|
พระจี้กงโจวซือ 道济禅师
พระจี้กง 濟公 หรือ พระเต้าจี้ฉานซือ 道济禅师, 道濟禪師 หรือพระจี้กงหัวฝัว 济公活佛, 濟公活佛 หรือ หัวฝัวซือจวิน เป็นพระสงฆ์ฝ่ายพุทธศาสนามหายานที่มีชื่อเสียงองค์หนึ่งสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ พระจี้กง เดิมเป็นคนตระกูลแซ่หลี่ ชื่อ เซ่ยเอวี๋ยน บางครั้งเรียก หูอิน หรือฝางเอวี๋ยน หลี่เซ่ยเอวี๋ยน 李修元 ถือกำเนิดจากครอบครัวขุนนางนายทหารคือ หลี่เหมาชุน เขาเกิดในช่วงที่บิดามารดามีอายุมากแล้วและคิดว่าคงจะไม่มีบุตรอีก ถือกำเนิดในปีพ.ศ.๑๖๗๓ ตรงกับรัชสมัยฮ่องเต้ซ่งเกาจง(จ้าวโก้ว) ผู้เป็นปฐมราชวงศ์ซ่งใต้ในปีจิ้งเอี๋ยนที่๔ หลังจากที่บิดามารดาถึงแก่กรรม หลี่เซ่ยเอวี๋ยนจึงเดินทางไปเมืองหางโจว ด้วยความที่เป็นคนนับถือพระพุทธศาสนามหายาน จึงเข้าไปสำนักอยู่ที่วัดหลิงอิน นิกายหลินจี้จง บริเวณเทือกเขาอู่หลินอยุ่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นวัดที่มีชื่อเสียงโด่งดังวัดหนึ่งของจีนวัดนี้ สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.๘๗๑ สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออกโดยพระสงฆ์ชาวอินเดีย ซื่อฮุยลี หลี่เซ่ยเอวี๋ยนจึงได้อุปสมบทเป็น พระภิกษุเต้าจี้ ท่านได้ศึกษาธรรมอย่างเคร่งครัดลึกซึ้ง ตลอดเจนการนั่งสมาธิวิปัสสนาธุระ จนสำเร็จไปชั้นหนึ่ง แต่ด้วยความที่ท่านได้ยึดถือเอาธรรมปฏิบัติแบบมหายาน ตามคำสอนขอพระพุทธองศ์ในช่วงปลายพระชนม์มาปฏิบัติ ทำให้ดูเหมือนว่าไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ พระเต้าจี้ จึงถูกนิมนต์ให้ออกจากวัดหลิงอิน ภิกษุเต้าจี้จึงธุดงค์ออกจากวัด ไปตามที่ต่าง ๆ ท่านได้สั่งสอนชาวบ้าน แต่สังฆปฏิบัติของท่านเพี้ยนไปจากพระสงฆ์รูปอื่นคือ ท่านฉันเนื้อซึ่งภิกษุทั้งหลายฉันเจ ท่านดื่มสุราโดยพกใส่ลูกน้ำเต้าสะพายไปไหน ๆ พร้อมกับถือพัดใบลานเก่า ๆ อันหนึ่งด้วยแต่ก็ยังสวมชุดพระสงฆ์สวมหมวกพระสงฆ์สวมรองเท้าผ้า ท่านจึงต้องกลายเป็นพระภิกษุภิกขาจารเร่ร่อนไปตามถนนตามตำบลต่าง ๆ ท่านได้สั่งสอนธรรมแก่ชาวบ้านแต่แฝงไว้ด้วย พลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์ในตัวท่าน ชาวบ้านต่างเชื่อว่าท่านเป็นพระโพธิสัตว์อวตาร ลงมาเกิดหรือเป็นพระสงฆ์ที่เคยสำเร็จญาณชั้นสูงมาแล้วจากชาติก่อน แต่ยังไม่ถึงขั้นสำเร็จขั้นอรหันต์ลงมาเกิด กล่าวกันว่า ท่านเป็นพระมหากัสสปผู้ฝึกมังกรให้เชื่องที่เรียกว่า เสียงหลงหลัวฮั่น จุติลงมาเกิดซึ่งเป็นหนึ่งองค์ใน ๑๘ อรหันต์ ต่อมาพระเต้าจี้ ได้เดินทางไปพำนักอยู่ที่วัดฮุยรื่อหยงหมิงซึ่งก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.