|
อ่องสุ้นต่ายส่าย 大使爷爷
อ่องสุ้นต่ายส่าย เป็นนามที่ชาวภูเก็ตเรียกเทพเจ้าองค์หนึ่ง ที่แต่งตัวแบบนายพลทหาร มีธงสามแฉกมัดปักเรียงอยู่ด้านหลัง ประทับนั่ง พระพักตร์หล่อเหลามากและผิวพรรณผุดผ่อง ต่างจากเทพองค์อื่นๆ อ่องสุ้นต่ายส่ายเป็นองค์ประธานศาลเจ้า เต่งกองต๋องหรือศาลเจ้าแสงธรรม ใกล้กับมุมหัวถนนพังงาตัดกับถนนเยาวราช อำเภอเมือง ภูเก็ต ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นศาลเจ้าของสกุลแซ่ตันหรือแซ่เฉิน เหนือเก๋งที่ประทับองค์ประธานมีอักษรสี่ตัวเขียนว่า ต่ายส่ายเอี๋ยเอี๋ย หรือ ไต้สื่อเหยียเหยีย 大使爷爷 อ่องสุ้นต่ายส่าย หมายถึง เฉินสูต้า 陳叔達 ผู้เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๑๗ ใน ๔๒ องค์ของฮ่องเต้เฉินเซวียนตี้ 陳宣帝 แห่งราชวงศ์เฉิน ตั้งเมืองหลวงอยู่ที่เจี้ยนคังหรือนานกิงในปัจจุบัน พระมารดาของเฉินสูต้า คือ พระสนมเอก จ้าวหยง 昭容 ซึ่งเป็นพระสนมเอกอันดับที่ ๘ มีพี่น้องพระมารดาเดียวกันสามองค์ คือ เฉินสูเหวิน 陳叔文 เป็นพี่ชาย และน้องชายชื่อ เฉินสูตั่น 陳叔坦 ส่วนพี่น้องต่างมารดา เช่น เฉินสูเป่า陳叔寶 เฉินสูเอี่ยน 陳叔儼 เฉินสูเซิ่น 陳叔慎 เฉินสูอวี๋ 陳叔虞 เป็นต้น เฉินสูต้าประสูติเมื่อใดไม่ปรากฏ แต่เข้ารับราชการ ตั้งแต่สมัยพระราชบิดาคือฮ่องเต้เฉินเซวียนตี้และพระเชษฐาคือฮ่องเต้เฉินโฮ่วจวี่ ( เฉินสูเป่า ) เฉินสูต้าเป็นคนเฉลียวฉลาด ได้ศึกษาทั้งฝ่ายการเมืองการปกครองและฝ่ายทหาร จึงเชี่ยวชาญทั้งสองด้าน นอกจากนี้ยังมีความสามารถในวิชาความรู้ทางวรรณคดีและภาษา แต่งโคลงกลอนได้เก่งกาจคนหนึ่ง รวมทั้งเป็นนักพูดที่เก่งมาก และด้วยรูปร่างที่สูงงามสง่า รูปหล่อมาก จึงเป็นที่สะดุดตาแก่ผู้ที่พบเห็น
ลำดับฮ่องเต้ในสมัยราชวงศ์เฉินมีดังนี้
ฮ่องเต้เฉินอู่ตี้ ( เฉินป้าเซียน 陳霸先 หรือ ตั้นปาเซย ) ใช้ปีรัชกาลหย่งติ้ง ครองราชย์ระหว่างพ.ศ. ๑๑๐๐ ๑๑๐๒ เพียง ๓ ปี
ฮ่องเต้เฉินเหวินตี้ ( เฉินเฉวี้ยน 陳蒨 ) ใช้ปีรัชกาลเทียนเจีย พ.ศ. ๑๑๐๓ ๑๑๐๙ ปีเทียนคัง พ.ศ. ๑๑๐๙ ครองราชย์ ๗ ปี
ฮ่องเต้เฉินเฟ่ยตี้หรือเฉินหลินไห่หวาง ( เฉินปั๋วจง 陳伯宗 ) ใช้ปีรัชกาล กวงต้า พ.ศ. ๑๑๑๐ ๑๑๑๑ ครองราชย์ ๒ ปี
ฮ่องเต้เฉินเซวียนตี้ ( เฉินซวี 陳頊 ) ใช้ปีรัชกาลไท่เจี้ยน พ.ศ. ๑๑๑๒ ๑๑๒๕ ครองราชย์ ๔ ปี
ฮ่องเต้เฉินโฮ่วจวี่ ( เฉินสูเป่า 陳叔寶 ) ใช้ปีรัชกาลจื้อเต๋อ พ.ศ. ๑๑๒๖ ๑๑๒๙ และใช้ปีเจินหมิง พ.ศ. ๑๑๓๐ ๑๑๓๒ ครองราชย์ ๗ ปี
