|
ไช่หลุน 蔡伦
ไช่หลุน หรือไช่หลวน หรือฉั่วบุ๋น 蔡伦 ผู้ได้รับสมญานามว่า เป็นบิดาแห่งการผลิตกระดาษ ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ชนิดการผลิตที่สำคัญของโลกและของจีน คือ กระดาษ ดินดำสำหรับทำกระสุนปืน เข็มทิศ และการพิมพ์ ไช่หลุนถือกำเนิดที่เมืองกุ้ยหยาง ปัจจุบันคือ เหลยหยาง มณฑลหูหนาน เมื่อพ.ศ. ๕๙๓ ปีจอ ตรงกับสมัยฮ่องเต้ฮั่นกวงอู่ตี้ปีรัชกาลเจี้ยนอู่ที่ ๒๕ ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ระหว่างพ.ศ. ๕๖๘-๗๖๓ เขาชื่อ หลุน แซ่ไช่ หรือแซ่ฉั่ว๑ เป็น ไช่หลุน ชื่อตามแบบฉบับว่า จิงจง 敬仲 ในสมัยโบราณ การเขียนของจีนใช้ จารลงในกระดองเต่า กระดูกสัตว์ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซัง ราชวงศ์โจว ต่อมาได้ใช้ผ้าไหม หนังสัตว์ แล้วพัฒนามาใช้กระดาษ ได้มีการค้นพบเศษกระดาษจากการสำรวจของนักโบราณคดีที่เมืองตุนหวง พบกระดาษสมัยฮ่องเต้ฮั่นอู่ตี้ แห่งราชวงศ์ฮั่น ครองราชย์ระหว่างก่อนค.ศ. ๑๔๑ ๘๗ หรือร้อยปีเศษก่อนที่ไช่หลุนจะได้พัฒนาการทำกระดาษ ไช่หลุนคงมีความรู้ความสามารถในการทำกระดาษ เขาเริ่มรับราชการเป็นขันทีเมื่ออายุได้ ๒๕ ปี เมื่อพ.ศ. ๖๑๘ ในสมัยฮ่องเต้ฮั่นหมิงตี้ ซึ่งครองราชย์ระหว่างพ.ศ. ๖๐๑-๖๑๘ ได้รับหน้าที่ในการพัฒนาและผลิตกระดาษ ในราชสำนัก ซึ่งการทำกระดาษในราชสำนักได้พัฒนาเรื่อยมา สมัยฮ่องเต้ฮั่นจางตี้ ระหว่างพ.ศ. ๖๑๙ ๖๓๑ เขาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น เชี่ยวหวงเหมิน ฝ่ายเลขาธิการการผลิตกระดาษ สมัยฮ่องเต้ฮั่นเหอตี้ ระหว่างพ.ศ. ๖๓๒-๖๔๘ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น ซังฟ่างซื่อ หรือเลขาธิการฝ่ายการผลิตกระดาษรวมทั้งการควบคุมการผลิตและคุณภาพของกระดาษ และได้รับตำแหน่ง จงฉางซื่อ 中常侍 ในปีพ.ศ. ๖๓๒ อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ในปีพ.ศ. ๖๔๐ สมัยฮ่องเต้องค์นี้ในปีรัชกาลหย่งหยวนที่๙ เขาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้สูงขึ้นเป็น ซังฟ่างหลิง ในตำแหน่งเลขาธิการฝ่ายผลิตภัณฑ์และอาวุธ ในปีพ.ศ.๖๔๘ เขาได้รับความช่วยเหลือจากพระสนมเติ้งสุยในการผลิตกระดาษ โดยไช่หลุนได้พัฒนากระบวนการผลิตคือ เขาใช้เปลือกต้นหม่อน ต้นป่านปอ ผ้าเก่าที่ไม่ใช้แล้ว เชือกแหอวนเก่าๆ เอามาทุบ โขลก ป่น บดให้ละเอียด แล้วเอาไปใส่ในภาชนะหรือบ่อถังเกรอะ เติมปูนขาว แล้วกวนจนทำให้วัสดุเหล่านั้นเป็นเนื้อเดียวกัน เอากรอบไม้สี่เหลี่ยมที่มีพื้นหลังขึงด้วยผ้าบางหรือไม้ไผ่ขัดแตะแบบละเอียดถี่ยิบ เอาลงไปจุ่มในน้ำที่กวนได้ที่ แล้วยกขึ้น เศษตะกอนก็จะติดบนพื้นแผง เอาไปผึ่งลม ตากแดด จนแห้งสนิทดีแล้วแกะออกมาเป็นแผ่น ตามขนาดของกรอบ เมื่อได้แผ่นกระดาษมาแล้วเอาไปขัดผิวให้เรียบ เคลือบด้วยวัสดุ จนเป็นกระดาษที่แข็งไม่ยุ่ยและมีคุณภาพกว่ากระดาษที่เคยทำกันมาแต่ก่อน ในปีพ.