๑๔๙๗ สมัยห้าราชวงศ์ ตรงกับรัชสมัยฮ่องเต้ไท่จวี่(โกวเวย) ในปีก่องซุ่นที่๔ แห่งราชวงศ์โฮ่วโจว เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระหยงหมิง วัดตั้งอยู่บนยอดเนินหนานหมิงฮุยรื่อ ถนนหนานปิงในปัจจุบัน ในช่วงที่พระเต้าจี้พำนักอยู่ที่วัดนี้ ทางวัดกำลังจะก่อสร้างอาคารธรรมศาลาขนาดใหญ่ขึ้น แต่ติดขัดด้วยไม้ที่จะชักลาภมาที่วัดผ่านทะเลสาบซีหู เมื่อท่อนซุงขนาดใหญ่มาลอยแพอยู่ฝั่งทะเลสาบ จำต้องชักลากไปที่วัดซึ่งไม่ไกลนัก แต่ติดขัดด้วยการชักลาก พระเต้าจี้จึงบอกบรรดาสงฆ์ว่า การชักลากท่อนซุงมาที่วัดเอาไว้เป็นธุระของท่านเอง ท่านจะจัดการให้ หมู่พระสงฆ์ก็ไม่ว่าอะไรเพราะเป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะทำ พอตกกลางคืนฝนฟ้าตกน้ำท่วมเอ่อบริเวณฝั่งทะเลสาปเสียงพายุฟ้าคะนองเกิดขึ้นในเช้าวันรุ่งขึ้น หมู่พระสงฆ์ต่างประหลาดใจในความอัศจรรย์ที่ได้เห็นท่อนซุงขนาดใหญ่ลอยขึ้นจากในบ่อน้ำหน้าวัด ต่างพากันดีใจ ช่วยกันชักลากออกจากบ่อ ทำให้บรรดาหมู่พระสงฆ์และญาติโยมต่างเคารพพระเต้าจี้มากขึ้น เล่าขานกันไปเป็นทอด ทำให้พระเต้าจี้มีชื่อเสียงในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ แต่ท่านก็ยังปฏิบัติตนเช่นเดิม จนถึงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๑๗๕๐ หรือวันที่๑๔ ค่ำ เดือน๕ พระเต้าจี้มรณภาพ ตรงกับรัชสมัยฮ่องเต้ซ่งหนิงจง(จ๋าวโก๋ว) ในปีไคสี่ที่๓ แห่งราชวงศ์ซ่งใต้ และ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่วัด จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดจี้กง หรือวัดจิ้งฉือในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้
ปัจจุบันบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ได้ทำศาลาครอบและแกะสลักรูปพระจี้กงด้วยหินหยกขาวประดิษฐานอยู่ตรงปากบ่อ คำสอนบางข้อของพระจี้กง ๑. ชีวิตย่อมเป็นไปตามวิถีแห่งกรรมที่ลิขิต ๒. วันนี้ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันพรุ่งนี้ ๓. ผ้าขาดปะชุนแล้วกันหนาวได้ ๔. ตายแล้วเอาอะไรไปไม่ได้สักอย่าง ๕. จองเวรจองกรรมเมื่อไรจะจบสิ้น ๖. ชีวิตเหมือนเกมหมากรุก ๗. ฮวงจุ้ยที่ดีอยู่ที่จิตมิใช่อยู่ที่ภูเขา ๘.ชีวิตลำเค็ญเพราะชาติก่อนไม่บำเพ็ญ ๙. พึ่งตนเองดีกว่าไปพึ่งผู้อื่น ๑๐. ทุกสิ่งจบสิ้นลงด้วยความตาย พระเต้าจี้ได้รับการศึกษาชีวิตและผลงานของท่าน ฝ่ายลัทธิเต๋าจึงยกย่องให้ท่านอยู่ในสวรรค์เป็นเทพเจ้าหรือเซียนองค์หนึ่ง และฝ่ายพระสงฆ์นิกายเซ็นต่างยกย่องท่านให้เป็นกง-อัน หรือกง ส่วนประชาชนทั่วไปในปัจจุบันได้ให้ความเคารพนับถือในคำสอนของท่าน บางกลุ่มได้ขอให้ท่านอำนวยโชคลาภในการเสี่ยงทาย เทพเจ้าแห่งการประพันธ์ เทพเจ้าแห่งจิตรกรรม เป็นต้น
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๑
Title : Ji Gong
: Somboon Kantakian Credits : Somboon Kantakian, 2007.
Note : พระจี้กงนั่งอยู่ปากบ่อลากซุง วัดจิ้งฉือ ที่เมืองหางโจว
พิมพ์ : คณาธิศ พหุพันธ์
ภาพวัดจิ้งฉือ เมืองหางโจว
***** |
|
|