Bookmark and Share Add to Favorites  
สมาชิกเข้าสู่ระบบ
User Name:
Password:
จำการล็อกอินของฉันไว้
ลืมรหัสผ่าน | สมัครสมาชิก
ลืมรหัสผ่าน
ใสอีเมล์ที่ลงทะเบียนไว้กับเรา
จีนศึกษา
  CHINESE TEXT PROJECT
  STANDARD CHINESE
  เส้นสายลายอักษร
  ลัทธิเต๋า
  รวมเรื่องจีนศึกษา-China Knowledge
  วัฒนธรรมศึกษาจากเว็บต่างๆ
  วัฒนธรรมศึกษาจากภาพ
  พระบรมฉายาลักษณ์ของฮ่องเต้
  มังกรจีนสมัยโบราณ
  มังกรจีนศึกษา
  เลือกเพศให้ลูก
  จีนโบราณจาก บริทิชมิวเซียม
  การเดินทางไกลของเหมาเจ๋อตุง
  จีนในปัจจุบัน
แซ่สกุล
  แซ่ตระกูลที่ใช้กันมาก
  ข้อมูลตระกูลแซ่ต่างๆ
  ประวัติบางแซ่สกุล
  200 แซ่สกุลที่ใช้มาก
  ตระกูลแซ่หลิน
มหาวิทยาลัยชั้นนำ
  BEIJING UNIVERCITY
  Shanghai Jiao Tong University
  Tsinghua University
  Xi'an Jiaotong University
  The Chinese University of Hong Kong
  The University of Hong Kong
  The Hong Kong University of Science and Technology
  Southeast University
  East China Normal University
  Tongji University
  Huazhong University of Science and Technology
  The Hong Kong Polytechnic University
  Tianjin University
  City University of Hong Kong
  Harbin Institute of Technology
  Wuhan University
  China Agricultural University
  Renmin University of China
  Xiamen University
  Fudan University
  Hong Kong Baptist University
  Shandong University
  Nanjing University
  University of Science and Technology of China
  Zhe Jiang University
พิพิธภัณฑ์และหอสมุด
  NATIONAL LIBRARY OF CHINA
  CHINA'S MUSEUMS
  GREAT WALL OF CHINA
  SACRED MOUNTAINS OF CHINA
หนังสือพิมพ์
  ซินหัวไทย
  People's Daily
  Xinhua
  China Daily
  China News
  China .com.cn
  China Youth Daily
เจ - มังสวิรัติ - VEGETARIAN
  เจ-อิ่มบุญ
  พลังบุญ
  เมนูอาหารเจ
  เจทิพย์
  อาหารมังสวิรัติ
  International Vegetarian Union (IVU)
  The Veggie Hub
  Vegetarianism
  A Guide to Vetetarian
  simple-veganista.com/all-recipes
เว็บเครือสมบูรณ์
  สมบูรณ์แก่นโน้ต
  ตระกูลแซ่หลิน
  ภูเก็ตสารสนเทศ
  สมบูรณ์แก่นโน้ต

หลิมกอเหนียว 林府姑娘

 

 

 

       เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หรือ หลิมกอเหนียว หรือ หลินฝู่กูเหนียง  林府  หรือหลิมฮู้กอเหนียว หรือ หลินฟู่กูเหนียง ซึ่งท่านได้รับการขนานนามว่า “เจ้าแม่” หรือเป็นเทพเจ้าชั้นเซียนองค์หนึ่ง เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไปเช่นเดียวกับเจ้าแม่ทับทิม แต่ท่านมามีชื่อเอาที่เมืองปัตตานี และท่านเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งที่อยู่ในบัญชีรายชื่อวันสำคัญของเทพเจ้า หรือวันแซยิดที่อยู่นอกประเทศจีนที่คนไทยคนจีนเคารพนับถือ

        ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นคนสกุลแซ่ลิ้มหรือแซ่หลิม หรือ หลิน เดิมชื่อ จินเหลียน 金蓮 หรือ กิมเหลียน แปลว่า ดอกบัวทอง นามบิดามารดามิได้ปรากฏ วันแซยิดหรือคล้ายวันกำเนิดของหลินจินเหลียน คือ วันที่ ๑๕ ค่ำ เดือน ๑ ประมาณ พ.ศ. ๒๐๘๖ ตรงกับรัชสมัยฮ่องเต้หมิงซื่อจง ปีเจียจิ้งที่ ๒๒ แห่งราชวงศ์หมิง  ที่ตำบลฮุ่ยไหล เมืองแต้จิ๋ว หลินจินเหลียนมีพี่ชายคนหนึ่งชื่อ หลินเต้าเฉียน ผู้โด่งดังในการเป็นโจรสลัดและนักรบผู้เก่งกล้าแห่งทะเลจีนใต้  ประวัติของหลินจินเหลียน จึงจำเป็นต้องกล่าวถึงประวัติของหลินเต้าเฉียนด้วย เพราะพี่น้องสองท่านนี้มีเรื่องเกี่ยวพันกัน ส่วนคำว่า ลิ้มกอเหนี่ยว นั้นหมายถึง คุณผู้หญิงแซ่ลิ้ม

