|
สังคมเศรษฐกิจสมัยราชวงศ์ซัง
สังคมเศรษฐกิจสมัยราชวงศ์ซัง
ชนเผ่าซังเป็นชนเผ่าที่ทำการเกษตรเป็นหลัก เช่นเดียวกับชนเผ่าอื่นๆ แต่ต่างกันตรงที่ว่า ชนเผ่าใดจะเลือกหรือไม่มีสิทธิที่จะเลือกทำเลที่ดินที่ดีที่สามารถเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ได้ดี สะดวก เมื่อชนหลายเผ่าอาศัยอยู่ตามพื้นที่ต่างๆตามภูมิประเทศของจีนสมัยนั้น ในแต่ละชนเผ่ายังมีความแตกต่างกันทั้งความรู้พื้นฐานที่จะทำหากิน ประเพณี ความเป็นอยู่ เหล่านี้ย่อมขึ้นอยู่กับบรรพบุรุษของแต่ละชนเผ่าว่าได้มีพัฒนาการทางสังคมมามากน้อยเพียงใด เมื่อ ๔๐๐๐ - ๕๐๐๐ ปีมาแล้ว หรือก่อนหน้านั้นขึ้นไป กรณีของชนเผ่าซังจะเห็นได้ว่ามีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะเป็นตำนานก่อนที่นักประวัติศาสตร์จะยอมรับว่า ราชวงศ์ซังมีจริง มิใช่เป็นตำนานปรัมปราที่มีการเล่าและบันทึกสืบเนื่องกันมา หากไม่ได้ค้นพบหลักฐานจากการขุดค้นที่เมืองอิน คืออักษรกระดองกระดูกหรือเจี่ยกู่เหวิน ซึ่งก่อนหน้านั้นได้มีการบันทึกบนไม้ไผ่ แต่พวกเขาก็ยังไม่ได้ให้ความเชื่อถือว่าเป็นความจริง เช่นเดียวกับในปัจจุบันที่ราชวงศ์เซี่ยยังคงเป็นตำนาน เพราะยังไม่พบหลักฐานการบันทึกที่ชัดเจนนั้นเอง
เกษตรกรรม
สภาพภูมิอากาศในประเทศจีนเมื่อประมาณ ๓๐๐๐ปีมาแล้ว คือในช่วงสมัยราชวงศ์ซัง อากาศจะอบอุ่นกว่าในปัจจุบัน พืชที่ทำการเพาะปลูก ได้แก่ ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด ส่วนข้าวจ้าวจะปลูกบริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีและภาคใต้ แถบแม่น้ำไหว แม่น้ำเหลียว ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
กษัตริย์แต่ละพระองค์สมัยราชวงศ์ซัง ทรงเอาใจใส่ในการเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกข้าว โปรดฯให้ขยายพื้นที่นาออกไปอย่างกว้างขวาง พร้อมทั้งจัดหาวัวควายมาไถนาทำตมด้วย ยังได้แต่งตั้งเสนาบดีดูแลฝ่ายกิจการที่ดิน ในตำแหน่งที่เรียกว่า ซือถู และเสนาบดีดูแลฝ่ายเกษตรกรรมด้วย เจ้าของที่ดินเป็นของเจ้านายและพวกขุนนางชั้นปกครอง ซึ่งมีจำนวนกว่า ๘๐๐ คน ส่วนชาวนาจะเป็นสามัญชนทั่วไปที่เป็นชาวซัง ได้มีการใช้แรงงานทาสมาทำการเกษตร ไม่ว่าการเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ แรงงานทาสเหล่านั้นเป็นพวกเชลยศึกที่กวาดต้อนมาจากชนเผ่าอื่น และเพื่อป้องกันการหลบหนี แรงงานทาสเหล่านั้นก็จะถูกล่ามเชือกเอาไว้ ชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานทาสจึงยากลำบากกว่าสามัญชนมาก แรงงานเหล่านี้จะทำงานทุกขั้นตอน ตั้งแต่หักร้างถางพง พรวนดิน ปลูกพืช จนเก็บเกี่ยวเอาไปไว้ในยุ้งฉาง แล้วทยอยเอาออกมาสีบด ทำความสะอาดเพื่อใช้หุงต้ม
