|
พระเต่จงอ๋อง 地藏王
พระเต่จงอ๋อง 地藏王 หรือ พระตี้จ้างหวางผูซ่า地藏菩萨, 地藏王菩萨, 地藏菩薩, 地藏王菩薩 หรือพระกษิติครรภโพธิสัตว์ หรือ พระกสิตฏ์คัภพ์ หรือพระท้องดิน ( ท้องฟ้า ท้องน้ำ ) หรือพระจีโซโบซัตสุ 地藏, 地藏王菩薩 ตามภาษาญี่ปุ่น หรือพระมาลัยในเมืองไทย พระตี้จ้างยังไม่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ จึงยังเป็นพระโพธิสัตว์ ท่านกล่าวว่า ถ้านรกไม่ว่างเปล่า เราจะไม่บรรลุธรรมอันสูงสุด พระกษิติครรภเป็นองค์หนึ่งในสี่องค์ คือ พระสามันตระ พระมันจุศรีและพระอวโลกิเตศวร พระตี้จ้างนามเต็มว่า พระต้าเอวี้ยนตี้จ้างหวางผูซ่า大願地藏王菩薩, 大願地藏王菩萨 พระตี้จ้างมีตำนานหลากหลาย ทั้งของจีนและอินเดีย ด้วยท่านเป็นพระโพธิสัตว์ จึงเสด็จลงมาเสวยพระชาติในลักษณะแตกต่างกัน ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก รัชกาลฮ่องเต้ฮั่นหมิงตี้ ( หลิวเอี๋ยงหรือหลิวจวง ) ครองราชย์ระหว่างค.ศ. ๕๘ ๗๕ ชาวญี่ปุ่นและชาวเกาหลีต่างเดินทางมาสืบพระพุทธศาสนาในจีน ศึกษาพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน หลายคนได้บวชเป็นพระภิกษุแล้วเดินทางกลับประเทศไปเผยแผ่ศาสนา มีชาวเกาหลีคนหนึ่งชื่อ คิม เคียวขัก หรือ จินเชียวเจว ซึ่งมีฐานะเป็นองค์ชายแห่งสีละ บวชเป็นพระภิกษุแล้วธุดงค์เข้ามายังมณฑลอานฮุย พำนักอยู่บริเวณภูเขาจิ่วหัวซาน อำเภอชิงเอี๋ยง ด้วยการสร้างกุฏิหลังเล็กๆหลังหนึ่ง ฉายาท่านว่า ตี้จ้าง หรือ จีจาง บำเพ็ญเพียรอยู่ที่นั้น วันหนึ่งท่านออกไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน มีงูพิษตัวหนึ่งเลื้อยเข้าไปกัดเท้า ท่านหยุดอยู่กับที่ปล่อยให้งูเลื้อนผ่านเท้าออกไป หญิงชาวบ้านคนหนึ่งจึงนำยาแก้พิษงูมาให้ท่านจนหาย ต่อมามีครอบครัวเถ้าแก่ในตำบลเดินทางมาเที่ยวชมป่าเขาซึ่งมี เหวินเค่อเป็นหัวหน้าครอบครัว และเป็นเจ้าของที่ดินบริเวณภูเขานี้ด้วย เขาสังเกตเห็นว่าในบาตรว่างเปล่า กุฏิหลังก็เล็ก จึงเกิดศรัทธาอยากสร้างถวาย วันต่อมาจึงไปหาท่าน เรียนถามท่านว่า ถ้าจะสร้างวัด ท่านต้องการเนื้อที่สักเท่าไร ท่านตอบว่า ไม่มากหรอกโยม เพียงแค่เท่าผืนผ้าสบงของอาตมาเท่านั้น เถ้าแก่เหวินเค่อจึงถามท่านว่า แค่นั้นจะอยู่ได้อย่างไร ท่านจึงเอาสบงออกมาโยนขึ้นไปบนอากาศ ผ้าสบงก็กางแผ่ออกเป็นผืนผ้าขนาดใหญ่คลุมพื้นที่ภูเขาทั้งลูก ต่างสร้างความอัศจรรย์ใจให้แก่ผู้พบเห็นเป็นอันมาก เหวินเค่อจึงสร้างวัดที่นั้น พร้อมกับยกที่ดินภูเขาทั้งลูกให้ท่าน บุตรชายเหวินเค่อคนหนึ่งเกิดศรัทธาเข้าบวชเป็นพระสงฆ์และพำนักอยู่ที่วัดนั้น พระตี้จ้างอยู่ที่วัดจิ่วหัวซาน ๗๕ ปี และมรณภาพเมื่ออายุได้ ๙๙ ปี ภายหลังจากที่ท่านดับขันธ์แล้ว หลุมศพของท่านถูกเปิดออก ศพไม่เน่าเปื่อยแม้แต่น้อย ชาวบ้านต่างเชื่อว่า พระตี้จ้างก็คือปางหนึ่งของพระกษิติครรภนั่นเอง