|
เทพเจ้าประจำประตู 门神
เทพประจำประตู 门神 แต่เดิมเป็นเทพฝ่ายบู๊ใช้กันมาเป็นพันปี ต่อมาเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป วัฒนธรรมของเทพประจำประตูก็เปลี่ยนไปด้วย ปรากฏว่ามีเทพฝ่ายบุ๋น เทพธิดา เป็นผู้รักษาประตูบางสถานที่ อย่างไรก็ตาม เทพประจำประตูที่เป็นที่นิยมของชาวจีนจะมี ๓ ชุด คือ
๑ ) เทพเสินทู่ กับ เทพอู่ลู่
๒ ) เทพอุยตั้ว กับ เทพเชี่ยหลัน
๓ ) เทพฉินซุเป๋าหรือ ซินซกโป้ กับ เทพอวี่ชิเจี้ยงเต๋อหรืออวยชีจง
เทพเสินทู่กับเทพอู่ลู่นั้น เล่ากันมาว่า ยังมีชายสองคนพี่น้อง คนพี่ชื่อ เสินทู่ หรือ เสินโต่ว หรือ ชูพู่ ส่วนคนน้องชื่อ อู่ลู่ หรือ อู่หลาย พี่น้องคู่นี้ต่างก็มีพลังอำนาจวิเศษในการปราบพวกภูตผีปีศาจทั้งหลาย เมื่อพวกผีออกมาทำร้ายคน พี่น้องทั้งสองจึงใช้พลังอำนาจของตนจับผีเหล่านั้นเอาไปให้เสือกิน ดังนั้นเราจะเห็นรูปเสือประกอบฉากด้านหน้าศาลเจ้าหรือตามสมาคมต่างๆ เทพทั้งสองสวมชุดทหารนายพลเต็มยศ นายพลเสินโต่วถือขวานเป็นอาวุธ ส่วนนายพลอู่หลายถือกระบองเป็นอาวุธ
เทพเว่ยโต่วกับเทพเซี่ยหลัน เป็นเทพประจำประตูทางพุทธศาสนา ฝ่ายมหายาน เทพทั้งสองมีหน้าที่ปกปักรักษาบริเวณวัดมิให้พวกภูตผีปีศาจเข้ามารบกวนพระสงฆ์ นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมรักษาพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนอีกด้วย เทพทั้งสองแต่งชุดนายพลเต็มยศ เทพเว่ยโต่วมีตะบองเหล็กเป็นอาวุธ ท่านได้ชื่อว่าเป็นเทพแห่งความบริสุทธิ์ไม่มีมารยา ส่วนเทพเชี่ยหลัน หรือ เชี่ยหลันซุนอ๋อง มีพระพักตร์สีแดง คนทั่วไปเรียกท่านว่า เชี่ยหลัน แต่หลายวัดกลับนำเอาเทพเจ้าทั้งสี่ทิศมาเป็นเทพประจำประตู คือ เทพเจิงฉางเทียนหวางทรงกระบี่อยู่ทิศใต้ เทพก่วงมู่เทียนหวางทรงถะเจดีย์หรือไข่มุกประจำทิศตะวันตก เทพตั๋เหวินเทียนหวางทรงร่มประจำทิศเหนือและเทพฉือกั๋วเทียนหวางทรงพิณประจำทิศตะวันออก จากภาพถ่ายประกอบประวัติของท่านสองภาพผู้เขียนถ่ายจากวัดเส้าหลิน เติงเฟิง มณฑลเหอหนาน อีกสองภาพถ่ายจากวัดหลินกู่ นานกิง