คนงานและทาสจะอาศัยอยู่ใกล้หมู่บ้านบริเวณที่ทำการเพาะปลูก โดยสร้างเป็นเพิงพักชั่วคราวด้วยแขนงไม้ไผ่ในช่วงฤดูร้อน หลังจากเก็บเกี่ยวเอาผลผลิตเข้ายุ้งฉางแล้ว ย่างเข้าฤดูหนาว พวกเขาจะเข้าไปอยู่ในหมู่บ้าน พวกเขามีบ้านเป็นของตนเองในแต่ละครอบครัว บ้านสร้างด้วยดินเหนียวประกอบอิฐและไม้ ประตูบ้านหันไปทางทิศใต้ เพราะลมหนาวจะพัดมาทางทิศเหนือ
นอกจากการเพาะปลูกพืชดังกล่าวแล้ว ชาวซังยังปลูกป่าน หรือต้นกัญชา เพื่อเอาเปลือกมาทอเป็นเครื่องนุ่งห่มแบบหยาบๆ คนเหล่านี้เป็นสามัญชนและพวกทาสเท่านั้นที่ใช้ผ้าทอด้วยป่าน
มีการปลูกต้นหม่อนเพื่อเลี้ยงไหม เพื่อทอผ้าไหม ย้อมผ้าไหมหลากสีสวยงาม และเนื้อผ้าอ่อนนุ่ม ผ้าไหมเหล่านี้เป็นของกลุ่มชนชั้นสูงเท่านั้นที่ใช้ได้
การล่าสัตว์ เช่น กวาง นอกจากเป็นกีฬาแล้ว ยังเอาเนื้อมาเป็นอาหาร หนังสัตว์นำมาเย็บเป็นเครื่องนุ่งห่มซึ่งทำให้ร่างกายอบอุ่นเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ชาวซังยังได้เลี้ยงสัตว์เพื่อไว้ใช้งานและเป็นอาหารด้วย สัตว์ที่เลี้ยงได้แก่ ม้า เอาไว้ขี่ล่าสัตว์และออกศึก วัว เอาไว้ไถนาและเอาเนื้อเป็นอาหาร แล้วเอากระดูกสะบักหรือไหล่ที่เป็นแผ่นแบน มาจารึกคำทำนายหรือเทพพยากรณ์ที่เรียกว่า อักษรกระดองกระดูก ส่วนหนังเอามาทำเครื่องนุ่งห่ม พวก หมู ไก่ เลี้ยงไว้เป็นอาหาร พวกแกะ ใช้ขนทำเครื่องนุ่งห่มและเป็นอาหาร สุนัข เลี้ยงไว้ล่าสัตว์และเป็นอาหารด้วย บริเวณแม่น้ำหนองคลองบึงจะตกปลาด้วยเบ็ดและใช้แหอวนด้วย สัตว์เหล่านี้นอกจากเลี้ยงไว้เป็นอาหารและใช้งานแล้ว ยังนำไปประกอบพิธีฆ่าบูชายัญในพิธีกรรมเทพพยากรณ์ หรือนำไปฝังทั้งเป็นพร้อมผู้ตายอีกด้วย
ชุมชนเมืองและชนบท
ศูนย์กลางของอาณาจักรซัง ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลเหอหนานในปัจจุบัน พระราชวังหรือที่ประทับของกษัตริย์ จะอยู่ตรงกลางของตัวเมือง ระหว่างกลางทางทิศเหนือและทิศใต้ อาคารบ้านเรือนแต่ละหลัง จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวบ้านทำด้วยดินเหนียวประกอบอิฐและหิน ส่วนพวกขื่อคาใช้ไม้ กษัตริย์และพวกชนชั้นสูงจะอาศัยอยู่ภายในตัวเมือง พระราชวังและบ้านของพวกชนชั้นสูงทั้งหมดทำด้วยดินเหนียวทั้งสิ้น ส่วนสามัญชนชาวไร่ชาวนาและพวกทาสจะอาศัยอยู่นอกตัวเมืองเป็นหมู่บ้านๆไป
