|
เครื่องทองบรอนซ์
เครื่องทองบรอนซ์
นอกจากโลหะทองคำ เงิน แล้ว ทองแดง ทองเหลือง เป็นสิ่งใกล้ตัวที่คนคุ้นเคยกันดี
คำว่า ทองแดง ( Copper ) ตามพจนานุกรม หมายถึง ธาตุลำดับที่ ๒๙ สัญลักษณ์ คือ Cu เป็นโลหะ ลักษณะเป็นของแข็งสีแดง หลอมละลายที่ ๑๐๘๓ องศาเซลเซียส เนื้ออ่อนปูให้เป็นแผ่นบาง หรือรีดให้เป็นเส้นลวดได้ง่าย ทองแดงสกัดจากแร่ที่มีทองแดงซัลไฟด์ คุณสมบัติของทองแดงคือ นำความร้อน นำไฟฟ้าได้ดี ไม่เป็นสนิม มีความเหนียวดี ขึ้นรูปง่าย มีสีสวย ผสมกับธาตุอื่นได้ดี
คำว่า ทองบรอนซ์ ( Bronze ) เป็นโลหะเจือชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่ประกอบด้วย ทองแดง กับ ดีบุก เป็น ดีบุกทองบรอนซ์ บางครั้ง ทองบรอนซ์ เรียกว่า ทองสัมฤทธิ์ หรือ สัมฤทธิ์ โบราณใช้ว่า สำริด
คำว่า ทองเหลือง ( Brass ) เป็นโลหะเจือชนิดหนึ่ง ประกอบด้วย ทองแดง กับสังกะสี ไม่เกิน ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ลักษณะเป็นโลหะสีเหลือง
ยุคสมัยเครื่องทองบรอนซ์
ทองบรอนซ์ เป็นส่วนผสมของทองแดงกับดีบุก แต่อัตราส่วนของทองแดงมีมากกว่าดีบุก นอกจากนี้ ทองแดงยังนำไปผสมกับโลหะอื่นๆได้อีก เช่น ผสมกับอลูมิเนียม เป็น บรอนซ์อลูมิเนียม ผสมกับแมงกานิส เป็น แมงกานิสบรอนซ์ ผสมกับนิกเกิล เป็น โมเนล และ คูโปนิกเกิล โครเมียมบรอนซ์ เบรีเลียมบรอนซ์ และ บรอนซ์ซิลิกอน
เครื่องทองบรอนซ์ของชาวจีนโบราณ ได้ผสม ตะกั่ว ลงไปด้วยเล็กน้อย แต่ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน บางท่านกล่าวว่าใส่ลงไปเพื่อสะดวกในการเทตอนหลอมละลายบรอนซ์เหลวลงแม่พิมพ์ก็ได้ แต่บางท่านว่าใส่ตะกั่วลงไปเพื่อให้ ภาชนะมีประกายสุกใสแวววาวสวยงาม และกลายเป็นสีเทา ซึ่งเป็นความเข้าใจเกี่ยวกับ ออกไซด์ ของชุมชนเผ่าโบราณของจีน
ในสมัยพระเจ้าหวงตี้ พระองค์ประกาศให้ราษฎรทราบว่า ทองคำ ถือเป็นสำคัญอันดับหนึ่ง เงิน เป็นอันดับสอง ทองแดง ดีบุก ตะกั่ว เป็นอันดับสาม โปรดฯให้ราษฎรไปขุดมาหลอมทำภาชนะและอาวุธเพื่อใช้ในราชสำนัก ทองแดง โปรดฯให้ไปขุดที่ภูเขาซื่อซาน มาหลอมทำกระถางธูปขนาดใหญ่ เพื่อบูชาเทพเจ้า เมื่อถึงสมัยราชวงศ์ซัง ดีบุกขุดมาจากหุบเขาแม่น้ำเหลือง ส่วนทองแดง นำมาจากภาคใต้และภาคตะวันตก ตะกั่วนำมาจากหลายแหล่ง
ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์จีนได้แบ่งยุคทองบรอนซ์ไว้ ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๒๖๐๐ ถึงก่อน พ.ศ. ๗๐๐ แต่บางตำรา ถึง พ.ศ. ๓๒๓ ดังนี้
๑. ราชวงศ์เซี่ย ก่อน พ.ศ. ๒๖๐๐ - ๒๐๐๐
วัฒนธรรมเออหลี่เต้า ก่อน พ.ศ. ๒๔๐๐ - ๒๑๐๐
๒. ราชวงศ์ซัง ก่อน พ.ศ. ๒๑๐๐ - ๑๖๐๐
วัฒนธรรมเออหลี่กัง ก่อน พ.ศ. ๒๑๐๐ - ๑๙๐๐
วัฒนธรรมเอียนซู ก่อน พ.ศ. ๑๘๐๐ - ๑๖๐๐
๓. ราชวงศ์โจว ก่อน พ.ศ. ๑๖๐๐ - ๗๐๐
โจวตะวันตก ก่อน พ.ศ. ๑๖๐๐ - ๑๓๐๐