เทพฉินซุเป๋ากับเทพอวี่ชิเจี้ยงเต๋อ หรือบางคนเรียกท่านว่า เทพฉินฉวนหรือฉินเฉียง กับเทพอุยชิกง หรือ เทพฉินซุเป๋ากับเทพหูจิงเต๋อ ในสมัยราชวงศ์ถัง สมเด็จพระจักรพรรดิถังไท่จง ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๑๖๙ - ๑๑๙๒ พระองค์ทรงพระสุบินว่า มีปีศาจพญามังกรมาหลอกหลอนทุกคืน ไม่สามารถจะบรรทมให้หลับได้ เสนาบดีท่านหนึ่งได้กราบบังคมทูลให้พระองค์ใช้นายทหารที่มีรูปร่างหน้าตาดุน่ากลัวมาเฝ้าหน้าประตูพระตำหนักในเวลากลางคืน พระองค์ทรงเห็นด้วย จึงทรงรับสั่งให้นายพลฉินฉวนกับ นายพลอวี่ชิเจี้ยงเต๋อ แต่งเครื่องแบบชุดนายพลทหารเต็มยศพร้อมอาวุธ นายพลฉินฉวนถือกระบองทองแดงคู่หนึ่ง ส่วนนายพลอวี่ชิเจี้ยงเต๋อถือกระบองเหล็ก ทั้งคู่ต่างมายืนหน้าประตูพระตำหนัก ปรากฏว่าผีพญามังกรที่เคยเข้าสุบินก็หายไป ทรงเห็นว่าจะให้นายพลทั้งสองแต่งชุดนายทหารมาเฝ้าทุกคืนไม่เหมาะสม จึงทรงให้จิตรกรประจำราชสำนักวาดรูปนายพลทั้งสองแบบเต็มตัว แล้วเอาไปปิดไว้ที่บานประตูทั้งสอง ตำนานเรื่องนี้ยังมีกล่าวพิสดารออกไปอีกเกี่ยวกับพญามังกรกับสมเด็จพระจักรพรรดิถังไท่จง
จากตำนานกล่าวว่า ยังมีมังกรตนหนึ่ง อาศัยอยู่ที่แม่น้ำจิงเหอ แถบมณฑลกานซู่ในปัจจุบัน เทพมังกรท่านนี้มีเพื่อนอยู่ตนหนึ่ง ชื่อ หยวนโซ่วเฉิง ขณะที่ทั้งสองกำลังนั่งคุยกันอยู่นั้น เทพมังกรบอกว่า ตนสามารถหยุดฝนได้ถึงหนึ่งชั่วยาม และสามารถกักน้ำฝนที่จะไม่ให้ตกลงมาได้หนึ่งในสิบ วันต่อมาเป็นจริงดังที่เขาพูด
เว่ยเจิง เสนาบดีฝ่ายอาลักษณ์ประจำราชสำนักสมเด็จพระจักรพรรดิถังไท่จง ทราบว่าฝนตกลงมาน้อยด้วยสาเหตุของเจ้ามังกรตนนี้ที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลเรื่องภูมิอากาศให้ฝนฟ้าตกตามฤดูกาลและควบคุมปริมาณน้ำฝน เมื่อเทพมังกรกระทำผิดกฎเช่นนี้ ท่านเว่ยเจิงจึงสั่งประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะในเวลาบ่ายสามโมงในอีกสามวันข้างหน้า
เมื่อเทพมังกรทราบเช่นนั้น จึงเข้าพระสุบินสมเด็จพระจักรพรรดิถังไท่จง ขอให้ช่วยตนด้วย ในฐานะที่เว่ยเจิงเป็นข้าราชการในพระองค์ เพราะเว่ยเจิงได้ประกาศประหารชีวิตไปแล้ว พระองค์จึงทรงรับว่าจะไม่ให้เว่ยเจิงไปประหาร เมื่อถึงเวลาจะประหาร พระองค์จึงรับสั่งให้เว่ยเจิงมานั่งเล่นหมากรุกกับพระองค์ แต่ปรากฏว่าเว่ยเจิงงีบหลับคาโต๊ะหมากรุก พระองค์ทรงพอพระทัยที่เขาหลับเสียได้ จะได้ไม่ไปประหารเจ้ามังกร
แต่พอตกดึก ผีเจ้ามังกรหัวขาดมาเข้าสุบินทวงศีรษะของตนคืนจากพระองค์ แต่พระองค์ตรัสว่าเวลานั้นเว่ยเจิงนอนหลับคาโต๊ะหมากรุก มิได้ออกไปไหน แต่ผีเจ้ามังกรหัวขาดมาเข้าสุบินทุกคืน เมื่อเรื่องนี้ทราบถึงนายพลทหารสองคนคือ ฉินซุเป๋ากับอวี่ชิเจี้ยงเต๋อ พวกเขาจึงแต่งตัวชุดนายพลเต็มยศถืออาวุธครบมือมายืนเฝ้าพระทวารพระตำหนักทุกคืน จนผีมังกรหัวขาดไม่มาเข้าฝันอีกเลย
