|
ลู่เชี่ยวฟุ 陆秀夫
ลู่เชี่ยวฟุ หรือ ลกสิ่วหู้ 陆秀夫 หรือ ฟู่ตี้โถวไห่ 负帝投海 หรือลู่กงซื่อ 陆公祠 หรือ จงเลี่ยกง 忠烈公 ผู้เป็นหนึ่งในสามวีรบุรุษแห่งราชวงศ์ซ่งใต้ 宋末 三 杰 หรือที่รู้จักในนามว่า ไต่ซ้องซำตองอ๋อง 大宋三忠王 ส่วนอีกสองท่านนั้นคือ เหวินเทียนเสียง หรือ บุ๋นเทียนเสียง 文天祥 และ จางซื่อเจ๊ะ 張世傑 หรือเตียวเส้เก๊ก ลู่เชี่ยวฟุ ชื่อ เชี่ยวฟุ แซ่ลู่ นามชื่อรองว่า จื้ออวิ๋นฉึ๋ 字君实 ถือกำเนิดเมื่อพ.ศ. ๑๗๗๕ ปีมะโรง ที่ตำบลเอียนเฉิง หรือซูโจว มณฑลเจียงซู ต่อมาบิดามารดาได้ย้ายไปอยู่ตำบลจิงโขว หรือเจินเจียง มณฑลเจียงซู ฐานะทางครอบครัวไม่สู้ดีนัก แต่ลู่เป็นเด็กเฉลียวฉลาดหลักแหลม ชอบอ่านหนังสือ เขียนหนังสือมาก เมื่ออายุได้ ๖ ขอบ ในปีพ.ศ. ๑๗๘๖ ในวันตรุษปีใหม่ สิ่งที่เขาอยากได้ของขวัญจากบิดามากที่สุดคือ ตะเกียง เพื่ออ่านหนังสือ แต่ฝ่ายพี่ชายอยากได้เสื้อผ้ามาก เมื่อพี่ชายถึงอายุที่จะต้องเรียนหนังสือ บิดาจึงให้ไปโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ลู่ติดตามพี่ชายไปโรงเรียนด้วย เพราะอยากเรียนหนังสือ ครูอาวุโสเห็นว่าเขาสนใจอยากเรียนหนังสือมากกว่าพี่ชาย จึงถามเขาว่า เรียนหนังสือไปทำอะไร เขาตอบว่า การอ่านทำให้ฉลาดและช่วยประเทศชาติได้ เขาจึงได้เรียนสมใจตั้งแต่ยังเล็ก ด้วยความที่ครอบครัวยากจน เขาจึงต้องไปพึ่งแสงตะเกียงจากศาลเจ้าข้างบ้านเพื่ออ่านหนังสือ ด้านนิสัยใจคอ ลู่เป็นเด็กที่ค่อนข้างเงียบขรึม ใฝ่เรียนรู้ มีความซื่อสัตย์ กตัญญู พูดน้อย อาจจะเป็นเพราะความจนของครอบครัว เขาจึงเจียมตน จึงเรียนเพื่อรับราชการ เอาชนะความจนของครอบครัวให้ได้ เมื่อถึงวัยหนุ่มอายุ ๑๙ ปี พ.ศ. ๑๗๙๘ ลู่จึงสมัครสอบรับราชการในระดับต้น ที่อำเภอ เขาสอบผ่านสบายได้ตำแหน่ง ซิวจ๋าย แล้วสมัครสอบต่อจนได้ระดับมณฑล คือ จู่เหยิน เขาจึงเดินทางเข้าเมืองหลวงหลินอาน เพื่อสอบแข่งขันขั้นสูงสุด เขาสอบได้ในระดับเมืองหลวง คือ จินสือ เขาได้คะแนนสูงสุดในระดับแรกๆเพียงไม่ถึงสิบคน รวมทั้งเหวินเทียนเสียงด้วย จึงมีสิทธิ์เข้าสอบหน้าพระที่นั่ง ในปีพ.ศ. ๑๘๐๓ เขาและเหวินจึงเข้าสอบในพระราชวังต่อพระพักตร์ฮ่องเต้หลี่จง (จ้าวเฉียน) ปรากฏว่า เหวินเทียนเสียงสอบได้อันดับสูงสุด ได้เป็นจอหงวน ส่วนลู่ได้ระดับรองลงมา เมื่อลู่อายุได้ ๒๓ ปี ทั้งคู่จึงเข้ารับราชการในสถาบันฮั่นหลินและราชสำนัก ฝ่ายหลี่ตงจื่อ ข้าหลวงเมืองหยางโจว ได้ฟังการสอบ การทำงาน แนวความคิดของเขาแล้ว