมภีร์ให้กองทหารของพระอุทิตราชาทางภาคเหนือรับภาระ พระราชาถวายสิ่งของอีกเป็นจำนวนมาก เสด็จมาส่งเป็นระยะทางไกล ทรงมอบพระราชสาสน์ที่ท่านจะผ่านยังแคว้นต่างๆให้คอยช่วยเหลือด้วย ช่วงข้ามแม่น้ำสินธุทำให้คัมภีร์ส่วนหนึ่งหายไป ผ่านแคว้นสิงหปุระมีโจรชุมจึงให้พระภิกษุเดินทางไปก่อน เพื่อแจ้งโจรว่าของทั้งหมดเป็นคัมภีร์ พระพุทธรูปพระสารีริกธาตุเท่านั้น เมื่อผ่านแคว้นใดพระราชาก็เสด็จมาต้อนรับ แล้วข้ามภูเขาสูงชันหนทางคดเคี้ยวเดินทางลำบาก หิมะโปรยปราย  เมื่อถึงเมืองกัสตนะจึงให้คนไปคัดคัมภีร์ที่หายไปที่เมืองคุจี และชูเล ท่านจึงแต่งสาสน์ฉบับหนึ่งถึงฮ่องเต้ถังไท่จงเล่าเรื่องที่ได้พบเห็นเพียงสังเขป แล้วฝากชายหนุ่มชาวซินเกียงที่เดินทางมากับพ่อค้าให้นำไปถวายฮ่องเต้ อีก ๖ - ๗ เดือน ฮ่องเต้ทรงตอบกลับมาพร้อมด้วยพระราชโองการ ให้ราชาเมืองที่ผ่านช่วยเหลือ แล้วท่านก็เดินทางเข้าเขตประเทศจีน

        พระเสวียนจั้งเดินทางเข้าพระนครหลวงฉางอานเมื่อเดือน ๑ ปีเจินกวนที่ ๑๙ พ.ศ. ๑๑๘๘ ทางการจัดม้า ๓๐ ตัวขนสิ่งของไปพักที่ศาลาหลวง รุ่งเช้าจึงจัดให้ชาวเมืองได้นมัสการ มีสิ่งของดังนี้

 

๑.    พระบรมสารีริกธาตุ   ๑๕๐ องค์

๒.    พระพุทธรูปทองคำปางที่ประดิษฐานในถ้ำนาค ในภูเขาแคว้นมคธ มีฐานพร้อม สูง ๓ เฉี้ยะ ๓ ฉุ่น

๓.    พระพุทธรูปจำหลักด้วยไม้จันทน์ ปางปฐมเทศนาที่มฤคทายวันมีฐานพร้อม สูง ๓ เฉี้ยะ ๕ ฉุ่น

๔.    พระพุทธรูปจำหลักด้วยไม้จันทน์จำลองจากปางของพระเจ้าอุเทนแห่งแคว้นโกสัมพี มีฐานพร้อม สูง ๒ เฉี้ยะ ๙ ฉุ่น

๕.    พระพุทธรูปเงิน ปางเสด็จลงจากบันไดแก้วจากดาวดึงส์ มีฐานพร้อม สูง ๔ ฉี้ยะ

๖.    พระพุทธรูปทองคำ ปางแสดงพระธรรมเทศนาที่ภูเขาคิชฌกูฏ มีฐานพร้อม สูง ๓ เฉี้ยะ ๕ ฉุ่น

๗.    พระพุทธรูปจำหลักด้วยไม้จันทน์ ปางทรมานนาคที่นครหาร มีฐานพร้อม สูง ๓ เฉี้ยะ ๓ ฉุ่น

