|
ฮัวโต๋ว 華佗
ฮัวโต๋ว 華佗 ได้ชื่อว่าเป็น หมอเทวดา หรือ เสินอิ๊ 神醫 ท่านหนึ่งในสมัยโบราณ ในทางการแพทย์แผนจีน ได้ยกย่องให้ท่านเป็น บิดาแห่งแพทย์ทางศัลยกรรม และยังได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งการศัลยกรรมเป็นคนแรกของโลก ส่วนทางฝ่ายลัทธิเต๋า ได้ยกย่องให้เป็นเทวดาแห่งการแพทย์แผนจีน เรียกว่า ฮัวโต๋วไจ้ซื่อ 華佗再世 และถือว่าท่านเป็นเทพเซียนองค์หนึ่ง และเป็นที่รู้จักกันอีกนามหนึ่งคือ ฮัวฟุ 華尃 ท่านมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการรักษาโรคภายในร่างกาย การศัลยกรรม นรีเวชศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์ การฝังเข็ม กายภาพบำบัด ท่านมีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและสมัยสามก๊ก ท่านเคยปฏิเสธตำแหน่ง ไท่เว่ย เมื่อ เฉินกุ้ย ผู้ว่าราชการรัฐเป้ยมอบให้
หมอฮัวโต๋ว ชื่อ โต๋ว แซ่ฮัว นามรองว่า หยวนฮั่ว 元化 ถือกำเนิดที่เมืองเฉียว 譙 แห่งนครรัฐเป้ย 沛 ปัจจุบันคือเมือง ปั๋วโจว มณฑลอานฮุย ในครอบครัวแซ่ฮัว ส่วนปีเกิดและปีถึงแก่กรรมได้มีการกล่าวไว้แตกต่างกัน คือ บางตำนานว่าถือกำเนิดปีค.ศ. ๑๔๕ ถึงแก่กรรมค.ศ. ๒๐๕ รวมอายุ ๖๐ ปี บางตำนานว่ากำเนิดค.ศ. ๑๑๐ ถึงแก่กรรม ค.ศ. ๒๐๗ รวมอายุ ๙๗ ปี แต่บางตำนานว่าถึงแก่กรรม ค.ศ. ๒๐๘ ถ้าหากกำเนิดค.ศ. ๑๔๕ จะตรงกับรัชสมัยฮ่องเต้ฮั่นจงตี้ 汉冲帝 (หลิวปิ๋ง 刘炳 ) แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ถึงแก่กรรมค.ศ. ๒๐๕ ตรงกับรัชสมัยฮ่องเต้ฮั่นเฉวี้ยนตี้ 汉献帝 (หลิวเฉ๋ะ 刘协) ปีรัชกาลที่ ๑๖ แต่ถ้ากำเนิดเมื่อค.ศ. ๑๑๐ จะตรงกับรัชสมัยฮ่องเต้ฮั่นอานตี้ 汉安帝 (หลิวหู้ 刘祜 ) ปีรัชกาลที่ ๕ ถึงแก่กรรมค.ศ. ๒๐๗ หรือ ค.ศ. ๒๐๘ ตรงกับรัชสมัยฮ่องเต้ฮั่นอานตี้ ในปีรัชกาลที่ ๑๘ และ ๑๙ แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก อย่างไรก็ตาม ได้มีการสรุปว่าระหว่างค.ศ. ๑๑๐ - ๒๐๗ กล่าวกันว่า ใบหน้าและร่างกายของท่านขณะที่อายุมากแปดสิบเก้าสิบปีแล้ว ยังดูหนุ่มแข็งแรง
แต่ด้วยสาเหตุที่บิดาได้ถึงแก่กรรมเมื่อเขาอายุเพียง ๗ ขวบ ครอบครัวจึงยากจนลง มารดาจึงต้องให้เขาออกไปหางานทำ เขาจึงเดินทางด้วยระยะทางหลายร้อยกิโลเมตรไปยังเมืองซูโจว มณฑลเจียงซู เพื่อหางานทำและเรียนไปด้วย เขาโชคดีได้ทำงานและเรียนวิชาแพทย์แผนจีนไปด้วยกับหมอแซ่ไช่ผู้มีชื่อเสียงในสมัยนั้นที่เมืองซูโจว ด้วยความวิริยะอุตสาหะในการเรียนทั้งทางตำราและเป็นหมอฝึกหัด ตลอดจนวิชากายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาของคน