|
เตียวเทียนซื่อ
เทพเจ้าเตียวเทียนซื่อ 教祖張天師 หรือ เตี่ยวเทียนซื่อ หรือ จางเทียนซื่อ หรือ จางเต้าหลิง หรือมหาวิสุทธาจารย์ เป็นปรมาจารย์ลัทธิเต๋านิกายอู่ไต้หมี่เต้าหรือนิกายข้าวห้าถุง จางเต้าหลิงถือกำเนิดในตระกูลแซ่จางหรือแซ่เตียว เมื่อวันที่ ๑๘ ค่ำ เดือน ๕ เมื่อ ค. ศ. ๓๔ นามบิดามารดามิได้ปรากฏ ตรงกับรัชสมัยฮ่องเต้ฮั่นก่วงตี้ แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ในปีเจี้ยนอู่ที่ ๑๐ ณ หมู่บ้านเชิงเขาเทียนมู่ ตำบลเฟิงเสี้ยน มณฑลเจียงซูในปัจจุบัน กล่าวกันว่า จางเต้าหลิงสืบเชื้อสายมาจากจางเหลียง ขุนนางที่รับราชการในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ก่อนที่ท่านจะถือกำเนิดมารดาฝันว่า มีเทพเจ้าองค์หนึ่งร่างกายสูงมากสวมมงกุฎทองคำ สวมเสื้อชุดผ้าไหมถัก เสด็จลงมาจากกลุ่มดาวจระเข้ถึงห้องนอนของนาง แล้วทรงมอบต้นไม้หอมให้ต้นหนึ่ง เทพเจ้าองค์นั้นก็หายไป นางตกใจตื่นขึ้นมาปรากฏว่ามีกลิ่นหอมไปทั่วห้อง กลิ่นนี้อยู่เป็นเดือนจึงจางหายไป แล้วนางก็ตั้งครรภ์ วันหนึ่งขณะที่นางกำลังทำงานอยู่นั้นปรากฏว่าเจ็บครรภ์ ในห้องมีแสงสว่างสีแดงและมีกลิ่นหอมตรลบอบอวลไปทั้งห้อง นางก็คลอดบุตรออกมาเป็นชาย แต่กลิ่นหอมยังคงมีไปเป็นเดือน บิดามารดาจึงตั้งชื่อให้ว่า เต้าหลิง เป็นจางเต้าหลิง ในฐานะที่เป็นบุตรเชื้อสายขุนนางที่มีฐานะ เต้าหลิงจึงได้เรียนหนังสือตั้งแต่เด็ก เต้าหลิงมีความเฉลียวฉลาด มีความจำเป็นเลิศ นับเป็นเด็กอัจฉริยะคนหนึ่ง สามารถอ่านและจำคำสอนในหนังสือ เต้าเต๋อจิง วิชาดาราศาสตร์ วิชาภูมิศาสตร์ วรรณกรรม ฯลฯ ตั้งแต่อายุเพียง ๗ ขวบเท่านั้นเมื่อรุ่นหนุ่มจึงได้ศึกษาเพลงอาวุธประเภทต่างๆ และเรียนวรรณคดีสำคัญ ๕ เรื่อง คือ อี้จิง๑ บทกวีนิพนธ์๑ พิธีกรรม๑ ประวัติศาสตร์สามราชวงศ์ คือ เซี่ย ซังและโจว๑ จดหมายเหตุสมัยชุนชิว๑ รวมทั้งดนตรี จนเมื่อเติบใหญ่ขึ้น ร่างกายของจางเต้าหลิงก็เปลี่ยนไป ลำตัวสูง มีบุคลิกลักษณะพิเศษ คือ ศีรษะค่อนข้างโต หน้าผากกว้าง ผมสีแดง ดวงตาสีเขียว จมูกยาวตรง ปากเป็นเหลี่ยม ขนคิ้วดก ใบหูใหญ่ เครายาว ทำให้มองดูเขาเป็นเหมือนเทพเจ้าองค์หนึ่งทีเดียว มีความแคล่วคล่องว่องไว แล้วไปสมัครสอบการแข่งขันเข้ารับราชการ เพื่อสอบจอหงวนฝ่ายอู่(บู๊) จากคนทั่วประเทศที่สมัครสอบ ปรากฏว่าเต้าหลิงสอบได้ติดเป็นอันดับสอง แล้วได้เข้าศึกษาราชวิทยาลัยในพระราชวังเพื่อเตรียมตัวเป็นขุนนาง