ศ. ๖๔๘ เขาจึงนำกระดาษที่ผลิตได้ถวายฮ่องเต้ฮั่นเหอตี้ให้ทอดพระเนตร ในปีหย่งหยวนที่๑๗ พระองค์ทรงพอพระทัยมาก ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ โหว 侯 ( เทียบได้กับเจ้าพระยา )จนผู้คนเรียกขานกันติดปากว่า กระดาษไช่โหว วิธีการทำกระดาษแบบนี้ ชาวบ้านทั่วไปสามารถทำได้ เป็นการลดวัสดุการเขียนดั้งเดิมลง คือ แผ่นไม้ไผ่เหลาให้เรียบตัดขนาดยาวตามที่ต้องการแล้วเอาเชือกมาร้อยม้วน ใช้เขียนหนังสือมาแต่เดิม แต่ค่อนข้างหนักเวลายกมาอ่าน ส่วนผ้าไหมที่เอามาเขียนหนังสือ ราคาค่อนข้างแพง ดังนั้นวิธีการทำกระดาษของไช่หลุนจึงประหยัด ทำได้ง่าย ชาวบ้านทำได้และเป็นที่นิยมทำกันมาก ในเรื่องส่วนตัวเขา ได้เกิดคดีความขึ้นในราชสำนัก ด้วยเขาสนับสนุนพระนางฮองไทเฮา เขามีส่วนพัวพันกับการถึงแก่กรรมของพระสนมแซ่ซ่ง ต่อมาเขาได้รับการสนับสนุนจากพระนางเติ้งสุยฮองเฮา ทำให้คดีความของเขารอดไปได้ ในช่วงสมัยของฮ่องเต้ฮั่นอันตี้ ซึ่งครองราชย์ระหว่างพ.ศ. ๖๔๙ - ๖๖๘ ผู้เป็นหลานของพระสนมแซ่ซ่ง ยังทรงเกรงพระทัยเติ้งสุยฮองไทเฮาอยู่ เมื่อพระนางสิ้นพระชนม์ลง พระองค์จึงทรงกวาดล้างฝ่ายตรงกันข้ามรวมทั้งไช่หลุนด้วย ในคืนนั้น ไช่หลุนจัดการอาบน้ำแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าไหม แล้วดึ่มยาพิษฆ่าตัวตาย เมื่อพ.ศ. ๖๖๔ เป็นปีรัชกาลหย่งหนิงที่๒ หรือปีเจี้ยงกวงที่๑ รวมอายุได้ ๗๑ ปี ตรงกับปีระกา เฟยจู นักบันทึกประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ซ่งได้กล่าวถึงไช่หลุนเกี่ยวกับเป็นผู้คิดค้นทำกระดาษ แทนการใช้ไม้ไผ่ที่หนักและแทนผ้าไหมที่ค่อนข้างแพง นอกจากนี้ได้มีการสร้างศาลเจ้าไช่หลุนที่เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน เพื่อระลึกถึงคุณความดีของเขา เมื่อถึงวันสำคัญของเขา เหล่าบรรดาพ่อค้าทำกระดาษขายกระดาษ ต่างพากันไปเซ่นไหว้ที่ศาลเจ้าไช่หลุนกันทุกปี
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๓
: Cai Lun 蔡伦
: Somboon Kantakian
Note
๑ แซ่ไช่ หรือ แซ่ฉั่ว 蔡 มีอีกคำหนึ่งที่อ่านออกเสียงใกล้กัน คือ แซ่ไฉหรือไช่ ฉั่ว คือ 柴 ผู้ใช้คือ ฮ่องเต้โจวซื่อจง พระนามและแซ่เดิมคือ ไฉหยง 柴榮
|
|
|