จนทำให้เขาเกิดความชำนาญในการรักษาโรคด้วยการฝังเข็ม การผ่าตัด การรมยา กายภาพบำบัด นรีเวชศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์ แต่เขาก็ไม่ได้ทิ้งวิชา วรรณกรรมจีน พิธีกรรม ประวัติศาสตร์ ตำราพิชัยสงคราม ลัทธิขงจื่อ ลัทธิเต๋า ประมวลกฎหมาย ภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ เกษตรศาสตร์ เป็นต้น และด้วยภาพที่ได้พบเห็นผู้คนล้มตายด้วยโรคระบาดเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการอดอยากจนตาย การได้รับบาดเจ็บจากภัยสงคราม เขาจึงมีความคิดเห็นต่างจากเด็กหนุ่มคนอื่นที่มุ่งที่จะรับราชการ เขาไม่สนใจที่จะรับราชการเป็นขุนนาง แต่ต้องการเป็นหมอรักษาคนไข้ จนเขามีความรู้และภาคปฏิบัติอย่างลึกซึ้งและเชี่ยวชาญคนหนึ่ง
การรักษาผู้ป่วย
เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า หมอฮัวโต๋วเป็นคนแรกในประเทศจีนที่ใช้วิธีการทำให้บริเวณที่จะทำการผ่าตัดให้ชาเสียก่อน โดยเขาใช้สุราผสมกับสมุนไพรบางชนิด เขายังมีความเชี่ยวชาญในการฝังเข็มหรือแทงเข็ม การรมยา การใช้สมุนไพร รวมทั้งได้พัฒนาการแสดงลีลาการเคลื่อนไหวของสัตว์ห้าชนิด 五禽戲 คือ เสือ กวาง หมี ลิง และ นกกระเรียน เพื่อดัดแปลงท่าทางเคลื่อนไหวเหล่านั้นมาใช้ในการกายภาพบำบัด โดยเฉพาะบริเวณฝ่าเท้าและเท้า ต่อมาก็คือการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพแบบเต้าหยิน หรือจี้กง หรือ ท่ากังฟูที่ได้พัฒนามาจากสัตว์ทั้งห้า ซึ่งชนรุ่นหลังได้พัฒนาท่าสัตว์ต่างๆอีกจำนวนมาก การฝังเข็มเมื่อเขาทำการรักษาผู้ป่วย เขาจะใช้เพียง หนึ่งหรือสองจุดเท่านั้น พร้อมกับบอกคนไข้ว่าเขากำลังแทงเข็มแล้วนะ เมื่อแทงเข็มถึงจุดที่เจ็บปวดที่ต้องรักษาขอให้บอกหมอด้วย แล้วหมอจะถอนเข็มออก ผู้ป่วยก็จะทุเลาความเจ็บป่วยด้วยโรคดังกล่าว ในตำราการฝังเข็ม ได้นำชื่อของฮัวโต๋วมาใช้เรียกชื่อจุดแทงเข็มที่เรียกว่า ฮัวโต๋วเจี้ยจี๋ (E.M.32) 華佗夹脊 สำหรับใช้รักษาโรคทั่วไป เช่น ไขสันหลังอักเสบ โรคบริเวณศีรษะ โรคบริเวณคอ โรคบริเวณทรวงอก โรคบริเวณท้อง โรคบริเวณเอว โรคเกี่ยวกับอวัยวะเพศ เช่น กามตายด้าน ปัสสาวะขัด หรือไหลไม่รู้ตัว และระบบขับถ่าย การรักษาบางโรค ที่ไม่สามารถจะใช้วิธีแทงเข็มแบบธรรมดาหรือใช้ยาให้ได้ผลถึงตัวโรค หมอฮัวโต๋วจึงต้องให้ผู้ป่วยดึ่มน้ำผสมฝิ่น แบบวางยาสลบ แล้วจึงทำการผ่าตัด แล้วเย็บแผลและใช้ยาสมานแผล ประมาณสี่ห้าวันผู้ป่วยก็ทุเลา และหายป่วย การรมยา เขาจะจุดไฟเพียงจุดหรือสองจุดเท่านั้น ในแต่ละจุดเขาจะใช้จี้เพียงเจ็ดหรือแปดครั้ง ซึ่งเชื้อโรคจะถูกขับออกมา