        หลินเต้าเฉียน หรือ ลิ้มโต๊ะเคี่ยม  ถือกำเนิดที่ตำบลฮุ่ยไหล หรือ ฮุยไล้  แขวงเมืองแต้จิ๋ว  ประมาณ พ.ศ. ๒๐๘๓ ในรัชสมัยฮ่องเต้หมิงซื่อจง ปีเจียจิ้งที่ ๒๐ จากครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง หลินเต้าเฉียนเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด  ร่างกายแข็งแรงบึกบึน ชอบเรียนรู้ทั้งฝ่ายบู๊และฝ่ายบุ๋น แต่เขามีความเชี่ยวชาญทางเพลงอาวุธมากกว่า โดยเฉพาะการยิงธนูที่แม่นยำ ตลอดจนชีวิตในท้องทะเล เพราะบ้านอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล เขามีเพื่อนฝูงเป็นจำนวนมาก ด้วยเป็นคนที่มีลักษณะเป็นผู้นำ  เขาเข้ารับราชการที่อำเภอได้ระยะหนึ่ง จึงย้ายไปเมืองเฉวียนโจว ซึ่งเป็นเมืองที่มีพ่อค้าเรือต่างชาติเข้ามาค้าขายเป็นจำนวนมาก ทั้งชาวเอเชียและยุโรป  ในขณะที่รับราชการที่เมืองเฉวียนโจวได้ทราบข่าวว่าบิดาถึงแก่กรรม เขาจึงเดินทางกลับไปฝังศพบิดา และให้จินเหลียนน้องสาวดูแลมารดา ส่วนตัวเขากลับไปทำงานที่เฉวียนโจวได้ระยะหนึ่ง ก็ถูกรังแก ด้วยหาว่าคบกับพวกโจรสลัดที่อยู่ในคราบของพ่อค้าสำเภา  คือ ไท่อันเหลา เขาจึงตัดสินใจออกจากราชการเข้าทำงานกับไท่อันเหลา  เมื่อถูกทางราชการเพ่งเล็งเช่นนี้ เขาจึงต้องตกกระไดพลอยโจน  ไท่อันเหลาได้เลี้ยงดูเขาเป็นอย่างดี ยกย่องให้เป็นผู้สืบทอดกิจการในการเดินเรือ  เขาจึงอพยพไปอยู่เกาะทงจั๋วฉาวเทียน โดยรวมพรรคพวกจากแผ่นดินใหญ่ได้ประมาณ ๔๐ คน เรือจำนวน ๖ ลำ แล้วย้ายไปอยู่ เกาะต่าโก้ว ทางทิศใต้ของเกาะ คำว่า ต่าโก้ว หมายถึง ป่าไผ่ตามภาษาพื้นเมือง คือ เมืองเกาเสียงในไต้หวันปัจจุบัน

        หลินเต้าเฉียนได้ย้ายครอบครัว มารดาและน้องสาวไปอยู่ด้วย โดยมีอาชีพเป็นพ่อค้าสำเภา แต่ในขณะเดียวกันเมื่อสบโอกาสก็จะกลายเป็นโจรสลัดปล้นเรือสินค้าด้วย ซึ่งท้องทะเลจีนใต้ รอบเกาะไต้หวัน ในสมัยราชวงศ์หมิงตอนปลาย มีโจรสลัดชุกชุม ทั้งโจรจีนและโจรสลัดญี่ปุ่นที่เรียกว่า โอวโก้ว  จนทางการจีนต้องให้ทหารประจำมณฑลทำการกวาดล้าง ซึ่งเป็นการยากที่จะจับกุม ในเมื่อทุกคนอยู่ในสภาพทั้งพ่อค้าสำเภาและโจรสลัดด้วย ชีวิตและครอบครัวของหลินเต้าเฉียนจึงเริ่มมั่งมีศรีสุขขึ้น โดยมีหลินจินเหลียนเป็นผู้ช่วย 