โจวตะวันออก ก่อน พ.ศ. ๑๓๐๐ - ๗๐๐
๔. ราชวงศ์จี๋น ก่อน พ.ศ. ๗๐๐ - ๗๔๙
๕. ราชวงศ์ฮั่น ก่อน พ.ศ. ๗๔๙ - พ.ศ. ๓๒๓
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันราชวงศ์เซี่ย ยังเป็นตำนาน เพราะยังไม่มีหลักฐานอ้างอิงเด่นชัดเหมือนการขุดพบทางโบราณคดีเหมือนราชวงศ์ซังลงมา เมื่อนับย้อนยุคขึ้นไปจากราชวงศ์เซี่ย ก็จะเป็นสมัย ซานหวงอู่ตี้ ซึ่งแยกเป็นสมัยซานหวงหรือ สามมหาจักรพรรดิ ประมาณ ก่อน พ.ศ. ๓๖๐๐ - ๓๓๐๐ และสมัยอู่ตี้หรือ ห้ามหาราชันย์ ก่อน พ.ศ. ๓๓๐๐ - ๒๗๐๐
เมื่อดูรูปทรงลวดลายเครื่องทองบรอนซ์สมัยราชวงศ์ซัง ซึ่งมีความประณีตสวยงาม ทั้งฝีมือการออกแบบ การหลอม เป็นฝีมือที่ได้พัฒนามาไกลพอสมควรแล้ว ดังนั้นการหลอมเครื่องทองบรอนซ์ คงจะได้พัฒนามาจากราชวงศ์เซี่ยซึ่งมีอายุประมาณ ๕๐๐ ปี หรืออาจจะก่อนหน้านั้น คือในช่วงสมัยซานหวงอู่ตี้ก็เป็นได้ สมัยพระเจ้าเซี่ยอู่ตี้ ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เซี่ย พระองค์โปรดฯให้หล่อระฆัง ที่เรียกว่า ปั๋ว หล่อ เข่ง ซึ่งรูปร่างคล้ายระฆัง แต่แบนไม่มีช่องกลวงเหมือนระฆัง ใช้ตี หล่อ ตัด คือกระดิ่งมีเหล็กแขวนข้างใน แล้วผูกเชือกดึงให้เสียงดัง และยังโปรดฯให้สร้างกลองใบใหญ่ หุ้มหนังทั้งสองด้าน กลองใบเล็กหุ้มหนังทั้งสองด้านเช่นเดียวกัน เรียกว่า เตียว โปรดฯให้นำไปไว้ยังเมืองใหญ่ เพื่อให้ราษฎรร้องทุกข์ กลองใบใหญ่ตีเพื่อสรรเสริญงานมงคล ระฆังตีเพื่อแสดงความซื่อสัตย์ต่อแผ่นดิน ต้องการปรึกษาว่ากล่าวความเมืองให้ดึงสายกระดิ่ง ถ้ามีทุกข์ภัยให้ตีเข่ง ถ้าจะฟ้องร้องกันให้ตีกลองใบเล็ก
จากการขุดค้นทางโบราณคดี พบว่า คนโบราณสมัยหลงซานกว่า ๕๐๐๐ ปีมาแล้ว ได้มีการใช้ทองแดงมาก่อน โดยพบแท่งทองแดงที่ภูเขาต้าเฉิง ใกล้กับทังซาน ที่เหอเป่ย นอกจากนี้ ยังได้พบทองแดงจากแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีที่อยู่อาศัยของชุมชนโบราณและหลุมศพของวัฒนธรรมซีเจี่ย ซึ่งอายุใกล้เคียงกับหลงซาน วัตถุที่ทำจากทองแดง ได้แก่ มีด กรรไกร แหวน กริช เหล็กหมาดสำหรับเย็บรองเท้า วัตถุบางส่วนได้ขุดพบที่ ชินอุ่ยเจี๋ย และ ต้าเหอเจียง ที่อำเภอหลินเซี่ย มณฑลกานซู่ สิ่งที่ค้นพบเหล่านี้ ทำจากทองแดงบริสุทธิ์ ยังไม่ได้นำโลหะอื่นมาผสม วัฒนธรรมหลงซานและซีเจี่ย น่าจะอยู่ช่วงสมัยซานหวงอู่ตี้ และคงจะได้พัฒนาการทำเหมืองเพื่อหาทองแดง วิธีการหลอม การออกแบบรูปทรงและลวดลายที่จะทำการหลอม การเข้ารูปด้วยการตี และกระบวนการหล่อ ซึ่งจำเป็นต้องใช้วิธีการทางเทคโนโลยีมากกว่าการทำเครื่องมือหิน หรือเครื่องภาชนะดินเผา พัฒนาการเหล่านี้ต่อเนื่องกันมาถึงยุคราชวงศ์เซี่ย และมีความเจริญก้าวหน้าสูงสุดในสมัยราชวงศ์ซัง
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๐
Title : Bronze Wares
: Somboon Kantakian
|
|
|