|
จางซื่อเจ๊ะ 張世傑
จางซื่อเจ๊ะ หรือ เตียวเส้เก๊ก 張世傑 ผู้เป็นหนึ่งในสามวีรบุรุษแห่งราชวงศ์ซ่งใต้ 宋末 三 杰 หรือเป็นที่รู้จักในชื่อว่า ไต่ซ้องซำตองอ๋อง 大宋三忠王 ส่วนอีกสองท่านคือ เหวินเทียนเสียง หรือ บุ๋นเทียนเสียง 文天祥 และลกสิ่วหู้ หรือ ลู่เชี่ยวฟุ 陆秀夫 จางซื่อเจ๊ะ ถือกำเนิดเมื่อพ.ศ. ๑๗๖๐ ปีฉลู ที่ตำบลจ้าวฟ่านหยาง ปัจจุบันคืออำเภอจัวเสี้ยน ในมณฑลเหอเป่ย จากครอบครัวแซ่จางหรือแซ่เตียว ที่มีฐานะดี ซึ่งขณะนั้นเมืองนี้อยู่ในความครอบครองของอาณาจักรจินกิมก๊ก ในสมัยเด็กจางมีความสนใจในการใช้อาวุธ เขาจึงต้องเรียนรู้เกี่ยวกับตำราพิชัยสงครามและยุทธวิธีในการรบ ตลอดจนการฝึกฝนตนเองจนชำนาญในเพลงอาวุธในวัยหนุ่ม ต่อมาบิดาถูกกล่าวโทษ ครอบครัวจึงอพยพลงใต้ไปอยู่ในอาณาจักรซ่งใต้ จางจึงเข้าสมัครสอบแข่งขันฝ่ายบู๊เพื่อรับราชการทหาร และเขาสอบผ่าน จางจึงเริ่มรับราชการตั้งแต่สมัยฮ่องเต้ซ่งหลี่กง (จ้าวอวิ๋น) ด้วยเหตุที่อาณาจักรซ่งใต้ เป็นที่ราบลุ่มมีแม่น้ำลำคลองมากมายและติดทะเล จึงจำเป็นต้องสร้างกองทัพเรือ สร้างเรือรบ สร้างท่าเทียบเรือ อู่ต่อเรือ เพิ่มมากขึ้น และกำลังเกิดสงครามกับมองโกล กองทัพเรือจึงมีความจำเป็นมาก ด้วยเหตุนี้ จางซื่อเจ๊ะจึงได้รับคำสั่งให้ไปประจำที่กองทัพเรือ ซึ่งต้องเรียนรู้ยุทธวิธีทั้งบนบกและทางน้ำ เมื่อมองโกลเริ่มเปิดฉากโจมตีห้วเมืองตามลุ่มแม่น้ำทางเหนือเรื่อยลงมาจนถึงลุ่มแม่น้ำแยงซี ด้วยหวังที่จะเข้ายึดเมืองหลวงหลินอาน (หางโจว) แต่ฝ่ายซ่งก็มีเมืองป้อมปราการหน้าด่านที่สำคัญอยู่สองเมือง คือ เมืองเซียนหยางกับเมืองฝานเฉิง ริมฝั่งแม่น้ำฮั่นที่ไหลบรรจบสู่แม่น้ำแยงซีที่เมืองอู่ฮั่น มองโกลจึงต้องปรับปรุงกองทัพด้วยการเพิ่มกองทัพเรือ หาคนด้วยวิธีการเอานายทหารซ่งที่แปรพักตร์ เข้าไปชี้แนะยุทธวิธีที่จะเข้ายึดเมืองหลวง รวมทั้งได้ขอความช่วยเหลือจากชาติตะวันออกกลางขอผู้เชี่ยวชาญอาวุธสมัยใหม่มาใช้ จ้างนายทหารชาติตุรกีมาเป็นแม่ทัพคือ นายพลป๋อเอี๋ยน ฝ่ายซ่งใต้เปลี่ยนรัชกาลเป็นฮ่องเต้ซ่งตู้กง (จ้าวเมิ่งฉี) เมื่อพ.ศ. ๑๘๐๗ ที่ทรงอยู่ภายใต้อิทธิพลของนายพลเจี่ยซื่อเต้า๑ ผู้เป็นเอกอัครมหาเสนาบดี ที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งด้วยเส้นสายน้องสาว คือพระนางเจี่ย เขาไม่มีความรู้พอที่จะช่วยบริหารบ้านเมืองกลับเกรงกลัวข้าศึก เอาใจออกหาก เป็นไส้ศึก กลั่นแกล้งนายพลที่รักษาเมืองทั้งสองและหัวเมืองที่สำคัญ จนพวกเขาหันหน้าไปพึ่งศัตรู ถึง พ.