        จากตำนานไต้หวันกล่าวว่า  ในปี พ.ศ. ๒๑๐๖ซึ่งเขาอายุประมาณ ๒๓ ปี เต้าเฉียนได้นำกองเรือเข้าจอดที่ท่าเรือเมืองต่าโก้ว แล้วนำทรัพย์สินเพชรนิลจินดาที่ปล้นมาได้ใส่เข่งไม้ไผ่จำนวน ๑๘ เข่งครึ่ง นำไปซุกซ่อนไว้รอบเนินเขาแห่งหนึ่ง ตามคำแนะนำของซินแสอู่ป๋าเซียน 吳半仙 ผู้ดูฮวงจุ้ยให้  เขายังแนะนำต่อไปว่า หากหลินเอาศพบิดามาฝังไว้ที่ถ้ำมังกร ซึ่งอยู่ใกล้เมืองเจี่ยลี่ในปัจจุบัน  แล้วเอาดอกศรธนูจำนวน ๓ ดอกวางไว้บนแท่นบูชา  ให้เขานอนเฝ้าจำนวน ๑๐๐ วัน ขณะที่นอนให้อมเมล็ดข้าวสารจำนวน ๑๐๐ เมล็ดทุกคืน  เมื่อถึงคืนสุดท้ายตอนเช้ามืด ให้เอาดอกศรขึ้นสายธนูเล็งไปที่เมืองหลวง คือกรุงปักกิ่งซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ แล้วยิงไปทั้งสามดอก เขาก็จะปราบศัตรูได้ทั่วทิศและได้เป็นฮ่องเต้ด้วย

        ในช่วงกลางวันวันหนึ่งเขาเข้าป่าล่าสัตว์บนเชิงเขา  ได้ไก่ป่าวิเศษตัวผู้มาตัวหนึ่ง ไก่ป่าตัวนี้เวลาขันจะไกลกว่า ๓๐๐ ลี้ ทำให้ไก่ป่าตัวอื่นๆขันตามกันเป็นทอดๆ เขาจึงนำไก่ป่าตัวนั้นไปให้จินเหลียนเลี้ยง ในคืนก่อนวันที่ ๑๐๐ ครบกำหนดคือคืนที่ ๙๙ ก่อนเที่ยงคืนจินเหลียนนอนไม่หลับ จึงลุกออกไปดูไก่  พอถึงเที่ยงคืน ปรากฏว่าไก่ป่าตัวนั้นขันขึ้น ทำให้เต้าเฉียนตกใจตื่นขึ้นคิดว่าเป็นเวลารุ่งเช้าแล้ว จึงรีบไปเอาดอกศรขึ้นสายยิงไปทางเมืองหลวงทั้งสามดอก เขาดีใจที่คิดว่าทำการสำเร็จจึงเข้านอนต่อ

        ดอกศรทั้งสามไปปักที่พนักบัลลังก์มังกรทอง ในท้องพระโรง  แต่บังเอิญฮ่องเต้หมิงซื่อจงมิได้ประทับ ณ เวลาเที่ยงคืน  เมื่อเช้าเสด็จไปยังท้องพระโรง เพื่อให้ขุนนางเข้าเฝ้า เมื่อทอดพระเนตรเห็นดอกศร จึงรับสั่งให้ราชองครักษ์ตรวจตราเข้มงวด เพราะมีผู้ลอบปลงพระชนม์ เมื่อขันทีนำดอกศรมาให้ทอดพระเนตร ทรงเห็นชื่อแซ่ของหลินเต้าเฉียนที่จารึกบนดอกศร พระองค์จึงรับสั่งให้ทหารประจำมณฑลฮกเกี้ยน ยกกำลังไปปราบเต้าเฉียนโดยให้จับเป็นส่งไปยังเมืองหลวง แต่จากความเป็นจริงน่าจะเป็นกลอุบายของขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายท้องถิ่นร่วมมือกับขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายราชสำนัก นำเอาดอกศรสามดอกให้ราชองครักษ์ยิงที่พนัก เพื่อเรียกร้องความสนใจให้ฮ่องเต้ทรงกริ้ว จะได้รับสั่งให้กองทหารไปปราบโจรสลัดในแถบทะเลจีนใต้ให้ราบคาบ ซึ่งก็ได้ผล คือฮ่องเต้รับสั่งให้นายพลทหารไปปราบปรามดังกล่าว

        ฝ่ายนายพลทหารประจำมณฑล คือ นายพลฉิ้จี้กวง นำกองเรือออกไปปราบ เมื่อกองทหารเข้าล้อมป้อมค่ายของหลินซึ่งเขามีกองกำลังน้อยกว่า จึงวางแผนตีฝ่าวงล้อมออกไป  ข้างจินเหลียนกลัวว่าทรัพย์สมบัติทั้งหมดจะสูญหาย จึงพะวงอยู่กับสิ่งของเหล่านั้น จนเวลาจวนเจียนจึงรีบหนีตามพี่ชายออกไป โดยหลินได้ข้ามช่องเขาต่าโก้วกับซื่อโหว ไปยังชายฝั่งหน้าผาหิน ซึ่งมีโพรงที่น้ำทะเลซัดขึ้นมาได้ เขาและพวกจึงมุดโพรงนั้นลงไปดำน้ำโผล่กลางทะเลหนีรอดไปได้ ส่วนจินเหลียนพลัดกับพี่ชาย มีการปล่อยข่าวว่า พี่ชายได้ฆ่าน้องสาวตายเสียแล้ว เพื่อป้องกันการติดตาม

