|
การออกแบบรูปทรงเครื่องทองบรอนซ์
การออกแบบรูปทรงเครื่องทองบรอนซ์
การออกแบบรูปทรงเครื่องทองบรอนซ์สมัยราชวงศ์ซัง ได้รับการออกแบบหลากหลายชนิด แต่ละชนิดผู้ออกแบบมีความรู้พื้นฐานในการวางแบบ ด้วยการคำนวณอย่างลงตัว ทำให้ทรวดทรงดูดี สวยงาม ซึ่งแสดงถึงความชำนิชำนาญและเชี่ยวชาญในการออกแบบ ถึงแม้วัตถุบางชนิดจะใหญ่เทอะทะ แต่คงจะเป็นวัตถุประสงค์ของผู้ที่จะนำไปใช้ นั่นก็คือ พิธีกรรมบวงสรวงดวงวิญญาณของบรรพบุรุษและเทพเจ้าสูงสุด คือ องค์ซังตี้ ซึ่งพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่จะประกอบพิธีบวงสรวงได้ ถึงอย่างไรก็ดี รูปทรงที่ได้มีการออกแบบเพื่อหล่อ พอสรุปได้ดังนี้
๑) ติง ( Ding ) เป็นหม้อสำหรับปรุงอาหาร มีหลากหลายขนาดและค่อนข้างใหญ่เทอะทะและหนัก แบ่งออกเป็นย่อยๆได้ดังนี้
( ๑ ) ติง เป็นหม้อทรงกลม มีขาทรงกลม ๓ ขา มีหูกลวง ๒ หู ที่สามารถใช้ไม้สอดหามได้ เมื่อใส่และปรุงอาหารร้อน
( ๒ ) ฝางติง ( Fang ding ) เป็นหม้อทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า และสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีหูกลวง ๒ หู มีขาทรงเหลี่ยมสี่ขา ใช้สำหรับปรุงอาหารและใส่อาหาร
( ๓ ) หลี่ติง ( Li ding ) เป็นหม้อก้นเป็นพู ขาทรงกลมมี ๓ ขา
๒) ภาชนะสำหรับใส่อาหาร
( ๑ ) กุ้ย ( Gui ) เป็นภาชนะสำหรับใส่อาหารประเภทเมล็ดพืช เช่น พวก ข้าวฟ่าง ข้าว มีฝาปิด
( ๒ ) ฝู ( Fu ) เป็นภาชนะสำหรับใส่อาหาร มีฝาปิด
๓) ภาชนะสำหรับใส่สุรา มีหลายชนิด ดังนี้
( ๑ ) ฝางอี้ ( Fang yi ) เป็นโถบรรจุสุรา มีฝาปิด
( ๒ ) กวง ( Guang ) เป็นกาใส่สุรามีพวยกาสำหรับริน
( ๓ ) อี้ ( Yi ) เป็นกาใส่สุรามีฝาปิด
( ๔ ) เหอ ( He ) เป็นกาใส่สุรามีพวยรินและมีฝาปิดด้วย
( ๕ ) หู ( Hu ) เป็นเหยือกสุรามีฝาปิด
( ๖ ) อวี้ ( You ) เป็นโถแบบกาใส่สุรามีหูสำหรับหิ้วและมีฝาปิด
( ๗ ) จุ่น ( Zun ) เป็นเหยือกใส่สุรา
( ๘ ) กามีพวยทรงสี่ขา และทรงสามขากลม มีหูถือเป็นรูปสัตว์
( ๙ ) การูปทรงบาตร มีพวยริน มีเชิงที่ก้น ฝาเป็นรูปใบหน้าคน มีหูคน เจาะรูร้อยเชือกฝากาและเชิงก้นกา
ฯลฯ
๔) จอกสุราและที่ใส่สุราแล้วตั้งไฟอุ่นได้ มีหลากหลายรูปแบบ ดังนี้
( ๑ ) จื่อ ( Zhi ) เป็นจอกสุรามีฝาปิด
( ๒ ) เจี่ย ( Jia ) เป็นจอกที่อุ่นสุรามีสามขา
( ๓ ) จิว ( Jue ) เป็นจอกสุรามีสามขา มีปาก ใช้อุ่นสุรา
( ๔ ) เจี่ยว ( Jiao ) เป็นจอกสุรามีสามขา ใช้อุ่นสุรา
( ๕ ) กู๋ ( Gu ) เป็นจอกสุราปากแตร ตรงกลางคอด ปากกว้าง
๕) พาน ( Pan ) เป็นพานมีเชิงมีหลายรูปแบบ
๖) เส้า ( Shao ) เป็นทัพพีด้ามยาวคล้ายกระบวยตักน้ำ
๗) ไห เป็นรูปทรงกลมปากแคบ มีหูมีฝาและบางรูปแบบไม่มีฝา บางใบมีห่วงวงกลมใส่ทั้งสองหู ที่จับทำเป็นรูปสัตว์
๘) กระโถน รูปทรงกระโถนปากแตร อาจเป็นภาชนะใส่ของบางอย่าง
๙) หม้อทรงบาตร มีฝามีเชิงที่ก้น มีที่หิ้ว
๑๐) หม้อมีเชิงคล้ายหม้อทะนน มีฝา บางแบบไม่มีฝา
๑๑) ที่วางของเป็นตั่งและแบบแท่นบูชา
๑๒) เครื่องดนตรี เช่น ระฆัง ระนาดลูกตุ้ม รูปหล่อกลองสองหน้าหุ้มหนังรูปร่างเหมือนกับที่มีใช้ในปัจจุบัน
๑๓) อาวุธ เช่น ขวานมีหลายรูปแบบ ดาบ กริช ปลายหอก ฯลฯ
๑๔) อื่นๆ เช่น รูปหน้ากาก ฯลฯ
เครื่องทองบรอนซ์เหล่านี้ ในปัจจุบัน นอกจากแสดงและจัดเก็บไว้ในจีนแล้ว จำนวนหนึ่งได้กระจัดกระจายไปอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ สถาบันการศึกษา แกลเลอรี่และพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลทั่วโลก
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๐
Title : Bronze Designs
: Somboon Kantakian
|
|
|