๘.    พระพุทธรูปปางต่างๆจำหลักด้วยไม้จันทน์ปางเสด็จโปรดสัตว์ที่เวสาลี

๙.    พระธรรมวินัยของฝ่ายมหายาน รวม ๒๒๔ คัมภีร์

๑๐.  คัมภีร์ศาสตร์ต่างๆของฝ่ายมหายาน รวม ๑๙๒ คัมภีร์

๑๑.  พระธรรมวินัยกับศาสตร์ต่างๆของฝ่ายสถวีระ รวม ๑๕ คัมภีร์

๑๒. พระธรรมวินัยกับศาสตร์ต่างๆของฝ่ายสัมมติยะรวม ๑๕ คัมภีร์

๑๓.  พระธรรมวินัยกับศาสตร์ต่างๆของฝ่ายมหิสาศาสก รวม ๒๒ คัมภีร์

๑๔.   พระธรรมวินัยกับศาสตร์ต่างๆของฝ่ายกาศยปิยะ รวม ๑๗ คัมภีร์

๑๕.   พระธรรมวินัยกับศาสตร์ต่างๆของฝ่ายธรรมคุปต์ รวม ๔๒ คัมภีร์

๑๖.   พระธรรมวินัยกับศาสตร์ต่างๆของฝ่ายสรรวาสติวาท รวม ๖๗ คัมภีร์

๑๗.   คัมภีร์เหตุวิทยา ๓๖ ฉบับ

๑๘.   คัมภีร์ศัพทวิทยา ๑๓ ฉบับ

 

          รวมทั้งสิ้นเป็นหนังสือ  ๕๒๐ ผูก หรือ ๖๕๗ เล่มสมุด

        วันที่ ๒๔ ค่ำ เดือน ๑ วัดต่างๆแห่สิ่งของไปยังวัดอู่โหลวซื่อ(ฮ่งฮกยี่) เดือน ๒ วัดนี้สร้างเมื่อพ.ศ. ๑๐๓๒ สมัยราชวงศ์สุย ถึงพ.ศ. ๑๑๙๑ ฮ่องเต้ถังไท่จงโปรดฯให้บูรณะซ่อมแซมเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาอุทิศส่วนกุศลให้แก่พระมารดา และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดต้าเฉียน

        พระเสวียนจั้งไปเข้าเฝ้าฮ่องเต้ถังไท่จงที่ลั่วหยาง ทรงถามถึงภูมิประเทศ ดินฟ้าอากาศ การปกครอง ขนบธรรมเนียม พืชผล สรรพวัสดุ ฯลฯ ทรงสนพระทัยมาก รับสั่งให้พระเสวียนจั้งเขียนรายงานเป็นจดหมายเหตุการณ์เดินทางไปประเทศตะวันตก  西遊記  หรือ ซีอิ๋วจี้ รับสั่งให้พระเสวียนจั้งไปพำนักที่วัดอู่โหลวซื่อ ท่านใช้เวลาเตรียมสิ่งของและคนถึง ๖ เดือน จึงเริ่มแปล โดยระดมพระผู้เชี่ยวชาญจากทั่วประเทศจำนวน ๑๒ รูป เป็นผู้ช่วย ผู้ชำนาญการเรียงความ ๙ รูป ผู้เชี่ยวชาญภาษา ๑ รูป ผู้ชำนาญภาษาสันสกฤต ๑ รูป และยังมีผู้ช่วยเขียนร่าง คัดลอก ได้แปลเสร็จในปีนั้นจำนวน ๔ เรื่อง

        พ.ศ. ๑๑๘๙ แปลคัมภีร์ต่อ พร้อมทั้งเริ่มเขียนจดหมายเหตุการเดินทางไปตะวันตก

        พ.ศ. ๑๑๙๑ แปลคัมภีร์โยคาจารภูมิศาสตร์เป็นหนังสือ ๑๐๐ ผูก ฮ่องเต้เสด็จมาประทับที่พระตำหนักอิ้วหัวกง玉華宮 รับสั่งถามพระเสวียนจั้งว่า จะได้ผลานิสงค์มากนั้นจะทำประการใด ท่านทูลว่าให้บวชผู้ที่สมควรบวช ฮ่องเต้จึงให้บวชพระภิกษุจำนวน ๑๘๖๐๐ รูป แล้วเสด็จกลับฉางอาน ให้พระเสวียนจั้งติดตามไปด้วยและให้พำนักในพระราชวัง พระโอรสหลี่ซื่อหวางสร้างวัดใหม่เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาอุทิศส่วนกุศลให้พระชนนี สร้างหอประชุมแปลคัมภีร์ บวชพระ ๓๐๐ รูป พระราชทานนามวัดว่า ไต้ซือเอ็งยี่ และรับสั่งให้พระเสวียนจั้งเป็นเจ้าอาวาส