ศ. ๑๘๑๐ กองทัพมองโกลจึงยกประชิดเมืองเซียนหยางและฝานเฉิง ใชแวลารุกรบอยู่จนถึงพ.ศ. ๑๘๑๖ เมืองหน้าด่านสำคัญก็แตก ทำให้มองโกลควบคุมทางน้ำได้ ตัดการลำเลียงเสบียงอาหารที่จะส่งไปเมืองหลวง บังเอิญในปีเดียวกันนี้ ฮ่องเต้ซ่งตู้กงเสด็จสวรรคตกระทันหัน พวกขุนนางจึงยกองค์ชายจ้าวเสี่ยนพรรษา ๔ ขวบขึ้นเป็นฮ่องเต้ซ่งกงตี้ โดยมีพระนางเจี่ยไท่โฮ่วผู้เป็นย่า และพระนางเฉวียนไท่โฮ่วพระมารดาว่าราชการแทน ฝ่ายฮ่องเต้กุไบลข่านรับสั่งให้นายพลป่อเอี๋ยนยกทัพเข้าตีเมืองหลวงทันทีด้วยกำลังพล ๒ แสน ในปีพ.ศ. ๑๘๑๘ ข้างเมืองหลวง นายพลเจี่ยซื่อเต้า ด้วยความจำใจจึงยกกองทัพด้วยรี้พลแสนสามหมื่นออกไปต้านทัพข้าศึก ปรากฏว่าแพ้ยับเยินที่เมืองนานกิงและเมืองซูโจว จึงถอยทัพกลับเมืองหลวง ทางราชสำนักจึงปลดเขาออกทุกตำแหน่ง แล้วเนรเทศไปกว่างตง ขณะเดินทาง เขาถูกนายทหารที่ติดตามฆ่าตาย ภายในเมืองหลวง พวกขุนนางผู้ใหญ่ต่างแตกความคิดเป็นสองพวก พวกหนึ่งยอมแพ้มองโกล ยอมทำสัญญาเป็นไมตรี อีกพวกหนึ่งขอสู้ตายซึ่งก็คือกลุ่มของเหวินเทียนเสียง จางซื่อเจ๊ะและลู่เชี่ยวฟุ ในปีพ.ศ. ๑๘๑๙ พระนางเจี่ยไท่โฮ่วจึงจำเป็นทรงตัดสินพระทัย ทรงส่งเหวินเทียนเสียงให้ไปเจรจาสงบศึกกับนายพลป๋อเอี๋ยน แต่เกิดปะทะคารมกันขึ้นเหวินถูกกักขัง พระนางเจี่ยจึงส่งคนไปเจรจาใหม่ นายพลจึงยอม ฝ่ายที่ไม่ยอมแพ้ นายพลจางซื่อเจ๊ะ ลู่เชี่ยวฟุ จึงทูลเชิญองค์ชายน้อยๆ คือ องค์ชายจ้าวซื่อพระเชษฐา กับองค์ชายจ้าวปิ่งพร้อมพระมารดาพระนางหยาง หนีลงใต้ไปยังเมืองฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน แล้วกองทัพมองโกลก็เข้ายึดเมืองหลวงหลินอานได้สะดวกในปีพ.ศ. ๑๘๑๙ ฮ่องเต้ซ่งกงตี้ ถูกลดเป็น กง ส่งฮ่องเต้ พระนางโฮ่วทั้งสอง รวมทั้งเหวินเทียนเสียงและพระราชวงศ์ไปมองโกล๒ แต่เหวินเทียนเสียงหนีเล็ดลอดไปได้ แล้วเดินทางไปสมทบที่เมืองฝูโจว ฝ่ายจางซื่อเจ๊ะกับลู่เชี่ยวฟุเมื่อถึงเมืองฝูโจว จึงสถาปนาองค์ชายจ้าวซื่อเป็น ฮ่องเต้ตวนจง พรรษา ๘ ขวบ ให้เฉินอี้จง เป็นอัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหาร มีจางซื่อเจ๊ะ เป็นผู้ช่วย ให้หลี่ตงจื่อเป็นอัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือน มีลู่เชี่ยวฟุเป็นผู้ช่วยฝ่ายพลเรือน ในปีพ.ศ. ๑๘๑๙ ฮ่องเต้กุไบลข่านทรงส่งแม่ทัพเข้าตีเมืองฝูโจวแตก จางซื่อเจ๊ะผู้เป็นแม่ทัพใหญ่ สู้กองกำลังของมองโกลไม่ได้ จึงนำเสด็จฮ่องเต้และพระราชวงศ์ รวมทั้งผู้ติดตามลงใต้ ในปีพ.