หลี่จึงขอตัวเขาให้ไปเป็นหัวหน้าสำนักงานเมืองหยางโจว ชีวิตครอบครัวของ ลู่เชี่ยวฟุ เขามีบุตรชายสามคน บุตรหญิงหนึ่งคน เมื่อหลี่ตงจื่อย้ายเข้าเมืองหลวง ลู่จึงย้ายตามเขา และทำงานร่วมกับเขาตลอดมา ด้วยวัยหนุ่มที่มีความรู้ความสามารถ เขาจึงก้าวหน้าในหน้าที่ราชการอย่างรวดเร็ว จนได้เป็นเสนาบดีฝ่ายพิธีกรรมของราชสำนัก และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น โดยเป็นผู้ช่วยของหลี่ตงจื่อในสภาที่ปรึกษาของฮ่องเต้ เมื่อมองโกลเริ่มเปิดฉากโจมตีห้วเมืองตามลุ่มแม่น้ำทางเหนือเรื่อยลงมาจนถึงลุ่มแม่น้ำแยงซี ด้วยหวังที่จะเข้ายึดเมืองหลวงหลินอาน (หางโจว) แต่ฝ่ายซ่งก็มีเมืองป้อมปราการหน้าด่านที่สำคัญอยู่สองเมือง คือ เมืองเซียนหยางกับเมืองฝานเฉิง ริมฝั่งแม่น้ำฮั่นที่ไหลบรรจบสู่แม่น้ำแยงซีที่เมืองอู่ฮั่น มองโกลจึงต้องปรับปรุงกองทัพด้วยการเพิ่มกองทัพเรือ หาคนด้วยวิธีการเอานายทหารซ่งที่แปรพักตร์ เข้าไปชี้แนะยุทธวิธีที่จะเข้ายึดเมืองหลวง รวมทั้งได้ขอความช่วยเหลือจากชาติตะวันออกกลางขอผู้เชี่ยวชาญอาวุธสมัยใหม่มาใช้ จ้างนายทหารชาติตุรกีมาเป็นแม่ทัพคือ นายพลป๋อเอี๋ยน ฝ่ายซ่งใต้เปลี่ยนรัชกาลเป็นฮ่องเต้ซ่งตู้กง (จ้าวเมิ่งฉี) เมื่อพ.ศ. ๑๘๐๗ ที่ทรงอยู่ภายใต้อิทธิพลของนายพลเจี่ยซื่อเต้า๑ ผู้เป็นเอกอัครมหาเสนาบดี ที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งด้วยเส้นสายน้องสาว คือพระนางเจี่ย เขาไม่มีความรู้พอที่จะช่วยบริหารบ้านเมืองกลับเกรงกลัวข้าศึก เอาใจออกหาก เป็นไส้ศึก กลั่นแกล้งนายพลที่รักษาเมืองทั้งสองและหัวเมืองที่สำคัญ จนพวกเขาหันหน้าไปพึ่งศัตรู ถึง พ.ศ. ๑๘๑๐ กองทัพมองโกลจึงยกประชิดเมืองเซียนหยางและฝานเฉิง ใช้เวลารุกรบอยู่จนถึงพ.ศ. ๑๘๑๖ เมืองหน้าด่านสำคัญก็แตก ทำให้มองโกลควบคุมทางน้ำได้ ตัดการลำเลียงเสบียงอาหารที่จะส่งไปเมืองหลวง บังเอิญในปีเดียวกันนี้ ฮ่องเต้ซ่งตู้กงเสด็จสวรรคตกระทันหัน พวกขุนนางจึงยกองค์ชายจ้าวเสี่ยนพรรษา ๔ ขวบขึ้นเป็นฮ่องเต้ซ่งกงตี้ โดยมีพระนางเจี่ยไท่โฮ่วผู้เป็นย่า และพระนางเฉวียนไท่โฮ่วพระมารดาว่าราชการแทน ฝ่ายฮ่องเต้กุไบลข่านรับสั่งให้นายพลป่อเอี๋ยนยกทัพเข้าตีเมืองหลวงทันทีด้วยกำลังพล ๒ แสน ในปีพ.