        พ.ศ. ๑๑๙๒ ฮ่องเต้ถังไท่จงเสด็จสวรรคต ในปีเจ็งกวนที่ ๒๓ เดือน ๕ หลี่ซื่อหวางเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นฮ่องเต้ถังเกาจง ใช้ปีรัชกาลว่า หย่งฮุยปีที่ ๑  ในพ.ศ. ๑๑๙๓ ท่านยังคงแปลคัมภีร์ทุกวัน หลังจากชีวิตประจำวันของท่านคือ ฉันเช้าและฉันพลบค่ำแล้ว

         พ.ศ. ๑๑๙๕ ท่านขอพระบรมราชานุญาตสร้างสถูปเจดีย์เป็นหอเก็บคัมภีร์ที่แปล ทรงอนุญาตและให้ทางการออกทุนทั้งหมด สถูปรูปทรงคล้ายในอินเดีย เป็นอาคาร ๕ ชั้น สูง ๖๐ เมตร กว้าง ๕๐ เมตร ( สถูปถูกทำลายลงระหว่างพ.ศ. ๑๒๔๔ – ๑๒๔๗ สมัยพระนางอู่เจ๋อเทียนหรือบูเช็กเทียน พระนางรับสั่งให้สร้างใหม่เพิ่มอีก ๕ ชั้น เป็น ๑๐ ชั้นในปี พ.ศ. ๑๒๔๗ และปีพ.ศ. ๒๐๙๙ ผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่ส่านซีพังลงเหลือ ๗ ชั้น ได้บูรณะเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๑๗ สูง ๖๔ เมตร )

        พ.ศ. ๑๑๙๙ รับสั่งให้ขุนนางบางคนไปช่วยท่าน ในปีนั้นท่านเกิดอาพาธด้วยโรคเก่ากำเริบ คือติดมาจากช่วงที่ข้ามภูเขาหิมะเดินทางฝ่าน้ำแข็ง รับสั่งให้หมอหลวงสองคนไปรักษาดูแลประจำ

        พ.ศ. ๑๒๐๐ ฮ่องเต้เกาจงเสด็จประพาสลั่วหยางรับสั่งให้พระเสวียนจั้งตามเสด็จด้วย ท่านจึงถือโอกาสไปเยี่ยมญาติที่บ้านเก่า ยังคงเหลือแต่พี่สาว แล้วชวนกันไปสักการะหลุมศพบิดามารดา ปรากฏว่าชำรุดทรุดโทรมมาก จึงถวายฮ่องเต้ขอพระราชานุญาตบูรณะ รับสั่งให้ดูฮวงจุ้ยที่สร้างใหม่ เสร็จแล้วจึงย้ายศพไปฝังที่ใหม่โอ่อ่าสมฐานะแก่ตระกูล มีมหาชนไปช่วยงานเป็นหมื่นคน

        พ.ศ. ๑๒๐๑ เสด็จกลับเมืองฉางอาน ทรงสร้างวัดใหม่ใหญ่โตชื่อวัดซีเม่งยี่ โปรดฯให้พระเสวียนจั้งเป็นเจ้าอาวาสพร้อมทั้งสร้างกุฏิให้เป็นพิเศษ และให้ศิษย์ ๑๐ คนคอยรับใช้ดูแล แต่ท่านเป็นห่วงเรื่องแปลคัมภีร์ จึงขอพระราชานุญาตใช้พระตำหนักอิ้วหัวกงเป็นที่แปลคัมภีร์มหาปรัชญาปรมิตาสูตร เพราะเป็นสถานที่เงียบไม่มีใครรบกวน โดยย้ายไปเมื่อ พ.ศ. ๑๒๐๒ ซึ่งใช้เวลาตรวจสอบทานจากสามสำนวนแล้วแปล เกือบ ๔ ปีจึงเสร็จ ใน พ.ศ. ๑๒๐๖ ประกอบกับอายุท่านเข้าวัยชราที่ตรากตรำทำงานมามาก จึงสั่งศิษย์ว่า ถ้าท่านมรณภาพให้ใช้เสื่อไม้ไผ่ห่อซากศพเอาไปฝัง ไม่ต้องประกอบพิธีให้เอิกเกริก ซึ่งขัดกับความต้องการของศิษย์ทั้งหลาย แต่พวกเขาก็ต้องทำตามคำสั่งของอาจารย์