        ฝ่ายหลินหนีไปยังเกาะแห่งหนึ่ง แล้วรวมพรรคพวกทำการต่อไป  อย่างไรก็ตาม ในทะเลจีนใต้รอบเกาะไต้หวันขณะนั้นมีโจรจีนสลัดหลายกลุ่มที่ทำการสองหน้าอยู่ คือเป็นทั้งพ่อค้าสำเภาและโจรสลัด ที่มีชื่อเสียงคือ หวินตั๋วเฉียม หรือ วินโต๊ะเคี่ยม กลุ่มโจรสลัดเหล่านั้นทางการไม่สามารถทำอะไรได้เลย

        ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๐๖ – ๒๑๑๖ ประมาณ ๑๐ ปี หลินได้รวบรวมพลพรรคแข็งแกร่งขึ้น เขามีกองเรือกว่า ๔๐ ลำ มีทหารที่เก่งกล้าหลายพันคน  เขาจึงนำกองเรือเข้าโจมตีเมืองของหวินตั๋วเฉียม  แต่หวินหนีรอดไปได้จากวงล้อมเรือจำนวนห้าลำของหลิน โดยทิ้งเรือจำนวน ๕๕ ลำไว้ให้หลิน ดังนั้นหลินจึงมีกองเรือจำนวน ๙๕ ลำ มีทหารกว่า ๓๐๐๐ นาย เขาได้ชื่อว่า เป็นท่านอ๋องแห่งทะเลหลวงในจีนตอนใต้

        อย่างไรก็ตาม ทางการจีนพยายามปราบปรามพวกโจรสลัดอยู่ตลอด ในปลายปี พ.ศ. ๒๑๑๖ หลินจึงตัดสินใจหาแหล่งพำนักใหม่  เขาจึงยกกองเรือจำนวน ๙๕ ลำและนายทหารจำนวนกว่า ๓๐๐๐ นาย เดินทางออกทะเลหลวง มุ่งหน้าไปยังหมู่เกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน ซึ่งขณะนั้นพวกสเปนและโปรตุเกสเป็นเจ้าของอยู่

        กองเรือของหลินเดินทางถึงเมืองอิโลคอสซัวร์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะลูซอน ในต้นปี พ.ศ. ๒๑๑๗ หลินได้เกิดการวิวาทกับสเปน คือ ฮวน เดอ ซาลเซโด หลังจากที่สู้รบกับกองเรือสเปน เขาจึงถอนกำลังออกจากเมืองอิโลคอสซัวร์ บังเอิญขณะนั้นมีเรือสินค้าสองลำ ค้าขายระหว่างสเปนกับโปรตุเกสที่หมู่เกาะลูซอนกับจีน เขาจึงทราบจากคนเรือว่า จีนไม่มีนโยบายที่จะรบกับประเทศเพื่อนบ้าน  เขาตั้งใจที่ยึดมะนิลาซึ่งเป็นเมืองใหม่เพิ่งสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๔ เพื่อสร้างอาณาจักรของตน ซึ่งขณะนั้นเขามีเรือจำนวน ๖๔ ลำ ในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๑๑๗ เขาเข้ายึดเมืองมนิลา เขาฆ่านายทหารข้าหลวงเมืองมนิลา คือ มาร์ติน เดอ โกอิติ แล้วเผาเมืองทิ้ง ต่อมาภายหลังซาลเซโดบูรณะขึ้นใหม่

        แล้วกองเรือของหลิน ก็หายไปจากชายฝั่งอิโลคอสซัวร์ในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๑๑๗  ขณะที่เขาเดินทางอยู่นั้น สายลับสเปนติดตามรายงานทุกระยะที่เขาเดินทาง ผู้นั้นคือ ลาเวอซาเรส ผู้เป็นข้าหลวง  หลินแล่นเรือขึ้นไปทางเหนือเข้าเมืองลินกาเยน แขวงเมืองพันกาซินัน เขาเห็นว่าเมืองนี้อุดมสมบูรณ์ อยู่ห่างไกลจากพวกสเปนและโปรตุเกส พวกเขาคงไม่มารังควานแน่  แล้วลงมือสร้างอาณาจักรของตนตามความตั้งใจ ซึ่งคนพื้นเมืองและหมู่บ้านใกล้เคียง ให้การยอมรับเขามากกว่าพวกยุโรป ทำการสร้างป้อมปราการด้วยท่อนซุงมะพร้าวที่แม่น้ำอักโน ซึ่งอยู่ห่างจากปากน้ำสู่ทะเลประมาณ ๔ ไมล์  สร้างศาลเจ้า สร้างที่พักอาศัยให้พวกทหาร สร้างวังของตน ด้วยต้นมะพร้าวทั้งต้นทั้งสิ้น แล้วตั้งตนเป็นราชาคาซิคิส ปกครองเมืองนี้ ด้วยการยึดเอาแบบแผนธรรมเนียมจีน เขาใช้เวลาเพียง ๗ เดือนที่อยู่เมืองนี้