เมื่อเมืองหลวงเป็นศูนย์กลาง รอบๆเมืองหลวงจะเป็นมืองเล็กๆกระจายกันอยู่ เรียกว่า เมืองพระราชวัง ในแต่ละเมืองจะมีกำแพงเมือง และมีทหารประจำกำแพงเชิงเทิน บริเวณย่านศูนย์กลางในเมืองเล็กๆเหล่านั้น เป็นบ้านของชนชั้นสูงและเทวาลัย แต่ละเมืองพระราชวังเหล่านั้นถอดรูปแบบมาจากเมืองหลวงทั้งสิ้น ดังนั้นไม่ว่าเมืองหลวงจะย้ายไปตั้งใหม่ ณ ที่ใดก็จะจัดการแบบเดียวกันนี้ อาณาจักรซังได้ย้ายเมืองหลวงถึงเก้าครั้ง ส่วนพวกเครื่องใช้ไม้สอยในครัวเรือน พวกสามัญชนและข้าทาสใช้ภาชนะเครื่องปั้นดินเผา พวกชนชั้นสูงเจ้าที่ดินพระราชวงศ์ใช้เครื่องทองบรอนซ์
เมืองหลวงที่สำคัญคือ เมืองอิน ซึ่งเป็นเมืองหลวงสุดท้ายของพระราชวงศ์ซัง เมืองนี้ตั้งอยู่ที่เมืองอันหยังแห่งมณฑลเหอหนาน ในปัจจุบันเมืองอินตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเสี้ยวตุน ทางทิศตะวันตกของเมืองเสี้ยวตุน โดยรอบตัวเมืองประกอบด้วยฝั่งแม่น้ำไหวและหมู่บ้านรวม ๒๐ หมู่บ้าน สถานที่แห่งนี้โบราณเรียกว่า เป่ยหมิง หรือ อิน นักโบราณคดีได้ทำการสำรวจเมืองโบราณอิน มีความยาวของตัวเมือง ๖ กิโลเมตร และกว้างถึง ๕ กิโลเมตร ซึ่งเป็นเมืองหลวงที่กว้างใหญ่มาก บริเวณหมู่บ้านเสี้ยวตุนและหมู่บ้านหัวหยวนเจียง บริเวณฝั่งแม่น้ำไหวทางทิศใต้ เป็นพระราชวังและเทวาลัย มีพื้นที่ความยาวกว่าพันเมตรจากทางทิศเหนือไปทางทิศใต้ และความกว้างประมาณ ๖๕๐ เมตรจากตะวันออกไปทางตะวันตก มีเนื้อที่กว่า ๖๘๗,๐๐๐ ตารางเมตร อันเป็นส่วนสำคัญของเมืองอิน บางส่วนได้แสดงระดับของการก่อสร้างที่สูง มีเค้าโครงอาคารกว่า ๘๐ หลัง นอกจากนี้บริเวณใกล้เคียง ยังพบสุสานขนาดใหญ่ของกษัตริย์และพระราชวงศ์ ตลอดจนพวกขุนนางชั้นสูงด้วย บริเวณเหล่านี้ได้ขุดพบอักษรเจี่ยกู่เหวิน เครื่องทองบรอนซ์ และ เครื่องสลักหยก
สถาปัตยกรรมของจีนโบราณบริเวณลุ่มแม่น้ำเหลืองต่างก็ใช้ดินสีเหลืองและไม้มาประกอบตัวอาคารเป็นหลัก รวมทั้งการก่อสร้างเมืองอินด้วย นอกจากวัตถุดังกล่าวแล้ว ชนเผ่าซังยังได้ใช้หินและทองแดงมาทำเป็นเสาบ้านเพื่อทำให้แข็งแรง ฝาผนังหนาสามารถป้องกันความชื้นได้ดีโดยเฉพาะฝนและหิมะ ส่วนหลังคาจะเทลาดลงทั้งสองข้าง ภายในตัวพระราชวังและบ้านของชนชั้นสูง จะประดับตกแต่งอย่างสวยงาม ทุกบ้านจะมีเชิงเทียนทรงสูงทำด้วยทองบรอนซ์เพื่อให้แสงสว่าง
ผู้ที่ก่อสร้างเมืองอิน คือ พระเจ้าซังผานเกิง กษัตริย์องค์ที่ ๑๙ โปรดฯให้ย้ายเมืองหลวงจากเมืองอัน ( ชูฝู ) จากภาคตะวันออกของซานตง มาสร้างใหม่ที่เมืองอิน รวมกษัตริย์ที่เสวยราชสมบัติที่เมืองอิน ๑๓ พระองค์ เป็นเวลา ๒๗๓ ปี กล่าวกันว่า เมืองอินเป็นยุคสมัยที่รุ่งเรืองที่สุดของราชวงศ์ซัง และเข้าใจกันว่า การบันทึกอักษรเจี่ยกู่เหวิน อาจเริ่มสมัยพระเจ้าผานเกิง หลังจากเสียเมืองให้พระเจ้าโจวอู่หวางแล้ว บ้านเมืองคงทรุดโทรมเหลือแต่ซากกำแพงเมือง ที่ชนรุ่นหลังทราบกันว่า เป็นซากปรักหักพังของเมืองอินที่ถูกฝังกลบมากว่าสามพันปี