หรือมีปฏิกิริยา การเจียดยาสมุนไพรของเขา กล่าวกันว่า เขาไม่ได้ใช้ตราชั่ง แต่ใช้วิธีกะจำนวนเอาว่า ในแต่ละโรคจะต้องใช้สมุนไพรอะไร จำนวนเท่าไร ครั้งหนึ่งหมอต้องรักษาผู้ป่วยคนหนึ่งคือ ผู้ว่าราชการเมืองกวงหลิง ชื่อ เฉินเติ้ง เป็นโรคซึมเศร้าเจ็บปวดในทรวงอกหายใจไม่คล่อง หมอจึงบองแมะที่ข้อมือแล้วบอกว่า ในท้องมีตัวพยาธิจำนวนมาก ที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เพราะผู้ป่วยชอบกินปลาดิบ เขาจึงต้มยาให้ผู้ว่าราชการรับประทานสองครั้ง ปรากฏว่า ผู้ว่าเฉินเติ้งอาเจียนเอาตัวพยาธิออกมา คล้ายเส้นหมี่เหลือง เฉินซูซานแห่งเมืองตงหยาง บุตรชายอายุสองขวบป่วยกระเสาะกระแสะ หมอฮัวโต๋วบอกว่า ในช่วงที่มารดากำลังตั้งท้อง บุตรในครรภ์ได้รับน้ำนมอาหารที่ไม่ดีจากมารดา ซึ่งรักษายาก หมอจึงสั่งยาเม็ดให้เด็กกินเพียงสิบวันอาการก็หาย เหม่ยผิง นายทหารป่วยหนักจึงต้องพักราชการส่งตัวกลับเมืองกวงหลิง ก่อนถึงบ้าน เขาพักบ้านญาติระหว่างทางที่หมู่บ้าน ญาติจึงไปตามหมอฮัวโต๋วให้มาตรวจโรค หมอบอกว่า หากเขาพบผู้ป่วยรายนี้ก่อนหน้านี้ เขาจะไม่เป็นอะไร ตอนนี้อาการหนักมาก ขอให้รีบกลับบ้านไปเยี่ยมครอบครัว ผู้ป่วยจะอยู่เพียงห้าวันก็ตาย และเป็นจริงตามที่เขาทำนาย จากตำนานเรื่องสามก๊กได้กล่าวถึงฮัวโต๋วว่า ครั้งหนึ่ง กวนอูถูกศรอาบยาพิษในสงครามที่ฟ่านเฉิง ปักเข้าตรงแขน ฮัวโต๋วจัดการรักษาด้วยการใช้ยาชา แต่กวนอูไม่กลัวความเจ็บปวด ฮัวโต๋วจึงใช้มีดผ่าตัดเฉือนเนื้อร้ายที่ต้นแขนบริเวณถูกพิษ แล่เนื้อจนถึงกระดูกแขน แล้วขูดเอาพิษร้ายออก ในขณะที่กวนอูเล่นหมากโกะอยู่กับหม่าเหลียง โดยไม่สะทกสะท้านแสดงอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด เมื่อเสร็จสิ้นการผ่าตัด กวนอูจัดการให้ทองคำและข้าวของแก่ฮัวโต๋ว แต่เขาไม่รับ อ้างว่าหมอมีหน้าที่รักษาคนไข้ ฝ่ายโจโฉเป็นโรคปวดศีรษะอย่างรุนแรง ทำให้เขาวิงเวียนสับสน ซึ่งต้องใช้วิธีแทงเข็มในการรักษา จึงให้ขุนนางไปตามฮัวโต๋วแบบบังคับให้มารักษาและให้เป็นหมอประจำตัว ทำให้ฮัวโต๋วเคือง เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการรักษาโจโฉ เขาจึงมีหนังสือไปขอโทษที่ไปรักษาไม่ได้เพราะภรรยาป่วยหนัก แต่โจโฉรู้ทัน จึงสั่งทหารให้ไปจับฆ่าเสีย ฮัวโต๋วจึงหนีออกจากเมืองไปหลายปี ต่อมาเขากลับมาบ้าน ส่วนภรรยาของเขาเกิดป่วยจริง ฝ่ายโจโฉมีหมายรับสั่งไปหลายครั้งให้กลับไปรักษาตน พร้อมอ้างรับสั่งของฮ่องเต้ และมีรับสั่งไปถึงเจ้าเมืองให้นำตัวฮัวโต๋วกลับมาให้ได้ แต่ฮัวโต๋วก็ผัดวันประกันพรุ่ง