|
มังกร
มังกร 龙 เป็น สัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่มีมาตั้งแต่สมัยซานหวงอู่ตี้ สมัยพระเจ้าหวงตี้ กล่าวว่า วันหนึ่งพระองค์ทอดพระเนตรขึ้นไปบนท้องฟ้าเห็นมีแสงสว่าง ปรากฏว่ามีมังกรตัวหนึ่งลอยลงมาหาพระองค์ แสดงกิริยาเหมือนเชิญให้ประทับบนหลัง ทรงเห็นว่าเทพยดาให้มังกรมารับ จึงทรงจูงพระหัตถ์มเหสีประทับบนหลังมังกรแล้วเหาะขึ้นสวรรค์ ความเชื่อของสังคมจีนเกี่ยวกับมังกรมีมาหลายพันปีแล้ว จากการศึกษาหนังสือภาพเครื่องทองบรอนซ์สมัยราชวงศ์ซัง จำนวน ๔ เล่มจบ เฉพาะเล่ม ๔ จำนวน ๑๗๔ ชิ้น ( ภาพ ) จะมีภาพเทาเท่ย ๘๒ ชิ้น และภาพมังกร ๕๗ ชิ้น ภาพเหล่านี้เป็นภาพลายเส้น บางภาพเป็นภาพลอยนูน ที่น่าสนใจคือ ภาพลอยนูน รูปมังกร ลำตัวยาวเหมือนงู มี ๒ เขา มีใบหู ดูเหมือนจะมีเพียงสองขา มีครีบหลัง มีหาง มีหนวดสองเส้น ก่อนถึงปลายหาง จะมีกระโดงหลังแหลม เขาทั้งสองถ้าเป็นภาพลอยตัวหรือลอยนูน ปลายเขาจะทู่หรือปลายตัด ถ้าเป็นภาพลายเส้นจะเป็นเขายาวแหลม ภาพเขาตัดปลายจะมีน้อยมาก อาจจะเกี่ยวกับเทคนิคการหลอมก็ได้ จากข้อสังเกตภาพสัตว์ชนิดต่างๆที่ปรากฏบนเครื่องภาชนะทองบรอนซ์ จำนวน ๗๐๕ ภาพ จะเป็นสัตว์ที่พบเห็นได้ทั้งสิ้น ไม่มีภาพสัตว์แบบจินตนาการ ยกเว้นหน้าเสี้ยวของเทาเท่ยที่ได้พัฒนารูปแบบใบหน้าไป ผู้เขียนเข้าใจว่าในสมัยนั้นตัวมังกรน่าจะมีอยู่จริง เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่ยังหลงเหลืออยู่ตามแม่น้ำหวงเหอ แยงซี หรือแม่น้ำอื่น ตลอดจนหนองบึงขนาดใหญ่ เมื่อกว่า ๕๐๐๐ ปีมาแล้ว คงจะมีลำตัวยาวใหญ่หลายเมตรคล้ายงูเหลือม ต่อมาได้สูญพันธุ์ไปตามกาลเวลา ผู้นำชนเผ่าได้ยึดถือเอาเป็นสัตว์วิเศษเพราะหายากน่าเกรงขาม จึงถือเอาเป็นพญางูใหญ่ หรือ มังกรสืบต่อกันมา เมื่อกาลเวลาผ่านไป รูปร่างมังกรได้รับการพัฒนาโดยไปดึงเอารูปร่างเด่นๆของสัตว์บางชนิดเข้ามา ประกอบ คือ เอาหัวของอูฐ เอาตากระต่ายป่า เอาท้องจระเข้ เอากรงเล็บเหยี่ยว เอาอุ้งเท้าเสือ เอาหูควาย เอาเขากวาง เอาแผงคอม้า มารวมกันเข้า เป็นพญามังกรสี่ขา มีหนวดสองเส้น ส่วนกรงเล็บมี ๕ นิ้ว รูปร่างมีทั้งอ้วนและผอม หางคล้ายปลา ฟันบนมีเขี้ยวหนึ่งคู่ ส่วนสีตั้งแต่สีเขียวไปยันสีทอง ผู้นำชนเผ่าหรือกษัตริย์ ได้ใช้มังกรเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนพระองค์ และเป็นผู้พิทักษ์เทพเจ้าด้วย ลัทธิเต๋าถือว่า มังกรมีทั้งหมด ๑๑๗ รูปแบบ มี ๘๑ รูปแบบที่เกี่ยวกับพลังหยาง และ ๓๖ รูปแบบที่เป็นพลังหยิน ซึ่งสะท้อนบุคลิกของมังกร ยกเว้น พญามังกรบนสวรรค์ มีพลังหยางทั้งหมด มังกรออกไข่ ใช้เวลาฟักไข่ ๑๐๐๐ ปี จึงออกเป็นตัว และอีก ๑๕๐๐ ปี จึงเจริญเต็มที่ มังกร ถ้าแบ่งตามภาระหน้าที่แล้วมี ๙ ประเภท คือ ๑) เทียนหลง 天龍 มีหน้าที่พิทักษ์รักษาปราสาทเทพเจ้าบนสวรรค์ ๒) เฉินหลง 神龍 