        ฝ่ายกองเรือสเปนมีนายทหารจำนวน ๒๕๖ นาย ทหารพื้นเมือง ๒๕๐๐ คน พร้อมทั้งราชาลากันโคลาและโอรส เข้าร่วมโจมตีหลินด้วยกองเรือ ๕๙ ลำ เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๑๑๘ กองเรือของหลิน ๖๐ ลำถูกเผา ถูกล้อมกรอบขังอยู่ในป้อมปราการจนทำอะไรไม่ได้  จึงวางแผนหนีออกจากที่ล้อมด้วยการขุดคลองลินกาเยน ในขณะเดียวกันก็สร้างเรือลำเล็กๆจำนวน ๓๐ ลำ  โดยใช้เวลา ๔ เดือน เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๑๑๘ ก็เสร็จ จึงหนีลอยลำออกจากเกาะในปี พ.ศ. ๒๑๑๙ ในขณะที่เขาขุดคลองและสร้างเรืออยู่นั้น พวกสเปนและคนพื้นเมืองไม่มีใครรู้หรือสังเกตเลย

        ในเวลาเดียวกัน ทางการจีนได้จัดตั้งกองเรือขึ้นสามกองทัพเพื่อทำการกวาดล้างพวกโจรสลัดในท้องทะเลหลวงให้สิ้นซาก จึงได้ส่งกองเรือจำนวน ๑๓๕ ลำ พร้อมด้วยทหารจำนวน ๔๐,๐๐๐ คน ออกล่าหลินไม่ว่าเป็นหรือตาย โดยมีนายพลเรือโอมนชน ผู้มีอำนาจเต็มจากฮ่องเต้ แล่นถึงหมู่เกาะลูซอน แต่หลินได้หนีไปก่อนหน้านั้นแล้ว กองเรือจีนเกิดการสู้รบกันเล็กน้อยกับสเปน ต่อมานายพลจีนเข้าพบซาลเซโดตกลงสงบศึก โดยทางจีนยอมรับนักโทษจีนที่เป็นโจรสลัดกลับเมือง และขอให้ทางจีนรับพวกบาทหลวงคณะต่างๆเข้าไปสอนศาสนาคริสต์ในจีนได้

        หลินเต้าเฉียนกับพวกทหารของเขาจึงร่อนเร่พเนจรต่อไปยังดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะจะขึ้นเหนือไปจีนคงไม่ได้แล้ว คงใช้เวลาเดินทางไปยังที่ต่างๆประมาณ ๔ ปีจนถึงเมืองปัตตานี ประมาณ พ.ศ. ๒๑๒๓ ขณะนั้นเขาอายุได้ ๓๙ ปี

        ข้างฝ่ายเมืองปัตตานี มีราชามันโชว์ หรือ สุลต่านบาฮาร์ตูชาห์ แห่งราชวงศ์ศรีวังสา เป็นเจ้านครตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๑๕ และสิ้นพระชนม์ พ.ศ. ๒๑๒๕ พระองค์ไม่มีโอรส มีพระธิดาสี่องค์ คือ  รายาฮีเยาะ รายาบีรุ รายาอูงูและรายากุหนิง การเมืองในปัตตานีขณะนั้นจึงวุ่นวายต่างอยากเป็นสุลต่านครองเมือง เกิดกบฏต้องปราบปรามกัน ซึ่งว่างเจ้าครองนครอยู่ถึงปีเศษ จึงได้ตกลงยกพระธิดาองค์โตคือ รายาฮีเยาะขึ้นเป็นราชินีฮีเยาะ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๒๗