ภายหลังจากที่เฉินป้าเซียน 陳霸先 ปราบปรามกบฏ และรวบรวมเมืองต่างๆไว้ได้แล้วจึงแต่งตั้งตนเป็นเฉินหวาง แล้วสถาปนาเป็นฮ่องเต้ ปฐมราชวงศ์เฉิน ให้เจริญรุ่งเรือง แต่พอถึงสมัยรุ่นบุตร ต่างแก่งแย่งอำนาจกันระหว่างพี่น้อง จึงฆ่าฟันกันเอง คนที่ฉลาดจึงอยู่เมืองหลวงไม่ได้ ต้องไปเป็นข้าหลวงให้ห่างไกล ดังนั้นจะเห็นว่าแต่ละองค์ครองราชสมบัติระยะสั้นมาก เมื่อพระราชบิดาเสด็จสวรรคตในปีพ.ศ. ๑๑๒๕ เฉินสูเป่าในฐานะพี่ใหญ่องค์แรก จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในปีพ.ศ. ๑๑๒๖ เป็นฮ่องเต้เฉินโฮ่วจวี่แล้ว ทรงแต่งตั้งบรรดาน้องทุกองค์ให้มีฐานันดรศักดิ์สูงขึ้นทั้งสิ้น ทรงแต่งตั้งเฉินสูต้าเป็น อี้เอี๋ยงหวาง 益阳 และได้รับพระราชทานยศทางทหารระดับเจี้ยงกวนคือนายพลด้วย ในปีพ.ศ. ๑๑๓๐ โปรดฯให้รับตำแหน่งข้าหลวงเมืองเจี้ยนคัง ซึ่งเป็นเมืองหลวง ฝ่ายพระเชษฐาเมื่อขึ้นเป็นฮ่องเต้แล้ว ไม่ทรงนำพาต่อการบริหารบ้านเมือง ทรงชอบการละเล่นสนุกเสพสุรานารี ทำให้บ้านเมืองวุ่นวายเสียหายและล่มจมในที่สุด ฝ่ายฮ่องเต้เหวินตี้ (เอี๋ยงเจียน) จึงฉวยโอกาสเข้ารุกรานจนบ้านเมืองล่มสลาย ในปีพ.ศ. ๑๑๓๒ เฉินสูต้าถูกจับได้ จึงต้องยอมไปทำราชการกับฮ่องเต้สุยเหวินตี้ แห่งราชวงศ์สุย ในปีพ.ศ. ๑๑๓๒ ที่เมืองฉางอาน พอถึงสมัยฮ่องเต้สุยเอี๋ยงตี้ ได้รับตำแหน่ง เน่ยซื่อเซอเหยิน ซึ่งเป็นขุนนางระดับกลาง ต่อมาได้โปรดฯให้ไปรับตำแหน่งข้าหลวงทางทหารที่เมืองเจียง ในปีพ.ศ. ๑๑๖๐ หลี่เอวียน นายพลแห่งราชวงศ์สุย เป็นที่ถังกง ได้ตั้งตนเป็นเจ้าแล้วแยกออกมาเป็นอาณาจักรหนึ่งที่เมืองไท่หยวน ยกทัพไปตีเมืองเจียง เฉินสูต้ากำลังน้อยกว่าจึงยอมอ่อนน้อม หลี่เอวียนเห็นถึงความรู้ความสามารถของเฉินสูต้าสมัยที่รับราชการด้วยกันในราชวงศ์สุย จึงกล่อมเขาให้เข้าทำงานร่วมกัน เขาก็ยอม หลี่เอวียนจึงตั้งให้เป็นเลขาธิการของตน เป็นที่ ฮั่นตงกง ในปีพ.ศ. ๑๑๖๑ หลี่เอวียนขึ้นครองราชย์เป็นปฐมราชวงศ์ถัง จึงโปรดฯให้เฉินสูต้าดำรงตำแหน่ง หวงเหมินซื่อหลาง และในปีถัดมาได้เป็นที่ น่าเอี๋ยน เจ้ากรมการสอบไล่ ในปี พ.ศ. ๑๑๖๔ ได้มีการพัฒนาการสอบไล่และปรับปรุงเปลี่ยนชื่อจากกรมน่าเอี๋ยน เป็น ซื่อจง เฉินสูต้าจึงดำรงตำแหน่งเป็น ซื่อจง ด้วย วันหนึ่งฮ่องเต้ตรัสกับเขาว่า เมื่อพระองค์กำลังได้รับอันตราย เฉินสูต้ากราบทูลให้พระองค์ปฏิบัติในสิ่งที่ดี พระองค์ก็ทรงปฏิบัติตาม และจะพระราชทานของขอบคุณ แต่เขากราบทูลว่า ที่ทำนั้นไม่ใช่เพื่อพระองค์ แต่เพื่อพระราชอาณาจักรของพระองค์ต่างหาก กล่าวกันว่า เมื่อใดที่เฉินสูต้าเข้าเฝ้าหรือตามเสด็จ เขาจะเป็นจุดสนใจของคนทั่วไป ด้วยรูปร่างสูงงามสง่าและรูปหล่อมากดังกล่าวแล้ว ฝ่ายญาติพี่น้องแซ่เฉิน และเพื่อนฝูงที่อาศัยอยู่แถบลุ่มแม่น้ำแยงซีตอนใต้ ที่เป็นนักการศึกษาและฝ่ายบู๊ ต่างพากันมาหาเขา เขาได้ส่งเสริมให้ได้เข้ารับราชการเป็นจำนวนมาก ในปีพ.ศ. ๑๑๗๓ ฮ่องเต้ถังเกาจวี่ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้สูงขึ้นเป็นที่ เจียงจงกง江忠公 ในงานเลี้ยงขุนนางผู้ใหญ่ในพระราชวังวันหนึ่ง ฮ่องเต้ถังเกาจวี่ทอดพระเนตรเห็นเฉินสูต้ากำลังถือองุ่นอยู่ในมือ ทรงตรัสถามว่าจะเอาไปไหน เขากราบทูลว่า จะเอาไปให้มารดารับประทาน เพราะมารดาป่วยด้วยโรคปากเปื่อย ฮ่องเต้จึงทรงระลึกถึงพระมารดาของพระองค์ขึ้นมาทันใด จึงตรัสว่าเป็นการดีแล้วที่จะนำของกินไปฝากมารดา แล้วพระองค์พระราชทานผ้าไหมไปให้ด้วย ข้างภายในพระราชสำนักถัง เมื่อฮ่องเต้ทรงตั้งหลี่เจี้ยนเฉิงโอรสองค์โตเป็นองค์รัชทายาทแล้ว รัชทายาทกลัวว่าหลี่ซื่อหมินจะมีอำนาจมากกว่า จึงร่วมมือกับพระอนุชาชื่อ หลี่เอวี๋ยนจี พยายามลอบฆ่าหลี่ซื่อหมินหลายครั้ง แต่เขาก็รอดปลอดภัย ที่หนักที่สุดคืออาหารใส่ยาพิษที่ตำหนักหลี่เอวี๋ยนจี หลี่ซื่อหมินจึงขออนุญาตพระราชบิดาย้ายไปอยู่เมืองลั่วหยาง สองอ๋องทราบดังนั้นจึงรีบจัดการเก็บเสียก่อน จนวันหนึ่งแน่ใจว่ารุ่งเช้าพวกสองอ๋องจะลอบฆ่าเขาแน่ หลี่ซื่อหมินจึงรีบกราบทูลให้ฮ่องเต้ทรงทราบในคืนนั้น ฮ่องเต้จึงรับสั่งให้เฉินสูต้า เป่ยจีและเซียวจี้ทำการสอบสวนในวันรุ่งขึ้น แต่พอถึงตอนเช้าต่างฝ่ายต่างเตรียมทหารรักษาพระองค์ จะจัดการ แต่หลี่ซื่อหมินไหวตัวเร็วกว่าจึงให้ทหารรักษาพระองค์ฆ่าสองอ๋อง ทหารทั้งสองฝ่ายต่างฆ่ากันตายหลายร้อยคน หลี่ซื่อหมินจึงให้ฮ่องเต้ตั้งตนเป็นองค์รัชทายาท อีกสองเดือนต่อมาฮ่องเต้ถังเกาจวี่ จึงทรงสละราชสมบัติให้องค์ชายหลี่ซื่อหมินขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า ฮ่องเต้ถังไท่จง ในปีพ.ศ. ๑๑๖๙ ถึงสมัยฮ่องเต้ถังไท่จง ( หลี่ซื่อหมิน ) เฉินสูต้าก็ยังคงรับราชการอยู่เช่นเดิม แต่ไม่ได้เป็นที่ปรึกษา เพราะหลี่ซื่อหมินมีทีมงานของตนเองทั้งฝ่ายบุ๋นฝ่ายบู๊พร้อมสรรพ และแข็งแกร่งด้วย ทรงนั่งบัลลังก์ได้เพียง ๑๙ วัน พวกทูเจี๊ยะทางตะวันออกเฉียงเหนือยกทัพลงมาจะประชิดเมืองฉางอาน ฮ่องเต้จึงยกไปขัดตาทัพที่แม่น้ำเว่ย