หลังจากได้รับการศึกษาระบบราชการการเมืองและการปกครองแล้ว ฮ่องเต้โปรดฯให้ไปเป็นข้าหลวงเมืองจิงโจว ขณะที่รับราชการอยู่นั้น เต้าหลิงได้ศึกษาด้านการนั่งสมาธิด้วย และตั้งใจที่จะลาออกจากราชการ ไปบำเพ็ญพรตที่ภูเขาเป่ยหมางซาน ในที่สุดก็ได้สมประสงค์ จึงเดินทางไปที่ภูเขาเป่ยหมาง กล่าวกันว่า ขณะที่นั่งบำเพ็ญพรตอยู่นั้น เสือขาวตัวใหญ่ได้คาบคัมภีร์มาให้
ฝ่ายฮ่องเต้ฮั่นเหอตี้ หรือ หลิวจ้าว ซึ่งครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. ๘๙ ๑๐๕ ได้มีรับสั่งให้เต้าหลิงเข้าเฝ้าที่พระราชวัง เพื่อจะโปรดฯให้เป็นซินแสครูสอนแก่ไท่จื่อองค์รัชทายาท พร้อมกับพระราชทานบรรดาศักดิ์ขุนนางชั้น โหว เทียบเท่าชั้นเจ้าพระยา เป็น จีเซียนโหว แต่จางเต้าหลิงปฏิเสธ พระองค์ทรงรับสั่งถึงสามครั้ง เต้าหลิงก็ยังปฏิเสธที่จะรับตำแหน่ง และเป็นซินแสอบรมแก่องค์รัชทายาท
ในปี ค.ศ. ๙๐ ซึ่งตรงกับรัชกาลฮ่องเต้ฮั่นเหอตี้หรือ หลิวจ้าว ใช้ปีรัชกาลหย่งเอวี๋ยนที่ ๒ จางเต้าหลิงได้เดินทางไปยังภูเขาหลงเหอ ในเขตมณฑลเจียงซีในปัจจุบัน ซึ่งเป็นดินแดนป่าเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นป่าที่เงียบสงบมีสัตว์นานาชนิด มีพืชสมุนไพรหลากหลายพรรณ จางเต้าหลิงได้วิเคราะห์ยาอายุวัฒนะจนสำเร็จได้สูตรยาที่พึงประสงค์ เมื่อรับประทานแล้วจะทำให้คนนั้นมีอายุยืนนานกว่าปกติมากนัก นอกจากนี้ยังได้อบรมสั่งสอนศิษย์อีกจำนวนมาก ตลอดจนผู้ที่เคารพนับถือ นอกจากคำสอนแล้ว จางเต้าหลิงยังได้รักษาผู้ป่วยด้วยวิธีทางไสยศาสตร์และพืชสมุนไพร การทำน้ำมนตร์ การช่วยเหลือบุคคลจากภัยอันตรายต่างๆ
ระหว่างปี ค.ศ. ๑๒๕ ๑๔๔ จางเต้าหลิงได้เดินทางไปพำนักอยู่ที่ภูเขาเหอหมิง หรือ ตำบลต้าจี้ในปัจจุบัน มณฑลเสฉวน ในปี ค.ศ. ๑๔๑ จางเต้าหลิงได้เขียนคัมภีร์ ลัทธิเต๋าไว้ ๒๔ เล่ม และเรียกตนเองว่า มหาวิสุทธาจารย์ ได้จัดตั้งนิกายอู่ไต้หมี่เต้า นิกายข้าว ๕ ไต้ (ถุง) ขึ้น คือ ผู้ใดต้องการสมัครเป็นศิษย์ให้นำข้าวสารเต็มถุงมาสมัครด้วยจำนวน ๕ ถุง ( ไต้หรือโต่ว )
จางเต้าหลิงถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ ค.ศ. ๑๕๖ ตรงกับรัชสมัยฮ่องเต้ฮั่นหวนตี้หรือ หลิวจื้อ เป็นปีหย่งโซ่วที่ ๒ ท่านจึงเป็น จางเทียนซื่อ องค์ที่ ๑ นิกายอู่ไต้หมี่เต้า สิริรวมอายุได้ ๑๒๒ ปี สมกับเป็นผู้มียาอายุวัฒนะ และได้ผ่านรัชกาลในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออกตั้งแต่รัชกาลฮ่องเต้ฮั่นกวงตี้ถึงฮ่องเต้ฮั่นเหอตี้ รวม ๑๑ พระองค์ สิ่งของที่ท่านทิ้งไว้กับบุตรชายคือ ตราประทับ๑ ดาบสำคัญ๑ และความลึกลับของท่าน