        เมื่อหลินเต้าเฉียนได้เหยียบย่างเข้าสู่เมืองปัตตานี ซึ่งคงเป็นเมืองในอุดมคติของเขา ที่บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ ร่มเย็น อยู่ติดชายทะเลมีเมืองท่า มีชาวต่างชาติยุโรปและแถบเอเชีย รวมทั้งจีนเข้ามาค้าขายกันมาก อายุเขาก็มากแล้วคือสี่สิบปี และประการสำคัญ เขาได้พบรักกับหญิงผู้สูงศักดิ์ คือ รายาบีรุ พระขนิษฐาของรายาฮีเยาะ ด้วยความรู้ความสามารถและประสบการณ์ต่างๆ ตลอดจนการเป็นนายทหาร ที่เชี่ยวชาญในการรบทั้งบนบกและทะเล เขาจึงได้รับความไว้วางพระทัยจากรายาให้ทำหน้าที่ทางด้านศุลกากรที่ท่าเรือปัตตานี  ต่อมาจึงได้อภิเษกกับรายาบีรุประมาณ พ.ศ. ๒๑๒๕- ๒๑๒๗ เมื่ออายุประมาณ ๔๑ ปี และเข้าศาสนาอิสลาม

        ฝ่ายหลินจินเหลียนคงจะมีครอบครัว ตามธรรมเนียมคนจีน พยายามติดตามข่าวคราวของพี่ชายเสมอ โดยสอบถามชาวเรือที่ไปมาค้าขายที่เมืองท่า เพื่อแจ้งมารดา เพราะมารดาเป็นห่วงและคิดถึงบุตรชาย เมื่อทราบว่า พี่ชายได้ตั้งหลักปักฐานมีครอบครัวที่ปัตตานี จึงขออนุญาตมารดาไปเยี่ยม ข้างมารดาทนอ้อนวอนไม่ไหวประกอบกับอยากพบบุตรชาย จึงอนุญาตหลินจินเหลียนให้เดินทางไปปัตตานี นางจึงชวนบรรดาญาติมิตรและพ่อค้าสำเภา จำนวน ๙ ลำ เดินทางไปปัตตานี

        นางเข้าไปหาพี่ชาย ผู้เป็นพระสวามีของรายาบีรุที่ในวัง ต่างไต่ถามสารทุกข์สุกดิบเกี่ยวกับมารดาและความเป็นอยู่ ซึ่งต่างก็มีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย เพียงแต่มารดาคิดถึงมากและอยากให้หลินเต้าเฉียนกลับไปเมืองจีน แต่หลินเต้าเฉียนมีชนักติดหลังเกี่ยวกับโจรสลัดที่ทางการตามล่าไม่ว่าเป็นหรือตาย การไปจีนจึงเหมือนกับไปตาย เพราะทางการจีนไม่ได้อภัยโทษให้ตนแต่อย่างใด ประกอบกับตนได้แต่งงานมีครอบครัวและอาชีพที่เมืองปัตตานีเรียบร้อยแล้ว  เมื่อเหตุการณ์เป็นดั่งนี้จึงสร้างความหนักใจให้กับเขามาก ส่วนหลินจินเหลียนก็เห็นใจพี่ชาย แต่นางถือเอาความกตัญญูต่อมารดาเป็นเรื่องใหญ่ จึงอ้อนวอนให้พี่ชายกลับให้ได้ ถ้าไม่กลับนางก็จะขอตายอยู่ที่เมืองนี้ เป็นคำขู่ที่หลินเต้าเฉียนยากที่จะตัดสินใจ แต่บังเอิญในช่วงนั้นเกิดกรณีแย่งราชบัลลังก์กัน หลินเต้าเฉียนต้องช่วยปราบกบฏ หลินจินเหลียนจึงเข้าช่วยพี่ชายทำการสู้รบปราบกบฏจนราบคาบ   นางจึงพักอาศัยที่ปัตตานีได้ระยะหนึ่ง  เมื่อเหตุการณ์สงบ นางจึงรบเร้าพี่ชายอีก แต่เขาก็ยังยืนกรานเหมือนเดิม

        ด้วยความกตัญญูต่อมารดา ที่รับปากว่าจะพาพี่ชายกลับเมืองจีนให้ได้ ประกอบกับความน้อยเนื้อต่ำใจ นางจึงผูกคอตายที่ใต้ต้นมะม่วงหิมพานต์  ซึ่งสร้างความเศร้าเสียใจให้กับหลินเต้าเฉียนเป็นอันมาก ที่นางแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ เขาจึงประกอบพิธีฝังศพหลินจินเหลียนแบบจีนไว้ที่ฮวงซุ้ยหมู่บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมืองปัตตานีอย่างสมเกียรติ ส่วนผู้ที่ติดตามนางมาก็ตั้งหลักปักฐานที่ปัตตานีตามคำชักชวนของหลินเต้าเฉียน ยกเว้นไต้ก๋งเรือที่รับนางมาด้วย ถ้านางไม่กลับเขาจะเฝ้าเรือสำเภาจนตัวตาย และเขาก็ได้ปฏิบัติตามที่พูด