จึงได้เปิดการเจรจาสันติภาพกันขึ้น แต่ไม่มีข้อมูลว่าก่อนที่ฮ่องเต้ไท่จง จะเปิดเจรจานั้นได้ส่งใครไปเป็นทูตก่อน หรืออาจจะส่งเฉินสูต้าไปก็ได้ ด้วยตำแหน่งไต้สื่อ คือนักการทูตระดับสูง และเขาเป็นคนฉลาดในการพูดและพูดเก่งมาก กองทัพของเจี่ยลี่ คาน อาชินะ ตั๋วปิ มีหลานชายชื่อ ทูลี่ คาน อาชินะ ซื่อปั๋วปิ เป็นแม่ทัพ ทั้งสองฝ่ายตกลงเลิกทัพกลับ ฮ่องเต้ถังไท่จงรับสั่งให้มีการปรับปรุงระบบงานต่างๆ ในบางเรื่องเฉินสูต้าและเซียวซวี ได้กราบทูลคัดค้าน ทำให้คนทั้งสองถูกกล่าวหาว่า ไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ราชการ จึงถูกปลดออกจากตำแหน่ง และบังเอิญมารดาถึงแก่อนิจกรรม ตนจึงลาไปไว้ทุกข์ให้มารดาสามปี และเกิดป่วยขึ้นกะทันหันซ้ำเข้าไปอีก ฮ่องเต้จึงรับสั่งไม่ให้ขุนนางทั้งหลายไปเยี่ยมไข้และรบกวนเขา เมื่อออกทุกข์แล้วฮ่องเต้จึงโปรดฯให้ไปเป็นข้าหลวงเมืองสุย ( สุยหนิงในเสฉวนปัจจุบัน ) แต่เขาก็ยังป่วยอยู่ พระองค์จึงทรงแต่งตั้งให้เป็น เสนาบดีกระทรวงพิธีกรรม ต่อมาเฉินสูต้าถูกกล่าวหาในเรื่องผิดศีลธรรมในทางเพศ แต่ตามประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกว่าเรื่องอะไร ฮ่องเต้จึงรับสั่งว่าเขาเป็นขุนนางผู้ใหญ่ที่มีคนนับถือมาก ไม่อยากให้เรื่องอื้อฉาวออกไปภายนอก จึงปลดเขาออกแล้วให้ไปทำงานในหน่วยงานเล็กๆแห่งหนึ่ง เฉินสูต้าถึงแก่อนิจกรรมเมื่อพ.ศ. ๑๑๗๗ ภายหลังทางราชการจึงแต่งตั้งให้เขาเป็น เสนาบดีกระทรวงประชากร และเป็น เจียงเมี่ยวกง 江繆公 ด้วย ต่อมาเลื่อนเป็นระดับ จง 忠 หนังสือประวัติราชสกุลแซ่เฉิน ที่เรียกว่า เฉินซู เขียนโดย เหยาซื่อเหลียน ขุนนางในสมัยราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถัง เขาเขียนเสร็จในปีพ.ศ. ๑๑๗๙ บิดาของเขาเคยรับราชการในราชวงศ์เฉิน เป็นที่ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ส่วนเฉินสูต้าได้เขียนหนังสือไว้เช่นเดียวกัน บางส่วนอาจเป็นบันทึกเกี่ยวกับราชสกุลเฉินด้วย เฉินสูต้าได้รับราชการมาถึงสามราชวงศ์ คือ ราชวงศ์เฉิน ราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถัง ถ้าหากนับจำนวนฮ่องเต้ที่เข้ารับราชการด้วยแล้วมีถึง ๗ พระองค์
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๑
Title : Chen Shuda
: Somboon Kantakian
Credits : Somboon Kantakian
Note :
ในภาพ ๒ องค์ล่าง น่าจะเป็นพี่ชายคือ เฉินสูเหวิน และน้องชายคือ เฉินสูตั่น
|
|
|