มีหน้าที่คอยควบคุมลมและฝน ๓) ตี้หลง 地龍 มีหน้าที่ควบคุมน้ำและแม่น้ำบนพื้นโลก ๔) ฝูชางหลง 伏藏龍 มีหน้าที่เฝ้าทรัพยากรธรรมชาติพวกแร่ธาตุมีค่าใต้ดิน ๕) อิงหลง 應龍 เป็นมังกรมีปีก กล่าวกันว่า เป็นผู้รับใช้พระเจ้าหวงตี้ในตอนที่พระองค์เสด็จสู่สวรรค์พร้อมด้วยพระ มเหสี โดยมีอิงหลงเหาะลงมารับไปสวรรค์ ๖) เจี่ยวหลง 虯龍 เป็นมังกรที่มีพลังอำนาจมากที่สุด ๗) ผานหลง 黃龍 เป็นมังกรที่ชอบพ่นน้ำในทะเลสาบตะวันออก ๘) หวงหลง 黃龍 เป็นมังกรที่ไร้เขา แต่ทรงภูมิรู้ซึ่งพวกนักปราชญ์นับถือมาก ๙) หลงอ๋อง 龍王 เป็นมังกรอ๋อง องค์ชายมังกร ๔ องค์ ประจำอยู่มหาสมุทรทั้งสี่ทิศ ชาวจีนได้นำรูปมังกรไปใช้ประกอบอาคารสิ่งก่อสร้างตลอดจนเครื่องใช้ไม้สอย ต่างๆ เช่น ระฆัง กลอง บนแท่นศิลาจารึก ชายคาศาลเจ้า พระราชวัง คานสะพาน ด้ามดาบ เป็นต้น ซึ่งเป็นรูปลูกมังกร ๙ องค์ คือ ๑) ปี่ซี่ หรือ ปี่เซี่ย 贔屭 เป็นมังกรที่เก่งกาจในการบรรทุกของหีบห่อ จึงออกแบบไว้บนภาชนะใส่ของ ๒) ฉื่อเหวิน 吻 or 鴟吻 or 嘲风 เป็นมังกรที่คอยจ้องมองไประยะไกลเพื่อป้องกันภัย มักปรากฏอยู่บนยอดตึก เจดีย์ เป็นต้น ๓) ปู่หลาว 蒲牢 เป็นมังกรที่ชอบคำราม จึงได้รับการออกแบบให้เป็นส่วนประกอบของระฆัง ๔) ปิอัน 狴犴 เป็นมังกรที่มีรูปร่างคล้ายเสือโคร่ง มีพละกำลังมาก จึงมักปรากฏอยู่ตามประตูที่ไม่ต้องการให้คนออกหรือบุกรุกเข้าไป ๕) เทาเท่ย 饕餮 เป็นลูกมังกรที่ชอบรับประทานอาหารทุกชนิด จึงมักปรากฏรูปอยู่ตามภาชนะที่ใส่อาหารต่างๆ ๖) ชิวหนิว 囚牛 เป็นมังกรที่ชอบการดนตรี รูปชิวหนิวจึงปรากฏบนเครื่องดนตรี เช่นที่วางสายของเครื่องสาย ๗) อาจื่อ 睚眦 or 睚眥 เป็นมังกรที่กล้าหาญ ก้าวร้าว ภาพมังกรอาจื่อจะแกะสลักหรือหลอมบนด้ามอาวุธ เช่น ง้าวของกวนอู ดาบ หรือมีด ๘) เซียนหนี 狻猊 เป็นมังกรที่ชอบควันไฟและไฟ จึงปรากฏตามขากระถางธูป หรือที่เผากระดาษเงินกระดาษทองตามศาลเจ้า ๙) เจี่ยวตู้ 椒圖 เป็นมังกรที่ปากหุบคล้ายหอยแมงภู่หรือหอยทาก ภาพเจี่ยวตู้จึงปรากฏอยู่ตามประตูหรือกรอบประตู และเป็นลูกมังกรองค์เล็กสุด มังกรของจีนมี ๕ เล็บนิ้ว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของฮ่องเต้เท่านั้น หากแสดงงิ้วเป็นฮ่องเต้ให้ใช้ ๔ นิ้ว นอกจากนี้เข้าใจว่ายังกำหนดให้ประเทศราชสมัยก่อน เช่น เกาหลีและอินโดนีเซีย ใช้ มังกร ๔ เล็บนิ้ว ญี่ปุ่นมี ๓ เล็บนิ้ว เวียดนามเข้าใจว่ามี ๓ เล็บนิ้ว หรือประเทศภูฏานมี ๓ เล็บนิ้ว กล่าวกันว่า ได้มีการพบตัวมังกรที่แม่น้ำแยงซียาว ประมาณ ๑๐ ฟุต ออกมานอนผึ่งแดดที่ฝั่งแม่น้ำดังกล่าว ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ มีครูคนหนึ่งเห็นมังกรตัวใหญ่มากที่แม่น้ำหวงเหอ มังกรทั้งสองตัวผู้พบเห็นกล่าวว่า มันจะว่ายลงน้ำทันทีเมื่อฝนตก : สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๘ มกราคม ๒๕๕๐ ****
|
|
|