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากฮ่องเต้หวางหมั่งขึ้นครองราชย์แล้ว บ้านเมืองเกิดกลียุค ราษฎรเดือดร้อนด้วยฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุมขุนนางฉ้อราษฎร์บังหลวง ผู้มีกำลังต่างตั้งตนเป็นอ๋องแยกอิสระ จนถึงสมัยฮ่องเต้ฮั่นกวงตี้ขึ้นครองราชย์แล้วปราบปราม แต่ก็ยังไม่สงบ หลังจากสมัยนี้แล้วภายในราชสำนักแก่งแย่งบัลลังก์กัน แต่ราษฎรยากจนต่อเนื่อง ๗๐ - ๘๐ ปี จนถึง ค.ศ. ๑๗๐ เกิดอุทกภัยใหญ่หลวงบริเวณลุ่มแม่น้ำหวงเหอ ทำให้ชาวนาไร้ที่ทำกินและยากจนลง ต่างอพยพไปอยู่ทางภาคใต้แถบฝูเจี้ยน กว่างตง เป็นแสนคน มิหนำซ้ำยังเกิดโรคระบาดอีกผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะเขตซานตงและเหอหนาน ยากที่จะพึ่งพาพวกขุนนางท้องถิ่น
ขณะนั้นจึงเกิดนักบุญน้ำใจงามขึ้น คือ จางเจี่ยว ช่วยรักษาโรคให้แก่ชาวบ้านโดยไม่คิดค่าตอบแทนใดๆ จางเจี่ยวเป็นชาวตำบลจวี่ลู่ แถบหนิงจินเสี้ยนในปัจจุบัน นอกจากนี้เขายังสอนชาวบ้านด้วยการผสมผสานระหว่างลัทธิเต๋ากับลัทธิไสยศาสตร์เข้าด้วยกัน ทำให้ผู้คนจำนวนมากเลื่อมใสศรัทธามีศิษย์มากมาย แล้วตั้งตนเป็นประมุข เผยแผ่คำสอน เรียกว่า นิกายไท่ผิงเต้า หรือนิกายหนทางแห่งสันติ โดยยกย่องพระเจ้าหวงตี้หรือองค์จักรพรรดิเหลือง แห่งสมัยซานหวงอู่ตี้ กับปรมาจารย์ลัทธิเต๋าคือ เล่าจื่อ เป็นหลัก เมื่อมีผู้นับถือกันมากจึงให้สานุศิษย์แยกย้ายกันไปสอนตามหัวเมืองต่างๆ ต่อมาจางเจี่ยวได้จัดสาวกเป็นหมวดหมู่เรียกว่า ฟัง แต่ละฟังมีสมาชิกกลุ่มใหญ่กว่าหมื่นคน ขนาดย่อมมี หกพันถึงเจ็ดพันคน รวมแล้วมี ๓๖๐,๐๐๐ คน เขาได้เผยแผ่ว่า ฟ้าน้ำเงินจะดับสูญ และฟ้าเหลืองจะกลับแทนที่ คือ ราชวงศ์ฮั่นจะล่มสลาย สีเหลืองจะเป็นใหญ่ ซึ่งสมาชิกทุกคนโพกผ้าสีเหลือง เป็นนิกายไท่ผิงเต้า
จางเจี่ยววางแผนโค่นบัลลังก์ราชวงศ์ฮั่นโดยมอบให้สาวกชื่อ หม่าเอี๋ยนยี่ติดต่อกับขันที เพื่อขยายอิทธิพลเข้าไปในวัง แต่ถูกจับได้และสมาชิกถูกฆ่าตายกว่าพันคน