ศพของท่านก็ยังคงรักษาและคงสภาพอยู่เช่นนั้นจนถึงปัจจุบัน รูปพระตี้จ้างทรงจีวรแบบพระจีนทางภาคเหนือ นั่งบนดอกบัว มือซ้ายถือไข่มุก ศีรษะสวมมงกุฎ ๕ แฉกรวม ๕ ชิ้นต่อกันเข้า แต่ละแฉกมีรูปพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ มือขวาถือไม้เท้าที่เรียกว่า กักการะทำด้วยไม้ ที่ตรงปลายทำด้วยเหล็กทรงกลมหรือรูปโค้งงอ มีวงแหวน ๔ วง หรือ ๖ วง หรือ ๑๒ วง ซึ่งมีความหมายอยู่คือ ถ้าถือ ๔ วงหมายถึงพระรูปนั้นยึดเอาพระอริสัจจ์ ๔ เป็นสรณะ ถ้าเป็น ๖ วง หมายถึงพระโพธิสัตว์ถือเอาพระปรมิตระ๖ รูปพระตี้จ้างท่านถือ ๖ วง ถ้าเป็น ๑๒ วง หมายถึงพระรูปนั้นถือเอาพระทีขะพุทธเจ้าผู้รู้เหตุและผล ๑๒ ประการ ไม้เท้านี้ใช้สำหรับเวลาออกไปธุดงค์หรือโปรดสัตว์ เพื่อให้มีเสียงดังกรุ๋งกริ๋ง เหล่าบรรดาสัตว์เล็กสัตว์น้อยทั้งหลายจะได้หลีกทาง ท่านจะได้ไม่เหยียบเอา รวมทั้งบรรดาพุทธศาสนิกชนจะได้ออกมาทำบุญ ส่วนในญี่ปุ่นรูปพระจีโซโบซัตสุ มักยืนบนดอกบัวแสดงถึงการเตรียมพร้อมที่จะช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก มือซ้ายถือไข่มุกสีแดง มือขวาถือไม้เท้ากายสิทธิ์ที่สามารถเปิดนรกได้ ต่างถือกันว่าท่านเป็นผู้คุ้มครองผู้เดินทางบก ช่วยเหลือผู้หญิงที่ทำงาน ช่วยให้คนอายุยืนนาน ช่วยระวังอันตรายให้เด็กๆ ช่วยคุ้มครองบุตรที่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็ก และถือว่าท่านเป็นเทพเจ้าแห่งความตาย จากตำนานของพระตี้จ้างในอินเดียกล่าวว่า ก่อนที่ท่านจะเป็นพระโพธิสัตว์ ในช่วงที่เป็นมนุษย์ ได้ถือกำเนิดเป็นเด็กหญิงบิดามารดาเป็นพราหมณ์ มารดาจึงไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยและแสดงความรังเกียจอีกด้วย ซึ่งต่างจากบุตรสาวที่ยึดถือเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งและฝึกสมาธิ เมื่อมารดาสิ้นชีวิตจึงตกนรกถูกทรมานต่างๆ เธอทราบด้วยฌานจึงมีความสงสารมารดายิ่งนัก เธอกลัวต่อบาป จึงตั้งจิตอธิษฐานช่วยเหล่าบรรดาคนและสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากการทรมาน จึงขายสมบัติที่มีอยู่เอาไปทำบุญแล้วขอพรให้พระพุทธองค์ทรงช่วยเหลือ เธอจึงไปนั่งสมาธิที่วัดแห่งหนึ่งทันใดได้ยินเสียงให้บอกไปบ้านด่วน เธอจึงรีบกลับบ้านแล้วนั่งสมาธิเขียนนามพระพุทธองค์ลงในกระดาษ ถ้าหากอยากรู้ว่าขณะนี้มารดาอยู่ที่ใด เธอจึงทำตาม เมื่อจิตสงบเธอจึงถอดวิญญาณเดินทางไปนรก เมื่อไปถึงประตูนรก นายประตูบอกว่า ด้วยอานิสงค์ที่เธอสวดมนต์ทำบุญอุทิศส่วนบุญกุศลให้มารดานั้น บัดนี้มารดาได้หลุดพ้นจากการถูกทรมานขึ้นสวรรค์ไปแล้ว เธอดีใจมากที่ช่วยมารดาให้พ้นจากขุมนรก แล้วพระยายมราชจึงพาเธอไปดูนรกขุมต่างๆจนทั่วทั้งเมืองนรก เมื่อเธอขึ้นมายังโลกมนุษย์จึงตั้งใจที่จะช่วยให้สัตว์โลกทั้งหลายได้หลุดพ้นจากความทุกข์ในโลกนี้และโลกหน้าชั่วกัลป์ เมื่อสิ้นจากโลกไปแล้ว อีกชาติหนึ่งจึงเกิดใหม่ ฝ่ายพระกษิติครรภได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับเรื่องเด็กผู้หญิงคนนั้นว่าที่จริงก็คือ พระกษิติครรภในชาติปางก่อนนั่งเอง อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่า วันหนึ่งพระตี้จ้างได้ท่องนรกเพื่อจะดูว่ามารดาของท่านอยู่ที่ใด ได้รับความลำบากมากน้อยเพียงใด เมื่อไปถึงแดนนรก ก็ทราบว่ามารดาได้ไปกำเนิดในโลกมนุษย์แล้ว และเกิดเป็นสุนัขตัวเมียเพื่อชดใช้กรรมเก่า ดังนั้นบางภาพของท่านจะเห็นมีรูปสุนัขเดินเคียงข้างหรืออยู่ในภาพด้วย พระภิกษุชาวลังการูปหนึ่งชื่อพระมาลัย อาศัยอยู่ที่ตำบลกำโพชะ ท่านเข้าฌานสมาบัติ จนบรรลุธรรมชั้นสูง สามารถท่องนรกแดนปีศาจและสวรรค์ได้ ท่านได้ถอดวิญญาณลงไปเยี่ยมพระยายมราชเจ้านรก พระยายมได้นำท่านไปดูนรกขุมต่างๆ คือ ยันตปสาณนรก สีตะละนรก ธุสนรก ปิสสกปัพพตนรก แดนหอกดาบร่วงนรก แดนเครือหวาย แดนขี้เถ้า แดนหลุมคูถ แดนกระทะเหล็ก ดงต้นงิ้ว แดนนักโทษประหาร โลกันต์นรกหรืออเวจีนรก นรกมีแดนใหญ่ๆอยู่ ๘ แดน แต่ละแดนแยกเป็นแดนบริวารอีก ๑๖ แดน รวมแดนเล็กแดนใหญ่ ๑๓๖ แดน นอกจากนี้ยังมีแดนย่อยๆอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากเยี่ยมนรกแล้วพระมาลัยยังไปเยี่ยมแดนปีศาจซึ่งอยู่ในป่าหิมพานต์ มีหัวหน้าชื่อ มหิทธิกะ พระมาลัยยังได้ไปเยี่ยมเมืองสวรรค์ แดนดาวดึงส์ที่ลานจุฬามณี ไพชยนต์ปราสาทของพระอินทร์ สวรรค์มีหลายชั้น เช่น ยามา ดุสิต นิมมานนรดี ปรนิมมิตตสวัสดี ส่วนชั้นพรหมมีรูปพรหมและอรูปพรหม พระศรีอาริยเมตไตรย์ประทับอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต พระมาลัยได้เข้าพบพระศรีอาริยเมตไตรย์ ได้สนทนาธรรมและได้ถามถึงข้อปฏิบัติ ที่จะได้พบพระศรีอาริยเมตไตรย์ในภพหน้า พระตี้จ้างหรือพระเต่จงอ๋อง เช่นเดียวกับพระโพธิสัตว์องค์อื่นๆคือ มีหลายปางหลายรูปลักษณ์ เช่นพระตี้จ้างมี ๖ องค์ ผู้นำข่าวสารมี ๖ องค์ พระเหยินหมิงตี้จ้าง เป็นต้น พระเต่จงอ๋อง จึงเป็นพระสงฆ์ ผู้มีความเมตตากรุณาต่อสัตว์โลกทั้งปวง เป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ท่านแสดงออกถึงความมีเมตตาไม่ว่าจะเดินจะนั่ง กล่าวกันว่า ท่านมีเพชรนิลจินดาอยู่ที่ปลายไม้ที่ถืออยู่ ท่านเป็นเทพเจ้าแห่งนรก เป็นเทพเจ้าแห่งความตาย ชาวพุทธทั้งหลายจึงให้ความเคารพท่าน และสักการะท่าน โดยเฉพาะในวันแซยิด คือ วันที่ ๓๐ ค่ำ เดือน ๗
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๑
Title : Di Zang Wang Pu Sa
: Somboon Kantakian
Credits : Somboon Kantakian 5/08/2008
: เอื้อเฟื้อให้ถ่ายภาพจากร้านเจ๊หงส์ เลขที่ ๓๐๙/๔ ถนนระนอง เลยสี่แยกจุ้ยตุ่ย อ.เมือง ภูเก็ตโทร. ๐๗๖ ๒๕๖ ๒๗๒
|
|
|