จนโจโฉโกรธมาก สั่งทหารให้ไปจับมาสอบสวน เขารับผิด จึงถูกส่งเข้าคุก ขณะที่อยู่ในคุกเพื่อรอการประหาร เขาจึงเขียนตำราการรักษาโรคลงบนม้วนหนังสัตว์ แต่ตำราตัวจริงให้คนเผาทิ้งไปเสีย แล้วมอบให้ผู้คุม แต่ผู้คุมกลัวภัยที่จะมาถึงตน จึงไม่รับ ตำราม้วนนี้จึงถูกเผาไป ตำราที่เขียนในคุกเรียกว่า ชิงหนางซู ว่าด้วยการรักษาคนป่วย เขามอบให้ผู้คุม แต่ผู้คุมเอาไปเผาเสีย บางตำนานว่าภรรยาของเขาเผาเสียเพื่อไม่ให้ไปรักษาใคร บางตำนานกล่าวว่า โจโฉสั่งให้เก็บตำราของฮัวโต๋วเผาให้หมดด้วยความโกรธที่ตามให้มารักษาตนแล้วถูกปฏิเสธตลอด ดังนั้นตำราการรักษาผู้ป่วยของฮัวโต๋วจึงสูญหายไป หลังจากที่ฮัวโต๋วถูกประหารชีวิต ไม่นาน โจฉองหลานของโจโฉเกิดป่วย ทำให้โจโฉคิดขึ้นมาได้ที่ฆ่าหมอฮัวโต๋วไป จึงเสียใจ โดยส่วนตัวโจโฉเองความเจ็บป่วยด้วยโรคปวดหัวเรื้อรังก็ยังเกาะกินตัวเองอยู่ เขารำพึงว่า ฮัวโต๋วน่าจะรักษาตน ต่อมาบุตรชายคือเสียงซูเกิดป่วยขึ้นมา เขากลับเสียใจอีกครั้งที่ฆ่าฮัวโต๋วเสีย ทำให้บุตรชายต้องมาตายด้วยความคิดหลงในตัวเอง อย่างไรก็ตาม หมอฮัวโต๋วมีศิษย์อยู่สองคน คือ อุ๋ผู 吳普 พื้นเพเป็นชาวเมือง กวงหลิง อีกคนหนึ่งชื่อ ฟ่านอ๊ะ 樊阿 เป็นชาวเมืองเผิงเฉิง ทั้งสองคนได้ศึกษาและทำการรักษาแบบเดียวกับหมอฮัวโต๋ว ทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคภัยไข้เจ็บเป็นจำนวนมาก จากตำนานกล่าวว่า วันหนึ่ง ฟ่านอ๊ะ ได้ถามหมอฮัวโต๋วเกี่ยวกับส่วนประกอบของตัวยาที่จะช่วยรักษาสุขภาพของคน หมอฮัวโต๋วได้แนะนำเขาเกี่ยวกับการทำยาผง ด้วยการเอาใบไม้สมุนไพรที่ใช้สำหรับขัดเงามาบดเข้ากับหญ้าสมุนไพรชนิดหนึ่ง (herbe de flacq) เมื่อผู้ป่วยรับประทานไปนานๆจะทำให้ตัวพยาธิไส้เดือนออกมา ร่างกายก็จะกระปรี้กระเปร่า และป้องกันผมหงอกได้ดี กล่าวกันว่า ฟ่านอ๊ะ มีความเชี่ยวชาญในการฝังเข็ม ด้วยการแทงเข็มเข้าไปในส่วนลึกของร่างกาย เกี่ยวกับชื่อของเขา มีนักการศึกษาท่านหนึ่งกล่าวว่า เขาไม่ใช่เป็นคนจีนฮั่น แต่เป็นคนต่างชาติ เพราะบริเวณตำบลเผิงเฉิง เมืองทงซาน มณฑลเจียงซู ดั้งเดิมเป็นที่อาศัยของคนต่างชาติและเป็นเมืองที่พุทธศาสนาฝ่ายมหายานมาเผยแผ่และประดิษฐานครั้งแรก หมอฮัวโต๋ว จึงเป็นบุคคลสำคัญในทางประวัติศาสตร์การแพทย์ของจีนและของโลกอีกท่านหนึ่ง ศาลเจ้าจีนบางแห่งจึงมีรูปแกะสลักของท่านเพื่อเคารพในฐานะที่เป็นเทพเจ้าแห่งการแพทย์แผนจีน หรือเป็นเซียนแห่งการแพทย์แผนจีนองค์หนึ่ง : สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๔ : Hua Tuo 華佗 : Somboon Kantakian
ภาพประกอบ
|
|
|