        ฝ่ายหลินเต้าเฉียนดำเนินชีวิตอยู่ตามฐานะและคงมีบุตรธิดาหลายคน รวมทั้งภรรยาตามกฎอิสลามด้วย  ส่วนการปกครองเมืองปัตตานีของราชินีฮีเยาะ เป็นยุคแห่งความรุ่งเรืองสูงสุดหรือยุคทองของนางกษัตริย์ที่ได้ปกครองปัตตานี มีชนต่างชาติเข้ามาค้าขายจำนวนมาก บ้านเมืองร่มเย็น พระนางครองเมืองปัตตานีจนถึง พ.ศ. ๒๑๕๙ พระนางก็สิ้นพระชนม์  รายาบีรุ ผู้เป็นพระขนิษฐา และเป็นภรรยาหลินเต้าเฉียน จึงขึ้นครองราชย์ต่อมาในปีเดียวกัน ซึ่งขณะนั้นหลินเต้าเฉียนอายุได้ ๗๕ ปีแล้ว พระนางจึงมีรับสั่งให้โต๊ะหลินเต้าเฉียนควบคุมการก่อสร้างมัสยิด เป็นอาคารตึกก่ออิฐถือปูน ๓ ห้อง มีเฉลียงโดยรอบกว้าง ๒ วา ยาว ๕ วา ส่วนฝาผนังมีลักษณะโค้งทั้งสี่ด้าน พื้นเฉลียงสูง ๒ ศอก หรือมีความกว้าง ๑๕.๑๐ เมตร ยาว ๒๙.๖๐ เมตร สูง ๖.๕๐ เมตร การก่อสร้างได้สร้างถึงคานบน กำลังจะก่อสร้างรูปโดม ก็เกิดเหตุอัศจรรย์ฟ้าผ่าเสียหายถึงสามครั้ง โต๊ะหลินจึงสำนึกตนเองว่าคงได้สร้างตราบาปเอาไว้ ที่ทอดทิ้งมารดาไม่ไปดูแลเยี่ยมเยือน อีกทั้งน้องสาวต้องมาผูกคอตายที่นี่ หลินจึงยกเลิกการก่อสร้าง อาคารจึงปรากฏเห็นเป็นโครงสร้างดังกล่าวตลอดมา จนถึง พ.ศ. ๒๕๒๕ งานฉลอง ๒๐๐ ปีกรุงรัตนโกสินทร์ กรมศิลปากรจึงได้บูรณะต่อจนสำเร็จ

        ข้างพระราชินีบีรุทรงมีรับสั่งให้โต๊ะหลินเต้าเฉียน หล่อปืนใหญ่สำหรับเมืองจำนวน ๓ กระบอก หลินจึงวางแผนออกรูปแบบ หาช่างผู้ชำนาญการหล่อ ตลอดจนวัสดุชนิดต่างๆที่จะใช้หล่อ เมื่อได้สิ่งของตามที่ต้องการแล้ว จึงได้ทำการหล่อกระบอกแรก จนเสร็จ ตัวปืนใหญ่ยาว ๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ๒ นิ้วกึ่ง ขนาดของกระสุน ๑๑ นิ้ว ตั้งชื่อว่า นางพญาตานี  แล้วทำการหล่อกระบอกที่สองจนสำเร็จเช่นเดียวกัน ตั้งชื่อว่า ศรีนครี จึงหล่อกระบอกที่สามจนเสร็จสิ้น ตั้งชื่อว่า มหาเหล่าหลอ เมื่อสร้างเสร็จแล้ว หลินจึงให้เจ้าพนักงานทำการประจุดินประสิวและกระสุนทดลองยิง ปรากฏว่าปืนใหญ่กระบอกแรกยิงได้ดี แล้วทดลองยิงกระบอกที่สอง ผลเป็นที่น่าพอใจเช่นเดียวกัน จึงให้ทดลองยิงกระบอกที่สาม ปรากฏว่าเจ้าพนักงานประจุดินประสิวใส่กระสุนแล้วจุดชนวนแต่ไฟดับ ยิงไม่ออก จึงให้เจ้าพนักงานทดลองใหม่ ปรากฏว่าจุดชนวนแล้วยิงไม่ออกหลายครั้ง หลินเต้าเฉียนจึงให้พนักงานประจุดินปืนและกระสุนใหม่ คราวนี้ตนจะขอจุดชนวนเอง เมื่อชนวนไฟถึงกระบอกปืนเงียบหายไป แล้วทันใดนั้นแทนที่กระสุนจะแล่นออกไปข้างหน้า ปรากฏว่าตัวกระบอกปืนระเบิดขึ้น ซึ่งหลินเต้าเฉียนยืนอยู่ใกล้ เขาถูกสะเก็ดระเบิดอย่างแรงและสิ้นชีวิตทันทีประมาณ พ.ศ. ๒๑๖๑ อายุได้ ๗๗ ปี  พระราชินีบีรุรับสั่งให้ประกอบพิธีฝังศพโต๊ะหลินเต้าเฉียน ที่กุโบตันหยงลูโละ