ศ. ๑๘๑๘ ข้างเมืองหลวง นายพลเจี่ยซื่อเต้า ด้วยความจำใจจึงยกกองทัพด้วยรี้พลแสนสามหมื่นออกไปต้านทัพข้าศึก ปรากฏว่าแพ้ยับเยินที่เมืองนานกิงและเมืองซูโจว จึงถอยทัพกลับเมืองหลวง ทางราชสำนักจึงปลดเขาออกทุกตำแหน่ง แล้วเนรเทศไปกว่างตง ขณะเดินทาง เขาถูกนายทหารที่ติดตามฆ่าตาย ภายในเมืองหลวง พวกขุนนางผู้ใหญ่ต่างแตกความคิดเป็นสองพวก พวกหนึ่งยอมแพ้มองโกล ยอมทำสัญญาเป็นไมตรี อีกพวกหนึ่งขอสู้ตายซึ่งก็คือกลุ่มของเหวินเทียนเสียง จางซื่อเจ๊ะและลู่เชี่ยวฟุ ในปีพ.ศ. ๑๘๑๙ พระนางเจี่ยไท่โฮ่วจึงจำเป็นทรงตัดสินพระทัย ทรงส่งเหวินเทียนเสียงให้ไปเจรจาสงบศึกกับนายพลป๋อเอี๋ยน แต่เกิดปะทะคารมกันขึ้นเหวินถูกกักขัง พระนางเจี่ยจึงส่งคนไปเจรจาใหม่ นายพลจึงยอม ฝ่ายที่ไม่ยอมแพ้ นายพลจางซื่อเจ๊ะ ลู่เชี่ยวฟุ จึงทูลเชิญองค์ชายน้อยๆ คือ องค์ชายจ้าวซื่อพระเชษฐา กับองค์ชายจ้าวปิ่งพร้อมพระมารดาพระนางหยาง หนีลงใต้ไปยังเมืองฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน แล้วกองทัพมองโกลก็เข้ายึดเมืองหลวงหลินอานได้สะดวกในปีพ.ศ. ๑๘๑๙ ฮ่องเต้ซ่งกงตี้ ถูกลดเป็น กง ส่งฮ่องเต้ พระนางโฮ่วทั้งสอง รวมทั้งเหวินเทียนเสียงและพระราชวงศ์ไปมองโกล๒ แต่เหวินเทียนเสียงหนีเล็ดลอดไปได้ แล้วเดินทางไปสมทบที่เมืองฝูโจว ฝ่ายจางซื่อเจ๊ะกับลู่เชี่ยวฟุเมื่อถึงเมืองฝูโจว จึงสถาปนาองค์ชายจ้าวซื่อเป็น ฮ่องเต้ตวนจง พรรษา ๘ ขวบ ให้เฉินอี้จง เป็นอัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหาร มีจางซื่อเจ๊ะ เป็นผู้ช่วย ให้หลี่ตงจื่อเป็นอัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือน มีลู่เชี่ยวฟุเป็นผู้ช่วยฝ่ายพลเรือน ในปีพ.ศ. ๑๘๑๙ ฮ่องเต้กุไบลข่านทรงส่งแม่ทัพเข้าตีเมืองฝูโจวแตก จางซื่อเจ๊ะผู้เป็นแม่ทัพใหญ่ สู้กองกำลังของมองโกลไม่ได้ จึงนำเสด็จฮ่องเต้และพระราชวงศ์ รวมทั้งผู้ติดตามลงใต้ ในปีพ.ศ. ๑๘๒๐ ที่เมืองเฉวียนโจว เขาขอยืมเรือจากพ่อค้าชาวมุสลิมชื่อ ฟุโซ่วเกิง แต่เขาไม่ให้ยืม จางจึงยึดเรือมาจำนวนหนึ่งเพื่อพาฮ่องเต้และพระราชวงศ์ทหารพลเรือนไปกว่างตง ฟุโซ่วเกิงโกรธมากจึงเอาคนไปฆ่าพระราชวงศ์และผู้ติดตามหลายคน ฟุโซ่วเกิงจึงไปเข้าด้วยกับกองทัพมองโกล ทำให้กองเรือรบมองโกลแข็งแรงขึ้นทันตาเห็น เมื่อกองเรือพระที่นั่งถูกคลื่นพายุกระหน่ำ ทำให้ฮ่องเต้ประชวร จึงจำต้องหยุดพักที่เกาะหลานเต้า พระองค์ทรงคิดหนัก จึงทรงตัดสินพระทัยกระโจนลงน้ำ องครักษ์เข้าช่วย แต่พระอาการสาหัส เสด็จสวรรคตพ.