การป้องกันภูตผีมาหลอกหลอนในบ้านเรือนได้เริ่มมาตั้งแต่ปลายสมัยราชวงศ์ซังแล้ว แต่ไม่มีรูปภาพ ชาวบ้านต่างให้ความเคารพ พอถึงสมัยราชวงศ์ฮั่นมี ๓ องค์ คือ เชิงฉิง เสินตู้ อวี้เหล่ย ด้วยการเขียนเป็นตัวอักษรชื่อหรือวาดรูปเอาไปปิดที่บานประตู สมัยราชวงศ์ถังมีสององค์ดังกล่าวแล้ว สมัยราชวงศ์ซ่งมี ๕ องค์ คือ เอ้วเฟย ผู้ซื่อสัตย์ ตี้ฉิง สู้ผู้รุกราน จ้าวหยุน ความรัก จางเฟย ซื่อสัตย์ต่อประเทศ จ้าวกงหมิง ร่ำรวยโชคดี โดยเลือกเป็นคู่ๆ
การเลือกเทพประจำประตู จะต้องคำนึงถึงสถานที่ที่จะอัญเชิญเทพเหล่านั้นมาสถิตด้วย โดยให้คำนึงถึง
๑. เทพเจ้าผู้เป็นประธานศาลเจ้ามียศตำแหน่งสูง เช่น ทีกง หยกอ๋องส่องเต่ ฮ่องเต้ ท่านอ๋อง ควรเลือก นายพลทหาร
๒. เทพเจ้าสตรีผู้เป็นประธานศาลเจ้า เช่น มาจอโป๋ กิมซื่ออ๋องโก้ว ลิ้มกอเหนี่ยว ควรเลือกเทพ ขันที หรือ นางกำนัล
๓. นักปราชญ์ นักการศึกษา เช่น ขงจื่อ ควรเลือกเทพชุดขุนนางพลเรือน หรือ ลกฮกซิ่วก็ได้
๔. ถ้าเทพเหล่านั้นมีตำแหน่งต่ำลงมา ควรเลือกรูปดอกไม้ เสือ มังกร เด็กเล็กๆ เป็นเทพประจำประตู
จะเอาไปปิดประตูอะไรบ้าง ประตูที่จะเอารูปไปปิดนั้น ได้แก่ บ้านเรือนอาศัย สำนักงานบริษัท วัด ศาลเจ้า พระราชวัง เป็นต้น การเลือกรูปไปปิดบางครั้ง เจ้าของที่ มักเลือกเอารูปนายพลทหารไปปิดที่ประตูทางเข้าหรือประตูหน้า ส่วนประตูภายในมักใช้รูปเทพที่แต่งกายพลเรือน
อย่างไรก็ตาม การนำรูปเทพทั้งสองมาปิดประตูทั้งสองบานเช่นนี้ ได้เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น ระหว่าง พ.ศ. ๓๓๗ - ๗๖๓ โดยเอารูปเทพเซินทู่กับเทพอู่ลู่มาปิด
การติดภาพหรือวาดภาพเทพประจำประตู จะต้องมิให้หันหน้าซ้อนทับกันหรือหันหลังเข้าหากัน ถือว่าอัปโชค รูปเทพทั้งสองจะต้องให้หันหน้ามองเข้าหากันเมื่อปิดประตู ถ้าหากประตูมีบานเดียวมักใช้รูปของท่านเว่ยเจิง หรือรูปเทพจงกุ้ย ผู้มีหน้าที่จับผีไม่ใช่เป็นเทพประจำประตู แต่คนนิยมนำไปปิดประตูหลังบ้านเรียกว่า นายพลประตูหลังบ้าน
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๕ กันยายน ๒๕๔๘
Title : Door Gods
: Somboon Kantakian
Credits : Somboon Kantakian
Revised : 31/08/2008
|
|
|