|
พระสถูปศากยมุนี วัดฝอกง มณฑลซานซี 佛宫寺释迦塔
พระสถูปศากยมุนีแห่งวัดฝอกง ตั้งอยู่ที่อำเภออิง อยู่ห่างจากเมืองต้าถงลงไปทางทิศใต้ ๘๕ กิโลเมตร มณฑลซานซี พระสถูปองค์นี้ชาวบ้านเรียกขานกันว่า มู่ถะ 木塔 หรือสถูปไม้ องค์พระสถูปรูปทรงแปดเหลี่ยม ตั้งอยู่บนพื้นฐานหินสูงสี่เมตร รวมแล้วสูง ๖๗.๓๑ เมตร หรือ ๒๒๐.๘๓ ฟุต วัสดุก่อสร้างเป็นอาคารไม้ทั้งหลัง และเป็นสถูปเจดีย์ไม้ที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ในประเทศจีน เป็นสถาปัตยกรรมอาคารไม้ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในปีพ.ศ. ๒๕๕๖ ยูเนสโก ได้ประกาศให้เป็นมรดกโลกอีกแห่งหนึ่งในประเทศจีน ตัวองค์สถูป ตั้งอยู่ตรงกลางลานวัด ป่าวกง ต่อมาในปีพ.ศ. ๑๘๕๘ ได้เปลี่ยนชื่อจากวัดป่าวกงเป็น วัดฝอกง สมัยราชวงศ์หยวน ในสมัยราชวงศ์จิ้น พ.ศ. ๑๖๕๘ - ๑๗๗๗ ได้บันทึกไว้ว่า บริเวณวัดมีอาณาเขตกว้างขวางมาก ถึงสมัยราชวงศ์หมิง จึงได้ประกาศให้วัดนี้เป็นวัดของทางราชการ พระสถูปศากยมุนี เป็นสถูปเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม จากการบันทึกในสารานุกรมชื่อ กูจินทู่ซู่จีเฉิงสมัยราชวงศ์ชิง ฮ้องเต้คังซีและฮ่องเต้หย่งเจิ้ง กล่าวไว้ว่า สถูปสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๑๔๗๙ - ๑๔๘๖ ณ ที่นั้น ก่อนที่องค์ปัจจุบันจะสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. ๑๕๙๙ และจากเอกสารการบันทึกของมณฑลซานซี ได้บันทึกและได้ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญชื่อเทียนฮุ้ย สมัยฮ่องเต้ว่านลี่แห่งราชวงศ์หมิง ว่า สถูปได้รับงบประมาณและขยายให้ใหญ่ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๕๙๙ โดยมีพระสงฆ์มหายานชื่อ พระเทียน เป็นผู้ดำเนินการ จากประวัติของวัดได้บันทึกไว้ว่า ต่อมาได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์อีกในปีพ.ศ. ๑๗๓๘ และในปีพ.ศ. ๒๐๑๔ อย่างไรก็ตาม ได้มีนักวิชาการทดสอบไม้ที่สร้างว่าตั้งแต่ชั้นที่สองถึงชั้นที่ห้าได้สร้างตั้งแต่ พ.ศ. ๑๔๗๓ - ๑๕๒๓ โครงสร้างด้านสถาปัตยกรรมขององค์สถูป เป็นแบบสถาปัตยกรรมราชวงศ์เหลียว ด้วยการใช้ไม้ประกอบที่มีรูปแบบการเข้าไม้ที่แตกต่างกันกว่า ๕๔ แบบ ระเบียงที่ยื่นออกมาระหว่างชั้น ในแต่ละชั้นของตัวอาคาร มีแขนโครงไม้ยึดเอาไว้ภายนอก เมื่อมองจากภายนอกอาคารเหมือนมีเพียงห้าชั้น จากการมองเห็นชั้นของกันสาด มีทั้งหมดห้าชั้น ในแต่ละช่วงชั้นกันสาดมีสองชั้น ชั้นที่ติดกับกันสาด และมีชั้นหลังคา แต่ความจริงแล้วมีทั้งหมดเก้าชั้น อีกสี่ชั้นเหมือนกับซ่อนไว้มีโครงไม้ค้ำยันให้เห็นเท่านั้น ให้สังเกตชั้นต่างๆทั้งห้าชั้นมีระเบียงโดยรอบ ส่วนภายในปูพื้นประดิษฐานพระพุทธรูปในแต่ละชั้น รวม ๒๖ องค์ และมีพระสาวกและพระโพธิสัตว์ ด้านหน้ามีประตูหน้าต่างสามช่อง ส่วนด้านข้างทั้งสองมีหน้าต่างข้างละสี่ช่อง ชั้นล่างสุดมีเสากลมค้ำยันโดยรอบ ดูเหมือนกับเป็นเสากันสาด ที่มีไม้ค้ำยันหรือแขนนาง ส่วนภายในอาคารก็มีเสาเช่นเดียวกัน ตรงกลางชั้นล่าง เป็นห้องโถง ประดิษฐานพระศากยมุนีนั่งขัดสมาธิ สูง ๑๑ เมตร และดูเหมือนจะเป็นองค์ประธานของสถูป มีบันไดขึ้นชั้นสอง ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์สี่องค์ ชั้นที่สาม ประดิษฐานพระพุทธเจ้า ๕ องค์ โดยสี่องค์หันหลังให้กัน พระพักตร์หันไปทั้งสี่ทิศ ชั้นที่สี่ ประดิษฐานพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระโพธิสัตว์ ๔ องค์ พระสาวกอีก ๒ องค์ ชั้นที่ห้า ประดิษฐานพระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์อีก ๘ องค์ ในแต่ละชั้นนอกจากประดิษฐานพระพุทธรูปพระโพธิสัตว์พระสาวกแล้ว ยังมีพระไตรปิฎกและตำราต่างๆอีกด้วย คือในปีพ.ศ. ๒๕๑๗ ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์องค์สถูปอีกครั้ง ผู้เชี่ยวชาญได้พบพระไตรปิฎกสมัยราชวงศ์เหลียว รวม ๑๒ ผูก พิมพ์ด้วยตัวอักษรแกะแบบเป็นตัวๆในปีพ.ศ. ๑๕๔๖ ที่เมืองแหยนจิงหรือปักกิ่งในปัจจุบัน รวมทั้งการพิมพ์ตำราแบบบล็อกลงในกระดาษมีความยาวถึง ๓๓.๓ เมตร นอกจากนี้มีบันทึกด้วยลายมือตัวเขียนอีก ๘ ผูก ประการสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ผู้เชี่ยวชาญได้ค้นพบ พระธาตุ บรรจุไว้ในองค์พระพุทธรูปบนชั้นที่สี่อีกด้วย ในแต่ละชั้นมีเพดาน ที่แกะสลักรูปจ้าวจิงอย่างสวยงาม ตามคติว่าเป็นการป้องกันไฟไหม้อาคาร ช่องหน้าต่างทั้งแปดบานสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์เมืองอิง และสามารถเห็นภูเขาเหิงซานได้ชัดเจน ในช่วงที่อากาศโปร่งใส สามารถมองไปได้ไกลกว่าสามสิบกิโลเมตร จากบันทึกของอิงโจวจื่อ ว่า ได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นทั้งสิ้นเจ็ดครั้ง ระหว่างปีพ.ศ. ๑๕๙๙ - ๑๖๔๖ แต่ไม่ได้ทำให้สถูปองค์นี้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด และประวัติการก่อสร้างสถูปองค์นี้ จนถึงศตวรรษที่ ๒๐ ไม่จำเป็นต้องบูรณะใหญ่โตแต่อย่างใด เพียงแต่มีการซ่อมแซมเล็กๆน้อยๆเท่านั้น ในช่วงสมัยเกิดสงครามจีน - ญี่ปุ่นครั้งที่สอง ทหารญี่ปุ่นได้ระดมยิงปืนใส่รอบๆองค์สถูป เมื่อเสร็จสิ้นสงครามได้มีการซ่อมแซมองค์สถูปให้อยู่ในสภาพที่ดีดังเดิม รัฐบาลส่วนกลางได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการวิจัยดูแลอนุรักษ์ และบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งองค์พระสถูปและอาคารโดยรอบ ด้วยงบประมาณจากส่วนกลาง รัฐบาลส่วนท้องถิ่นมณฑลซานซี ได้ประกาศให้ซ่อมแซมให้เสร็จสิ้นในปีพ.ศ. ๒๕๕๔ และในปีพ.ศ. ๒๕๕๖ ยูเนสโกได้ประกาศให้เป็นมรดกโลกอีกแห่งหนึ่งของจีน พระสถูปศากยมุนีองค์นี้ จึงเป็น พุทธศาสนสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง ทั้งสถาปัตยกรรมตัวอาคารไม้ทั้งหลังที่เก่าแก่และสิ่งที่บรรจุอยู่ภายในพระสถูปองค์นี้ ปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๘) ทางวัดไม่อนุญาตให้ขึ้นไปชั้นบน เพราะด้วยความเก่าแก่ของไม้ เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าชม มองจากภายนอกอาคาร มีนกนางแอ่นบินเข้าออกชั้นบนสุดตลอดเวลา แสดงว่า นกนางแอ่นเข้าไปทำรังอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
:สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๒
***
ภาพประกอบ ถ่ายโดย ผศ.สมบูรณ์ แก่นตะเคียน
*****
|
|
|