ศ. ๑๘๒๐ ที่เมืองเฉวียนโจว เขาขอยืมเรือจากพ่อค้าชาวมุสลิมชื่อ ฟุโซ่วเกิง แต่เขาไม่ให้ยืม จางจึงยึดเรือมาจำนวนหนึ่งเพื่อพาฮ่องเต้และพระราชวงศ์ทหารพลเรือนไปกว่างตง ฟุโซ่วเกิงโกรธมากจึงเอาคนไปฆ่าพระราชวงศ์และผู้ติดตามหลายคน ฟุโซ่วเกิงจึงไปเข้าด้วยกับกองทัพมองโกล ทำให้กองเรือรบมองโกลแข็งแรงขึ้นทันตาเห็น เมื่อกองเรือพระที่นั่งถูกคลื่นพายุกระหน่ำ ทำให้ฮ่องเต้ประชวร จึงจำต้องหยุดพักที่เกาะหลานเต้า พระองค์ทรงคิดหนัก จึงทรงตัดสินพระทัยกระโจนลงน้ำ องครักษ์เข้าช่วย แต่พระอาการสาหัส เสด็จสวรรคตพ.ศ. ๑๘๒๑ องค์ชายจ้าวปิ่งพรรษา ๙ ขวบ เป็นฮ่องเต้ซ่งตี้ปิ่ง 宋帝昺 ฝ่ายขุนนางผู้ใหญ่ เหลือแต่ จางซื่อเจ๊ะ เป็นอัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหาร ลู่เชี่ยวฟุเป็นอัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือน จางจึงนำเสด็จไปยังตำบลหยาเหมินมีแม่น้ำตะวันตกไหลผ่าน ปัจจุบันอยู่ในอำเภอฉิ้นฮุ่ย เมืองเจียงเหมิน มณฑลกว่างตง ฝ่ายฮ่องเต้กุไบลข่าน ในปีพ.ศ. ๑๘๒๒ ให้นายพลจางหงฟ่านเป็นแม่ทัพใหญ่ เข้าโจมตีกองเรือของซ่ง แต่ถูกนายพลหลี่เหิงผู้ที่เข้ายึดเมืองกว่างโจวได้คัดค้าน ขุนนางฝ่ายซ่งแนะนำให้ปิดปากอ่าวเสีย จางจึงหาวิธีการที่จะรักษาฮ่องเต้ พระราชวงศ์ ทหารและพลเรือนที่ติดตามเป็นจำนวนมาก เขาจึงสั่งให้เผาตำหนัก ที่พักบ้านเรือนราษฎรสิ้น แล้วเอาเรือทั้งหมดหลายพันลำมาผูกร้อยด้วยโซ่ยึดติดกันเป็นเรือแพ ตรงกลางเป็นเรือแพตำหนักฮ่องเต้ ทหารและพลเรือนจึงสามารถเดินติดต่อถึงกันได้ตลอด และอยู่รอบๆเรือแพ ฝ่ายทหารมองโกลระดมยิงเรือแพด้วยธนูไฟ แต่เรือได้ฉาบโคลนป้องกันไว้ จึงไม่เป็นอันตราย มองโกลจึงใช้วิธีล้อมไว้ทุกด้านตัดเสบียงอาหารและน้ำที่จะส่งไปเรือแพ ปรากฏว่าทหารและพลเรือนในเรือแพต่างอดอยาก ทั้งของกินและน้ำดึ่ม ต้องดึ่มน้ำเค็มแทน ทำให้เกิดโรคขึ้น ในวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๑๘๒๒ นายพลจางหงฟ่านจึงวางแผนโจมตีใหม่ โดยแบ่งกำลังเป็นสี่กองย่อย เฝ้าเรือแพซ่งทางทิศเหนือ๑ ทิศใต้๑ ทิศตะวันออก๑ ส่วนที่เหลือให้ไปซ่อนตัวห่างออกไปหนึ่งลี้ กองทหารทิศเหนือพากันร้องรำทำเพลงสนุกสนาน ทำให้พวกซ่งตายใจ หงฟ่านจึงยกเข้าโจมตีส่วนหน้า ทหารเป่าเขาให้สัญญาณ ทหารที่ซ่อนตัวเข้าประชิดยิงธนูเข้าใส่ทหารซ่ง ซึ่งยากที่จะช่วยเหลือกันด้วยเรือผูกติดกันหมด จางซื่อเจ๊ะจึงจำเป็นตัดโซ่เปิดช่องเรือออก แล้วนำทหารกล้าจำนวนหนึ่งพร้อมเรือสิบกว่าลำ นำเสด็จฮ่องเต้หนีออกไป