การเมืองและการปกครอง
สังคมของชนเผ่าซังเป็นสังคมของชนชั้นสูง หัวหน้าชนเผ่าก็คือ กษัตริย์ที่มีพระราชอำนาจออกคำสั่งเด็ดขาด เจ้านครที่ขึ้นตรงต่ออาณาจักรซัง กษัตริย์ทรงแต่งตั้ง เจ้านครเหล่านั้นมีกองทัพและทหารเป็นของตนเองมากน้อยแล้วแต่ความสามารถของเจ้านครนั้นๆ แต่ก็ยังต้องสนับสนุนการทหารแก่กษัตริย์ด้วย
พลเมืองของชนเผ่าซังแบ่งเป็นระดับหรือกลุ่มคือ กษัตริย์และพระราชวงศ์ ขุนนางพลเรือนและทหาร สามัญชน และข้าทาส ระหว่างชนชั้นสูงกับสามัญชนชาวไร่ชาวนาและข้าทาส ยังมีชนชั้นที่ทำหน้าที่ พยากรณ์หรือโหรหรือนักทำนายจากกระดองกระดูกและจารึกคำทำนายลงบนกระดองกระดูก ตลอดจนบันทึกจดหมายเหตุที่ไม่เกี่ยวกับการพยากรณ์ด้วย ชนชั้นต่ำสุดได้แก่พวกข้าทาสที่ถูกต้อนมาจากเผ่าอื่นเมื่อแพ้สงคราม รวมทั้งชนป่าเถื่อน คนพวกนี้ถูกใช้แรงงานให้ทำนาทำไร่เลี้ยงสัตว์ เป็นผู้รับใช้ในวังและบ้านของชนชั้นสูง บางครั้งต้องถูกนำไปบูชายัญเพื่อสังเวยเทพเจ้าบรรพบุรุษด้วย เช่น ถูกเอาไปฝังทั้งเป็นในหลุมพระศพกษัตริย์หรือพระราชวงศ์ เพื่อจะได้ไปรับใช้ในสวรรค์ หรือเอาไปตัดหัวเซ่นสรวงบรรพชนเช่นเดียวกับการฆ่าวัวแกะ บางครั้งเอาคนทาสเหล่านั้นไปเป็นเกมกีฬา เป็นต้น
ก่อนการทำสงครามกันในแต่ละเผ่า พวกหัวหน้าชนเผ่าจะประเมินฝ่ายตรงกันข้ามด้วยกำลังและอาวุธ พวกทหารอัศวินต่างสวมเกราะที่ทำด้วยทองบรอนซ์ อาวุธประจำรถศึก จะมีหอกพุ่ง ขวาน และดาบสั้นสองคมคล้ายกริช รถศึกแต่ละคันจะมีสารถี ทหารพุ่งหอกและตัวหัวหน้า พวกทหารเดินเท้าจะตามรถศึก พวกนี้จะเกณฑ์มาจากสามัญชนเกษตรกร ทหารเหล่านี้สวมเสื้อชั้นนอกและกางเกง ถืออาวุธหล่อจากทองบรอนซ์ พวกชนชั้นสูงชอบขี่ม้าเพื่อใช้ในการสงครามและเป็นเกมกีฬาด้วย ชอบล่าสัตว์ สวมเสื้อผ้าไหมคลุมยาว ดึ่มสุราด้วยเหยือกและจอกสุราทำด้วยทองบรอนซ์ทั้งสิ้น
ในช่วงฤดูใบไม้ผลิมีเทศกาลรื่นเริงประจำปี เด็กหนุ่มสาวจากหมู่บ้านต่างๆมาร่วมสนุกงานรื่นเริงนี้เพื่อจับคู่อยู่กันเป็นสามีภรรยา หนุ่มสาวเหล่านั้นอายุเพียง ๑๔ ๑๕ ปีเท่านั้น ซึ่งต่างจากพวกชนชั้นสูง การจะมีครอบครัวต้องมีการสู่ขอมีสินสอดทองหมั้นและมีพิธีการแต่งงานด้วย พวกชนชั้นสูงจะแต่งงานข้ามชนเผ่าที่ต่างแซ่สกุลกัน พวกญาติที่แซ่เดียวกันจะไม่แต่งงานด้วยกันเป็นขนบประเพณีสืบมาแต่โบราณ
การค้าขาย
การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ชนเผ่าซังใช้หอยเบี้ยเป็นเงินตราในการแลกเปลี่ยน พวกพ่อค้าต่างเผ่าต่างนำสินค้าที่ชนเผ่าซังต้องการใช้นำมาแลกเปลี่ยนจำหน่าย กล่าวกันว่า ทองแดงและดีบุกที่ขุดได้จากทางภาคใต้ของจีน ได้นำไปขายให้กับชนเผ่าซังเพื่อหล่อเครื่องทองบรอนซ์ นอกจากนี้ยังมีการซื้อขายกระดองเต่าจากฝั่งทะเลตะวันออกเฉียงใต้ของจีน กระดองเต่าเหล่านั้นนำไปจากหมู่เกาะและชายฝั่งทะเลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ได้มีการศึกษาพบว่า ชนเผ่าออสโตรเอเชียน ซึ่งมีลักษณะดวงตากลมโต ผิวคล้ำ ต่างจากชนชาวจีนฮั่น ได้เข้าไปอาศัยแถบชายฝั่งทะเลจีนแถบมณฑลฝูเจี้ยน ( ฮกเกี้ยน ) และพื้นที่ใกล้เคียงทีเรียกว่าพวก หมิน หรือ หมัน หรือ อวี้ ชนเหล่านี้ได้เดินทางจากชายฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลัดเลาะขึ้นไปตามชายฝั่งทะเลจีนหลายพันปีมาแล้ว และยังได้นำผลิตผลจากทะเลเข้าไปค้าขายยังฝั่งตะวันออกของจีน นอกจากกระดองเต่าและเปลือกหอยชนิดต่างๆแล้ว ที่สำคัญอีกอย่างคือ เกลือทะเล ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับชนทุกเผ่า
ได้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า คำว่า ซัง หมายถึงกรรมกรที่แบกหามเกลือมาแต่เดิม ดังนั้นชนเผ่าซังอาจเป็นชนเผ่าที่อพยพขึ้นไปแล้วผลิตเกลือเป็นหมู่บ้านฉางเกลือ ต่อมาคำนี้มีความหมายกว้างขึ้น ซึ่งรวมไปถึงคนที่มีอาชีพหลอมทองบรอนซ์ พวกช่างต่างๆ รวมเรียกว่า พวกชาวซัง
ส่วนผลผลิตอื่นๆ เช่น ข้าวและสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นผลิตผลภายในชนเผ่า แต่บางส่วนได้จากการทำสงครามระหว่างเผ่า และการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างเผ่า เช่น ชนเผ่าทางภาคเหนือ มีปศุสัตว์ พวก วัว ม้า แกะ นำมาแลกเปลี่ยนสินค้ากับเผ่าซัง เป็นต้น
พวกพ่อค้ากับพวกช่างฝีมือที่เป็นชนเผ่าอื่น จะไม่รวมอาศัยอยู่กับชนเผ่า พวกนี้อยู่กันเป็นเอกเทศ ไม่ได้มีส่วนในการผลิตอาหาร และไม่ได้เป็นกลุ่มชนชั้นสูง จึงอยู่นอกกลุ่มชนชั้น เช่นเดียวกับพวกข้าทาส เมื่อเกิดสงครามขึ้น พวกพ่อค้าและพวกช่างจึงไม่ได้เข้าไปอยู่ภายในกำแพงเมือง พวกเขาจึงต้องป้องกันตนเอง ชนกลุ่มนี้เป็นพ่อค้าต่างเมืองที่เดินทางค้าขายไปยังเมืองต่างๆ ทำให้รู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละเมืองในแต่ละชนเผ่า จึงสามารถเอาตัวรอดได้เมื่อเกิดสงครามระหว่างชนเผ่า
วิทยาการความก้าวหน้า
ชนเผ่าซังได้พัฒนาการการเรียนรู้ในศาสตร์ต่างๆอย่างหลากหลายด้านด้วยกัน คือ