 

ปืนใหญ่นางพญาตานี ปัจจุบันตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม

 

        ฝ่ายหลินจินเหลียนตั้งแต่สิ้นชีวิตแล้ว ดวงวิญญาณคงเป็นห่วงพี่ชายจึงวนเวียนอยู่แถบปัตตานี  หลายครั้งปรากฏให้คนเห็นให้โชคให้ลาภ ช่วยพวกชาวเรือให้พ้นจากพายุร้าย เป็นที่กล่าวขานกันปากต่อปากถึงความศักดิ์สิทธิ์ของนาง ชาวบ้านจึงบนบานขอพรขอในสิ่งที่พวกตนอยากได้ และต่างก็ได้รับสมประสงค์ จึงชักชวนกันสร้างศาลเจ้าขึ้นที่หมู่บ้านกรือเซะ พร้อมกับแกะรูปจำลองของหลินจินเหลียน ตั้งไว้ในศาลเจ้าให้คนได้บูชา และประกอบพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณของนางมาสถิตที่ศาลเจ้า พร้อมกับขนานนามว่า “เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว”  ชาวบ้านต่างพากันมาบนบานให้เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวช่วยเหลือในทางทำมาหากิน ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความเดือดร้อนต่างๆ และปรากฏว่าได้ผลทันตาเห็นเป็นที่เลื่องลือไปยังเมืองอื่นๆ

        ต่อมา พระจีนคณานุรักษ์ ( ตันจูหลาย ) กรมการพิเศษเมืองปัตตานีซึ่งเป็นหัวหน้าชาวจีนหรือกัปตันจีนในปัตตานี ได้เจ็บป่วยรักษาหมอหลายคนยาหลายขนานก็ไม่หาย เมื่อหมดหนทาง ตนจึงต้องพึ่งพระเฉ่งจุ้ยโจวสู่กง ซึ่งสถิตอยู่ที่ศาลเจ้าหลังเล็กๆชื่อศาลเจ้าซูก๋ง ให้ประทับทรง พระประทับทรงบอกว่าให้ไปขอยาจากเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมากินก็จะหายจากโรค ตนจึงไปที่ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวให้คนประทับทรง เจ้าแม่บอกว่า ไม่ขัดข้อง แต่ถ้าหายแล้วจะต้องสร้างศาลเจ้าให้ใหม่ที่เมืองปัตตานี แล้วอัญเชิญรูปพระเฉ่งจุ้ยโจวสู่กงไปประดิษฐาน พร้อมกับรูปแกะสลักของเจ้าแม่ โดยให้ใช้ไม้มะม่วงหิมพานต์ต้นที่เจ้าแม่เคยผูกคอตายมาทำรูปจำลอง พระจีนคณานุรักษ์ก็รับคำ เมื่อได้ขอยามาต้มรับประทานจนหายจากโรค ตนจึงได้ก่อสร้างศาลเจ้าขึ้นใหม่ พร้อมกับนำป้ายศาลเจ้าเก่าคือศาลเจ้าซูก๋ง ซึ่งมีข้อความบอกว่า ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างเมื่อปีว่านลี่ที่ ๒ หรือ รัชสมัยฮ่องเต้หมิงเสินจง แห่งราชวงศ์หมิง พ.ศ. ๒๑๑๗ มาไว้ พร้อมกับทำพิธีอัญเชิญเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจากกรือเซะ มาประดิษฐานด้วย และเรียกว่าศาลเจ้า “เล่งจูเกียง”

        เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จึงเป็นที่พึ่งของผู้เดือดร้อนทุกข์ยาก ด้วยการไปสักการะเสี่ยงเซียมซี เพื่อถามเกี่ยวกับการทำมาค้าขาย การขอโชคลาภ การขอยารักษาโรค และเรื่องอื่นๆที่ชาวบ้านไม่ทราบจะไปถามหรือปรึกษาใคร มีเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเป็นที่พึ่งได้ตลอดของทุกคนทุกชนชั้นจนถึงปัจจุบัน

        วันสำคัญของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวคือวันที่ ๑๕ ค่ำ เดือน ๑ และวันที่ ๒๗ ค่ำ เดือน ๗

 

 

             :   สมบูรณ์ แก่นตะเคียน  ๒๗ เมษายน ๒๕๕๑

 

Title      :   Lin Fu Gu Niang

 

            :   Somboon Kantakian

 

Revised :  November 8, 2008.

 

 

 

 

             

          

       

 

บทความอื่นๆ ในหมวดเดียวกัน