ศ. ๑๘๒๑ องค์ชายจ้าวปิ่งพรรษา ๙ ขวบ เป็นฮ่องเต้ซ่งตี้ปิ่ง 宋帝昺 ฝ่ายขุนนางผู้ใหญ่ เหลือแต่ จางซื่อเจ๊ะ เป็นอัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหาร ลู่เชี่ยวฟุเป็นอัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือน จางจึงนำเสด็จไปยังตำบลหยาเหมินมีแม่น้ำตะวันตกไหลผ่าน ปัจจุบันอยู่ในอำเภอฉิ้นฮุ่ย เมืองเจียงเหมิน มณฑลกว่างตง ฝ่ายฮ่องเต้กุไบลข่าน ในปีพ.ศ. ๑๘๒๒ ให้นายพลจางหงฟ่านเป็นแม่ทัพใหญ่ เข้าโจมตีกองเรือของซ่ง แต่ถูกนายพลหลี่เหิงผู้ที่เข้ายึดเมืองกว่างโจวได้คัดค้าน ขุนนางฝ่ายซ่งแนะนำให้ปิดปากอ่าวเสีย จางจึงหาวิธีการที่จะรักษาฮ่องเต้ พระราชวงศ์ ทหารและพลเรือนที่ติดตามเป็นจำนวนมาก เขาจึงสั่งให้เผาตำหนัก ที่พักบ้านเรือนราษฎรสิ้น แล้วเอาเรือทั้งหมดหลายพันลำมาผูกร้อยด้วยโซ่ยึดติดกันเป็นเรือแพ ตรงกลางเป็นเรือแพตำหนักฮ่องเต้ ทหารและพลเรือนจึงสามารถเดินติดต่อถึงกันได้ตลอด และอยู่รอบๆเรือแพ ฝ่ายทหารมองโกลระดมยิงเรือแพด้วยธนูไฟ แต่เรือได้ฉาบโคลนป้องกันไว้ จึงไม่เป็นอันตราย มองโกลจึงใช้วิธีล้อมไว้ทุกด้านตัดเสบียงอาหารและน้ำที่จะส่งไปเรือแพ ปรากฏว่าทหารและพลเรือนในเรือแพต่างอดอยาก ทั้งของกินและน้ำดึ่ม ต้องดึ่มน้ำเค็มแทน ทำให้เกิดโรคขึ้น ในวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๑๘๒๒ นายพลจางหงฟ่านจึงวางแผนโจมตีใหม่ โดยแบ่งกำลังเป็นสี่กองย่อย เฝ้าเรือแพซ่งทางทิศเหนือ๑ ทิศใต้๑ ทิศตะวันออก๑ ส่วนที่เหลือให้ไปซ่อนตัวห่างออกไปหนึ่งลี้ กองทหารทิศเหนือพากันร้องรำทำเพลงสนุกสนาน ทำให้พวกซ่งตายใจ หงฟ่านจึงยกเข้าโจมตีส่วนหน้า ทหารเป่าเขาให้สัญญาณ ทหารที่ซ่อนตัวเข้าประชิดยิงธนูเข้าใส่ทหารซ่ง ซึ่งยากที่จะช่วยเหลือกันด้วยเรือผูกติดกันหมด จางซื่อเจ๊ะจึงจำเป็นตัดโซ่เปิดช่องเรือออก แล้วนำทหารกล้าจำนวนหนึ่งพร้อมเรือสิบกว่าลำ นำเสด็จฮ่องเต้หนีออกไป ทหารมองโกลกับทหารซ่งจึงสู้รบกันแบบตะลุมบอน ลู่เชี่ยวฟุจึงนำเสด็จขึ้นไปที่หน้าผาเชิงเขาหยาซานติดฝั่งแม่น้ำตะวันตก โดยมีจางซื่อเจ๊ะคอยคุ้มกันข้างหลัง ปรากฏว่าทหารมองโกลเป็นจำนวนมากรุกไล่เข้ามา ยากที่จะต้าน ด้วยความสัตย์ซื่อ ไม่ยอมเป็นขี้ข้ามองโกล เขาจึงกราบทูลฮ่องเต้ว่ามีทางเดียว คือกระโจนหน้าผาลงน้ำฆ่าตัวตาย พระองค์ทรงเห็นด้วย ลู่เชี่ยวฟุจึงเอาพระองค์ใส่หลังใช้ผ้ามัดพระองค์กับตัวเขา แล้วกระโจนจากหน้าผาลงน้ำดิ่งหายไปทั้งคู่ เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๑๘๒๒ ตรงกับปีเถาะ จากการบันทึกของพงศาวดารจีน กล่าวไว้ว่า ภายหลังสงครามทางเรือครั้งนั้น ๗ วัน ศพลอยเกลื่อนหาด มีผู้เสียชีวิตจากการสู้รบ จมน้ำตาย