|
เมิ่งจื่อ
เมิ่งจื่อ 孟子 หรือ เมิ่งจื๊อ หรือ เมิ่งจวี่ หรือเอี้ยเซิ่งเมิ่งจื่อ 亞聖孟子 ผู้เป็นศิษย์เอกของขงจื่อ เป็นผู้นำลัทธิขงจื่อที่สำคัญคนหนึ่ง และเป็นหนึ่งในร้อยปรัชญาเมธีสมัยจ้านกั๋วด้วย เมิ่งจื่อ เป็นชาวรัฐหลู่เช่นเดียวกับขงจื่อ เขาถือกำเนิดที่เมืองโจว รัฐหลู่ ประมาณก่อน ค.ศ. ๓๗๒ ๒๘๙ เดิมชื่อ เคอ หรือ กั๋ว แซ่สกุลว่า เมิ่ง หรือ เมิ่งซุ่น ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากแซ่สกุล จี แห่งราชวงศ์โจว แซ่เมิ่งได้ปกครองเมืองหลู่มาเป็นหนึ่งในสามแซ่ เขาจึงเป็นผู้ที่มีสายเชื้อที่มีการศึกษาเป็นพื้นฐานมาก่อน แต่ชีวิตของเขาคล้ายกับขงจื่อ คือ บิดาเสียชีวิตตั้งแต่เขายังเล็ก มารดาจึงต้องเลี้ยงดูเขา โดยเขาได้เข้าศึกษาในโรงเรียนซึ่งเจ้าของผู้เป็นหลานชายของขงจื่อ ชื่อ จื่อซู่ เขาได้รับการสอนอย่างเข้มงวด เพื่อที่จะให้เป็นครูและเป็นนักการศึกษาในอนาคต เขาจึงได้เรียนตำราชื่อ ซื่อจิงและซูจิงของขงจื่อ ภายหลังจากจบการศึกษาแล้ว เขาเคยสอบแข่งขันเข้ารับราชการ ต่อมาเขาได้เดินทางไปยังแคว้นต่างๆ โดยผ่านไปยังเมืองฉี เมืองหลู่ สมัยพระเจ้าเว่ย ประมาณก่อน ค.ศ. ๓๕๗ ๓๒๐ ออกจากเมืองฉี ไปยังแคว้นซ่ง แคว้นฉู่ เขาได้รับเงินการเดินทางจากเจ้านครรัฐเหล่านั้น แล้วย้อนกลับมายังเมืองโจวแคว้นหลู่ พร้อมกับเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาของพระเจ้าเติ้งเหวินกง เขาได้แนะนำการประกอบพิธีงานศพพระบิดาของพระเจ้าเติ้งเหวินกง และได้กราบทูลสนทนาเรื่องการเมืองการปกครองกับพระองค์ จนพระองค์ทรงให้ความยอมรับในแนวความคิดของเขา เขารับราชการอยู่ที่นั่นได้ระยะหนึ่งก็ลาออก ด้วยมารดาถึงแก่กรรม เขาจึงเดินทางกลับบ้านฝังศพมารดา และไว้ทุกข์ให้มารดาเป็นเวลา ๓ ปี ในปีก่อน ค.ศ. ๓๑๕ รัฐฉีเข้าตีรัฐเอียนซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พระเจ้าเสวียนกงได้ปรึกษากับเมิ่งจื่อถึงการสงครามด้วย เมื่ออายุมากเข้า เมิ่งจื่อจึงย้ายไปอยู่ที่บ้านเดิม และถึงแก่อนิจกรรมประมาณก่อน ค.ศ. ๒๘๙ มีคำกล่าวว่า เมิ่งหมู่ซาน เซวียน หมายความว่า แม่เมิ่งย้ายบ้านสามหน คือ ย้ายจากข้างสุสานไปอยู่ข้างตลาดสดจอแจ ย้ายจากข้างตลาดสดจอแจไปอยู่ข้างโรงเรียน เป็นการเปรียบเปรยเกี่ยวกับการเลือกสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อการอบรมลูก แนวคิดของเมิ่งจื่อ ตามประเพณีแล้วชาวจีนถือว่า เมิ่งจื่อเป็นนักปราชญ์คนที่สองนับจากขงจื่อ ต่อไปนี้เป็นข้อความบางตอนที่เป็นความคิดของเมิ่งจื่อ
O เมื่อปล่อยให้ดำเนินไปตามความรู้สึกแล้ว ธรรมชาติของมนุษย์จะทำสิ่งที่ดี นี่คือเหตุผลที่ข้าพเจ้าพูดว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นดี ถ้าหากว่า ธรรมชาติของมนุษย์กลายเป็นเลวไป ก็มิใช่ความผิดแห่งวิสัยสามารถดั้งเดิมของมนุษย์เลย เราจะพบว่าในมนุษย์ทุกคน ล้วนแต่มีความรู้สุกเมตตากรุณาต่อกันทั้งนั้น เราจะพบว่าทุกคนมีความรู้สึกละอาย มีความรู้สึกเคารพนับถือกัน และมีความรู้สึกผิดชอบด้วยกันทั้งนั้น ... O ความรู้สึกสงสารเป็นจุดเริ่มต้นของมนุษยธรรม ความรู้สึกละอายเป็นจุดเริ่มต้นของความยุติธรรม ความรู้สึกอ่อนโยนเป็นจุดเริ่มต้นของความมีมารยาทอันดีงาม ความรู้สึกผิดถูกเป็นจุดเริ่มต้นของปัญญา... O จงชนะประชาชนเถิด แล้วท่านจะชนะจักรวรรดิเอง วิถีทางที่จะเอาชนะประชาชนก็คือว่า : จงชนะใจประชาชนเถิด แล้วท่านจะชนะประชาชนเอง วิถีทางที่จะเอาชนะใจประชาชน ก็คือว่า : จงให้และจงมีส่วนร่วมกับประชาชน ในสิ่งที่ประชาชนชอบ และจงอย่าปฏิบัติต่อประชาชน ในสิ่งที่ประชาชนไม่ชอบ ประชาชนจะหันเข้ามาหาผู้ปกครองที่มีจิตใจเปี่ยมด้วยเมตตากรุณา เช่นเดียวกับน้ำย่อมไหลลง และสัตว์ป่าย่อมวิ่งเข้าสู่ป่าฉะนั้น O สวัสดิภาพของประชาชนทางด้านเศรษฐกิจนั้น เป็นพื้นฐานที่จำเป็นแห่งเสถียรภาพทางการเมือง O ในบรรดาการรับใช้ทั้งหลาย การรับใช้ชนิดใดสำคัญที่สุด การรับใช้บิดามารดาสำคัญที่สุด ในบรรดาความรับผิดชอบทั้งหลาย ความรับผิดชอบใดสำคัญที่สุด ความรับผิดชอบตัวเองสำคัญที่สุด ฯลฯ
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๕ เมษายน ๒๕๕๑
Title : Meng Zi
: Somboon Kantakian
อ่านบทความ ๒๘ บทของเมิ่งจื่อเป็นภาษาอังกฤษได้ที่ :
http://www.sacred-texts.com/cfu/menc/
|
|
|