ด้านสถาปัตยกรรม ในการออกแบบอาคารพระราชวังและที่อยู่อาศัย พบได้จากซากปรักหักพังของตัวเมืองอินที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ ตลอดจนการออกแบบสถานที่ประกอบพิธีกรรมเพื่อบวงสรวงเทพเจ้าและบรรพบุรุษ การออกแบบรถเทียมม้าใช้ในการออกศึกการออกแบบภาชนะทองบรอนซ์หรือทองสัมฤทธิ์ชนิดต่างๆมากมาย นอกจากการออกแบบรูปทรงแล้วยังได้ออกแบบลวดลายจากธรรมชาติที่ได้พบเห็นในชีวิตประจำวัน การออกแบบลวดลายทอผ้าไหมและเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่ทอด้วยปอป่านและเครื่องหนังสัตว์ การออกแบบภาชนะเครื่องปั้นดินเผาชนิดต่างๆที่ใช้ในชีวิตประจำวันของสามัญชน การออกแบบงานแกะสลักต่างๆ เช่น การแกะสลักงาช้าง กระดูกสัตว์ หยก เพื่อเป็นเครื่องประดับตกแต่ง เป็นต้น
ในด้านคณิตศาสตร์ ชนเผ่าซังมีความรู้ทางการคิดคำนวณดังจะเห็นได้จากการออกแบบสถาปัตยกรรมประติมากรรมดังกล่าวแล้ว ซึ่งจำเป็นต้องใช้การคำนวณเป็นพื้นฐาน
ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้อง จะเห็นได้จากการนำทองแดง ดีบุกมาหลอมทำเครื่องทองบรอนซ์ และยังได้นำตะกั่วมาเป็นส่วนประกอบด้วย เทคโนโลยีเหล่านี้ มีความก้าวหน้าอย่างสูง นอกจากนี้ยังพัฒนาการต้มสุราโดยใช้ผลผลิตจากข้าวและพืชผลที่เพาะปลูก
ชนเผ่าซังยังมีความรู้เรื่องอุตุนิยมวิทยา ภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงของอากาศตามฤดูกาล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกพืชชนิดต่างๆ ที่เป็นอาหารหลัก ตลอดจนการปศุสัตว์ ชนเผ่าซังยังได้ศึกษาสภาพพื้นที่ทางกายภาพ การป้องกันอุทกภัย การศึกษาการใช้สมุนไพรมารักษาความป่วยไข้ ในด้านดาราศาสตร์ พวกเขาศึกษาความเป็นไปบนท้องฟ้า ดวงดาวต่างๆ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ การพัฒนาปฏิทินระบบจันทรคติปนกับสุริยคติ พวกเขาได้กำหนด หนึ่งวัน เริ่มจากรุ่งเช้า และกำหนดหนึ่งคืน การนับเดือน เริ่มจากเดือนที่ยาวมี ๓๐ วัน เดือนที่สั้น มี ๒๙ วัน ได้กำหนดให้ หนึ่งปีมี ๓๖๐ วัน การนับเดือนจากช่วงข้างขึ้นใกล้ฤดูหนาว จากการจดหมายเหตุของเจ้านครรัฐบางรัฐในสมัยราชวงศ์โจวได้กล่าวว่า ได้ใช้ปฏิทินของราชวงศ์เซี่ย ซึ่งต่างจากปฏิทินของราชวงศ์โจวอยู่สองเดือน และต่างจากปฏิทินของราชวงศ์ซังอยู่หนึ่งเดือน
นอกจากนี้ชนเผ่าซังยังได้ศึกษากลยุทธในการทำสงครามกับชนเผ่าต่างๆ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการเริ่มต้นของตำราพิชัยสงครามก็ได้
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๐
Title : Shang Economy and Social Culture
: Somboon Kantakian
|
|
|