ไม่ต่ำกว่าแสนคน ที่เหลือหนีไปได้ ฝ่ายมองโกลไม่ทราบจำนวน เรียกการสงครามครั้งนี้ว่า ยุทธนาวีที่หยาเหมิน 崖門戰役 หรือ ยุทธนาวีที่ภูเขาหยา 崖山海戰 ฝ่ายจางซื่อเจ๊ะได้เข้าเฝ้าพระนางหยางไท่โฮ่ว เพื่อกราบทูลให้ทรงหนีต่อไปเพื่อกอบกู้แผ่นดิน พร้อมกับทูลว่าฮ่องเต่ซ่งตี้ปิ่งเสด็จสวรรคตแล้ว เวลาต่อมาพระนางจึงทรงฆ่าพระองค์สิ้นพระชนม์ตามไปด้วย จางจึงจัดการฝังพระศพอย่างง่ายๆที่ชายฝั่งนั่นเอง ขณะที่จางและผู้ติดตามกำลังอยู่ที่ชายหาดนั้นเกิดพายุคลื่นใหญ่ซัดเข้าฝัง แล้วหอบเอาจางลงทะเลหายไปด้วยอีกคน แต่ข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้กล่าวว่า ลู่เชี่ยวฟุให้เอาเครื่องทรงฮ่องเต้ซ่งตี้ปิ่งแต่งให้ลูกชายของตน ซึ่งมีอายุใกล้เคียงกัน ปลอมเป็นฮ่องเต้ แล้วกระโจนลงน้ำจมหายไปทั้งพ่อลูก เพื่อป้องกันการติดตามจากมองโกล จางซื่อเจ๊ะจึงนำฮ่องเต้ซ่งตี้ปิ่งลงเรือเล็ดลอดหนีไปได้ พร้อมนายทหานคนสนิทไม่กี่คน เรือจางได้ไปขึ้นฝั่งเกาะลูซอน ซึ่งที่นั่นมีชนพื้นเมืองรวมทั้งชาวจีนอาศัยอยู่ จางจึงสร้างอาณาจักรเล็กๆขึ้นบนเกาะนี้ ทางการจีนเรียกว่า ลู่ซ่งกว๋อ มีกษัตริย์เป็น อ๋อง มีเมืองหลวงชื่อ ทุงตู้ ต่อมาโปรตุเกสเข้าครอบครอง ปัจจุบันอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ ลู่เชี่ยวฟุ ถึงแก่กรรมเมื่อ วันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๑๘๒๒ ตรงกับปี เถาะ ในรัชสมัยฮ่องเต้หมิงเฉี่ยนตี้ (จูอี้จวิน) ปีรัชกาลว่านลี่ที่ ๔๔ พ.ศ. ๒๑๕๙ ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ลู่เชี่ยวฟุว่า จงเลี่ยกง 忠烈公 ลัทธิขงจื่อได้สถาปนาลู่เชี่ยวฟุว่า เป้ยซื่อลู่เชี่ยวฟุ ส่วนลัทธิเต๋าได้ยกย่องให้เป็น ฟู่ตี้โถวไห่ 负帝投海 ได้มีการสร้างอนุสรณ์สถานให้ลู่เชี่ยวฟุหลายแห่ง เพื่อเป็นที่สักการะระลึกถึง ผู้ที่เป็นวีรบุรุษของชาติท่านหนึ่ง
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๓
Title : Lu Xiufu
: Somboon Kantakian
Note :
๑ เจี่ยซื่อเต้า มีชื่อปรากฏในหนังสือ 100 ทรชนในประวัติศาสตร์จีน แปลโดย กนกพร นุ่มทอง ๒๕๔๖
๒ ฮ่องเต้ซ่งกงตี้พร้อมพระนางทั้งสองจึงประทับที่ธิเบต ฮ่องเต้ทรงผนวชเป็นพระสงฆ์มหายานแบบธิเบต ส่วนพระนางทั้งสองทรงบวชชี พระจ้าวเสี่ยนกง ได้ทรงบทกวีนิพนธ์ต่อต้านราชวงศ์หยวน ฮ่องเต้หยวนไท่ติ้งตี้ ในปีรัชกาลไท่ติ้งที่ ๓ พ.ศ. ๑๘๖๖ รับสั่งให้ทหารไปจับพระจ้าวเสี่ยนกงประหารชีวิต ด้วยพระชนม์ ๕๓ ปี
|
|
|