ทหารมองโกลกับทหารซ่งจึงสู้รบกันแบบตะลุมบอน ลู่เชี่ยวฟุจึงนำเสด็จขึ้นไปที่หน้าผาเชิงเขาหยาซานติดฝั่งแม่น้ำตะวันตก โดยมีจางซื่อเจ๊ะคอยคุ้มกันข้างหลัง ปรากฏว่าทหารมองโกลเป็นจำนวนมากรุกไล่เข้ามา ยากที่จะต้าน ด้วยความสัตย์ซื่อ ไม่ยอมเป็นขี้ข้ามองโกล เขาจึงกราบทูลฮ่องเต้ว่ามีทางเดียว คือกระโจนหน้าผาลงน้ำฆ่าตัวตาย พระองค์ทรงเห็นด้วย ลู่เชี่ยวฟุจึงเอาพระองค์ใส่หลังใช้ผ้ามัดพระองค์กับตัวเขา แล้วกระโจนจากหน้าผาลงน้ำดิ่งหายไปทั้งคู่ เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๑๘๒๒ ตรงกับปีเถาะ ฝ่ายจางซื่อเจ๊ะได้เข้าเฝ้าพระนางหยางไท่โฮ่ว เพื่อกราบทูลให้ทรงหนีต่อไปเพื่อกอบกู้แผ่นดิน พร้อมกับทูลว่าฮ่องเต่ซ่งตี้ปิ่งเสด็จสวรรคตแล้ว เวลาต่อมาพระนางจึงทรงฆ่าพระองค์สิ้นพระชนม์ตามไปด้วย จางจึงจัดการฝังพระศพอย่างง่ายๆที่ชายฝั่งนั่นเอง ขณะที่จางและผู้ติดตามกำลังอยู่ที่ชายหาดนั้นเกิดพายุคลื่นใหญ่ซัดเข้าฝัง แล้วหอบเอาจางซื่อเจ๊ะลงทะเลหายไปด้วยอีกคน แต่ข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้กล่าวว่า ลู่เชี่ยวฟุให้เอาเครื่องทรงฮ่องเต้ซ่งตี้ปิ่งแต่งให้ลูกชายของตน ซึ่งมีอายุใกล้เคียงกัน ปลอมเป็นฮ่องเต้ แล้วกระโจนลงน้ำจมหายไปทั้งพ่อลูก เพื่อป้องกันการติดตามจากมองโกล จางซื่อเจ๊ะจึงนำฮ่องเต้ซ่งตี้ปิ่งลงเรือเล็ดลอดหนีไปได้ พร้อมนายทหานคนสนิทไม่กี่คน เรือจางได้ไปขึ้นฝั่งเกาะลูซอน ซึ่งที่นั่นมีชนพื้นเมืองรวมทั้งชาวจีนอาศัยอยู่ จางจึงสร้างอาณาจักรเล็กๆขึ้นบนเกาะนี้ ทางการจีนเรียกว่า ลู่ซ่งกว๋อ มีกษัตริย์เป็น อ๋อง มีเมืองหลวงชื่อ ทุงตู้ ต่อมาโปรตุเกสเข้าครอบครอง ปัจจุบันอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ จางซื่อเจ๊ะ จึงเป็นวีรบุรุษท่านหนึ่งสมัยราชวงศ์ที่ได้รับยกย่องว่า มีความกล้าหาญ ซื่อสัตย์ต่อประเทศชาติและราชวงศ์ซ่ง จึงได้มีการสร้างอนุสรณ์สถานให้แก่ท่าน
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๓
Title : Zhang Shijie
: Somboon Kantakian
Note :
๑ เจี่ยซื่อเต้า มีชื่อปรากฏในหนังสือ 100 ทรชนในประวัติศาสตร์จีน แปลโดย กนกพร นุ่มทอง ๒๕๔๖
๒ ฮ่องเต้ซ่งกงตี้พร้อมพระนางทั้งสองจึงประทับที่ธิเบต ฮ่องเต้ทรงผนวชเป็นพระสงฆ์มหายานแบบธิเบต ส่วนพระนางทั้งสองทรงบวชชี พระจ้าวเสี่ยนกง ได้ทรงบทกวีนิพนธ์ต่อต้านราชวงศ์หยวน ฮ่องเต้หยวนไท่ติ้งตี้ ในปีรัชกาลไท่ติ้งที่ ๓ พ.ศ. ๑๘๖๖ รับสั่งให้ทหารไปจับพระจ้าวเสี่ยนกงประหารชีวิต ด้วยพระชนม์ ๕๓ ปี
|
|
|