        พ.ศ. ๑๒๐๗ ในปีหลินเต๋อที่ ๑ วันที่ ๑ ค่ำ เดือน ๑ คณะกรรมการสงฆ์ที่ร่วมแปลคัมภีร์อยากให้ท่านแปลคัมภีร์ รัตนกูฏสูตรเป็นพระสูตรใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง แต่ท่านไม่รับปากเพราะต้องใช้เวลานานในการตรวจสอบและแปล เกรงว่าสังขารจะไปเสียก่อน ท่านจึงขอไปไหว้พระพระพุทธรูปที่ภูเขาลั่งจือและที่อื่นๆ เมื่อกลับมาแล้วท่านก็ไม่แปลอีกเลย จนวันหนึ่งล้มลงที่ท่อน้ำหลังกุฏิบาดเจ็บที่แข้งเล็กน้อย ทำให้โรคเก่ากำเริบขึ้นอีก จำต้องนอนอยู่กับที่

        แล้วให้พระศิษย์อ่านสรุปงานที่ท่านทำทั้งหมด เป็นคัมภีร์แปล ๗๔ เรื่อง รวม ๑,๓๓๕ ผูก ให้วาดรูปพระพุทธเจ้าและพระเมตไตรยโพธิสัตว์อย่างละ ๑,๐๐๐ แผ่น สร้างพระพุทธรูปมากมาย คัดคัมภีร์ ๓ เรื่องๆละ ๑,๐๐๐ ฉบับ แล้วสั่งให้แจกจ่ายสิ่งของของท่านทั้งสิ้น ให้ช่างปั้นพระพุทธรูปบูชาที่พระที่นั่งเกียซิวเต้ย แสดงปัจฉิมโอวาทแก่บรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย

        ถึงวันที่ ๕ ค่ำ เดือน ๒ พ.ศ. ๑๒๐๗ เวลาเที่ยงคืนดับขันธ์ในท่าไสยาสน์สิริรวมอายุ ๖๕ ปีที่พระตำหนักอิ้วหัวกง เมื่อฮ่องเต้ถังเกาจงทรงทราบทรงสลดพระทัยไม่ว่าราชการหลายวัน ทรงตรัสว่า “ได้สิ้นแก้วอันมีค่าของประเทศไปดวงหนึ่ง”

 

        วันที่ ๑๔ ค่ำเดือน ๔ พ.ศ. ๑๒๐๗ ได้เคลื่อนศพไปฝังไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำซั้งเขตนครฉางอาน

 

        พ.ศ. ๑๒๑๒  ปีจงเจียงที่ ๒ วันที่ ๘ ค่ำเดือน ๔ ฮ่องเต้ถังเกาจงทรงสร้างวัดใหม่ คือบริเวณที่ราบสูงฝานฉวน คือวัดชิงเจี่ยวพร้อมด้วยพระสถูป รับสั่งให้เคลื่อนย้ายศพพระเสวียนจั้งไปฝังที่วัดชิงเจี่ยว ฉางอานเคานตี้ อยู่ทางทิศใต้ของซีอานในปัจจุบัน   พระสถูปที่สร้างนั้นเกิดพังลงมา จนถึง พ.ศ. ๑๓๗๑ สมัยฮ่องเต้ถังเหวินจง (หลี่อ๋อง) ปีต้าเหอที่ ๒ รับสั่งให้สร้างใหม่ เป็นอาคาร๕ ชั้นก่ออิฐ กว้าง ๕.๒ เมตร สูง ๒๑ เมตร ปรากฏมาจนถึงปัจจุบัน คงจะได้มีการขุดแต่งบูรณะหลุมศพของท่านด้วย ในปีพ.ศ. ๑๕๗๐ พระภิกษุกุ้ยจีพระอาวุโส ได้นำอัฐิของท่านไปบรรจุไว้ที่วัดจือเก๋อ บริเวณภูเขาจงหนาน พระภิกษุเค่อเจิ้งจากเมืองนานกิง ได้นำอัฐิกระโหลกของท่านไปบรรจุไว้ใต้เจดีย์วัดเทียนซี ต่อมาเจดีย์องค์นี้เกิดพังทะลายลง  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจึงไม่มีใครทราบว่าอัฐิกระโหลกของท่านอยู่ที่ใด

         ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๕ – ๒๔๘๖ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นบุกจีน ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ทหารญี่ปุ่นได้ขุดสนามเพลาะ บริเวณพระเจดีย์จิ่วหัวซาน ได้พบแผนที่การเดินทางไปอินเดียของพระเสวียนจั้งโดยสลักบนแผ่นหิน และพบกล่องสี่เหลี่ยมสลักหิน ข้างในเป็นกล่องทองเหลืองบรรจุอัฐิกระโหลกของท่าน นายทหารญี่ปุ่นจึงลำเลียงกลับไปประเทศญี่ปุ่น เมื่อนักข่าวหนังสือพิมพ์ทราบเรื่องนี้ต่างลงข่าวกันครึกโครม เพื่อบีบบังคับให้ญี่ปุ่นคืนอัฐิกลับไปจีน ทางญี่ปุ่นจึงประนีประนอมด้วยการแบ่งอัฐิครึ่งหนึ่งให้จีน ทางจีนจึงแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งบรรจุไว้ที่หอพระไตรปิฎกวัดหลิงกู่ เมืองนานกิง ซึ่งเป็นวัดที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระเสวียนจั้ง อีกส่วนหนึ่งนำไปบรรจุไว้ที่วัดจิ้งฉือ เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน สถานที่ท่านอุปสมบท ส่วนที่เหลือทางญี่ปุ่นได้มอบให้ไต้หวันในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ และมอบให้อินเดียในปีพ.ศ. ๒๔๙๙ ทางวัดยากุชิอิเมืองนาราในญี่ปุ่น กล่าวว่าได้เก็บอัฐิของพระเสวียนจั้งไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ เช่นกัน

         จดหมายเหตุราบงานการเดินทางไปประเทศอินเดียของพระเสวียนจั้ง เป็นผลงานที่มีประโยชน์มหาศาลต่อการศึกษาไม่ว่าจะเป็นทางศาสนา ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การท่องเที่ยวสมัยโบราณ ขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นต่างๆ เป็นบันทึกรายละเอียด ที่ผู้รู้จริงกระทำไว้ ท่านได้ผจญภัยตลอดเส้นทางไปกลับกว่า ๕๐,๐๐๐ ลี้ หรือ กว่า ๒๕,๐๐๐ กิโลเมตรในสมัยโบราณกว่า ๑๓๘๐ ปีมาแล้ว นับว่าท่านได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะอย่างสูงส่ง ยากที่คนธรรมดาจะกระทำได้ ท่านจึงเป็นแบบอย่างของการกระทำที่มุ่งมั่นไม่ท้อถอย ไม่หนีกลางคัน ท่านจึงเป็นผู้ที่สมควรคารวะไว้ชั่วนิจนิรันดร

 

 

 

              :   สมบูรณ์ แก่นตะเคียน  ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑

 

 

Title       :   Xuanzang

 

             :   Somboon Kantakian

 

 

Credits  :   Somboon Kantakian, 2004. 

 

 

 

Note     :   Xuanzang Statue, Da Ci'en Monastery, Xi'an, Shaanxi 2004.

 

 

            :   บางตำนานกล่าวว่า ท่านถือกำเนิดเมื่อ พ.ศ. ๑๑๔๕ ซึ่งท่านมีอายุรวม ๖๒ ปี แต่ในที่นี้ใช้หนังสือของนายเคงเหลียน สีบุนเรืองแปลจากภาษาจีนและเทียบเคียงภาษาอังกฤษ ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ว่า อายุ  ๖๕ ปี  ส่วนปีอื่นๆตรงกัน บางบทความยังไม่แน่ใจว่าเกิดในปีใด จึงใส่เครื่องหมายคำถามไว้ท้ายพ.ศ. ๑๑๔๕ แต่ส่วนใหญ่ใช้พ.ศ.  ๑๑๔๕ ที่ลอกตามกันมา รวมทั้งหนังสือแนะนำวัดต้าเฉียนด้วย

 แก้ไข : จากคำว่า ซำ เป็น ซัม  ๙ /๐๒/๖๓

 

บทความอื่นๆ ในหมวดเดียวกัน