ในที่สุดจางเจี่ยวจึงสถาปนาตนเองเป็น จางเทียนกง นายพลแห่งทัพฟ้า และน้องชายสองคนคือ จางเปา เป็น จางตี้กง นายพลแห่งแผ่นดิน ส่วนจางเหลียง เป็น จางเหวินกง นายพลแห่งมวลมนุษย์ ทางราชสำนักจึงส่งกองทัพไปปราบปราม ที่เหอหนานปรากฏว่าสาวกถูกฆ่าตายกว่า ๘๐,๐๐๐ คน เพียงเก้าเดือนต้องเสียพลรบไปกว่าแสนคน ผลการสู้รบปรากฏว่านายพลจางเปากับนายพลจางเหลียงเสียชีวิตในสนามรบ ส่วนจางเจี่ยวได้ป่วยถึงแก่อนิจกรรมเมื่อค.ศ. ๑๘๕ ในรัชสมัยฮ่องเต้ฮั่นหลิงตี้ หรือหลิวหง ใช้ปีรัชกาลกวนเหอปีที่ ๘ ล่วงถึงค.ศ. ๑๙๒ ป้อมค่ายโพกผ้าเหลืองลุกขึ้นสู้กว่า แปดแสนคน
ต่อมาสานุศิษย์ได้ยกย่องให้ใช้คำว่า เทียนซื่อ เป็นเสมือนเจ้าลัทธิผู้สถาปนานิกายไท่ผิงเต้า หรือ สายโพกผ้าเหลือง สายเฉิงอี้และสาย อู่ไต้หมี่เต้า เป็น เทียนซื่อ และมีผู้นำที่ได้รับสมณศักดิ์ติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน มีจางเอวี๋ยนเซียน เป็นจางเทียนซื่อ หรือ เตียวเทียนซื่อ องค์ที่ ๖๔ เริ่มตั้งแต่ปี ๑๙๗๑ หลังจาก จางเทียนซื่อองค์ที่ ๖๓ ผู้เป็นลุง ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๙ โดยตั้งสำนักอยู่ที่ไต้หวัน เตียวเทียนซื่อองค์ปัจจุบันจึงยังคงรักษาตราประทับและดาบเล่มสำคัญของจางเต้าหลิงมาตลอด
ภาพที่จิตรกรสร้างสรรค์มักเป็นรูปหน้าดำ มือหนึ่งถือดาบ อีกมือถือเขาควาย ขี่เสือซึ่งน่าจะเป็นเสือโคร่งสีขาวตามตำนาน ทรงชุดอาจารย์ตามลัทธิเต๋า บางรูปถือไม้งาช้างสำหรับเข้าเฝ้า เป็นต้น
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
Title : Zhang Tian Shi
: Somboon Kantakian
บทสวดสรรเสริญ เตียวเทียนซื่อ
嗣漢張道陵天師寶誥 Zhang Dao Ling Tian Shi Bao Gao
至心皈命禮。Zhi Xin Gui Ming Li
本來南土。上泝蜀都。Ben Lai Nan Tu. Shang Su Shu Du
先獲黃帝九鼎之丹書。Xian Huo Huang Di Jiu Fing Zhi Dan Shu
後事老君於玉局。Hou Shi Lao Jun Yu Yu Ju
千軸得修真之要。Qian Zou De Xiu Zhen Zhi Yao
一時成吐納之功。Yi Shi Cheng Tu Na Zhi Gong
法籙全成。Fa Lu Quan Cheng
受盟威品而結璘玦。Shou Meng Wei Pin Er Jie Ling Jue
正邪兩辨。Zheng Xie Liang Bian
奪福庭冶而化鹹泉。Duo Fu Ting Zhi Er Hua Xian Quan
德就大丹。道齊七政。De Jiu Da Dan. Dao Qi Qi Zheng
大悲大願。大聖大慈。Da Bei Da Yuan. Da Sheng Da Ci
三天扶教。San Tian Fu Jiao
輔元道體大法天師。Fu Yuan Dao Ti Da Fa Tian Shi
雷霆都省。Lei Ting Du Sheng
泰玄上相都天大法主。Tai Xuan Shang Xiang Du Tian Da Fa Zhu
正一沖玄。Zheng Yi Chong Xuan
神化靜應顯佑真君。Shen Hua Jing Ying Xian You Zhen Jun
六合無窮高明大帝。Liu He Wu Qiong Gao Ming Da Di
降魔護道天尊。Xiang Mo Hu Dao Tian Zun
***
credits : Jave Wu.
|
|
|