|
ลวดลายเครื่องทองบรอนซ์
ลวดลายเครื่องทองบรอนซ์
เครื่องทองบรอนซ์สมัยราชวงศ์ซังแทบทุกชิ้น จะมีลักษณะเด่นอยู่อย่างหนึ่ง คือ ลายหน้ากาก เทาเท่ย ( 饕餮 - Tao tie ) เป็นลายรูปสัตว์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมเออหลี่เต้า คำว่า เทาเท่ย เป็นคำที่ใช้กำหนดเรียกศิลปะรูปแบบนี้ ในสมัยราชวงศ์ซ่ง กล่าวกันว่า เทาเท่ยเป็นเทพสัตว์ที่หิวกระหายไม่มีที่สิ้นสุด คือ มีหน้าที่อย่างเดียว กิน ชาวจีนจึงได้กำหนดคุณสมบัติไว้ให้คือ กิน สัญลักษณ์นี้นอกจากปรากฏบนเครื่องทองบรอนซ์แล้ว ยังได้นำรูปเทาเท่ยไปแกะสลักบนงาช้าง หยก ไม้ และอื่นๆ รูปร่างหน้าตาของเทาเท่ย คือ เป็นเทพสัตว์ที่มีเขี้ยวแหลมคม มีอุ้งเล็บคม และมีเขาแหลม มีหาง ตรงปลายหางมีแขนงขน และตรงขามีแขนงขน ดวงตากลมโต คล้ายลูกกระดุมสองเม็ด จ้องมองมายังผู้มอง ใบหูกางสองข้างขนาดใหญ่ ช่องปากกว้างยาวใหญ่แสยะยิงฟันขาว หน้าตาจึงน่ากลัว ต่อมาในสมัยราชวงศ์โจว ได้พัฒนารูปแบบให้เป็นมังกรชนิดหนึ่ง พอถึงสมัยราชวงศ์ฮั่น ได้พัฒนารูปร่างของเทาเท่ยให้ผอมลง แลดูแล้วไม่น่ากลัวเหมือนเก่า รูปร่างหน้าตาของเทาเท่ย จะคล้ายกับศิลปะโบราณของชนเผ่ามายาในอเมริกาใต้ และชนเผ่านอร์ดิกทางยุโรป
การออกแบบลวดลายรูปสัตว์ชนิดต่างๆประกอบภาชนะ และการออกแบบภาชนะเป็นรูปสัตว์นั้น ช่างได้ออกแบบจากบรรดาสัตว์ที่อยู่ใกล้ตัวเป็นส่วนใหญ่ เช่น แกะ มังกร แรด วัว เสือ หมู ม้า ปลา กวาง สุนัข งู กิเลนมีเขา พวกนก เช่น นกฮูก นกยูง นกแก้ว ไก่ เป็นต้น การออกแบบสัตว์บางชนิด เช่น ช้าง ซึ่งไม่ได้อาศัยอยู่แถบนั้น
การออกแบบรูปคนเป็นลายเส้นถ่างขาถ่างมือศีรษะอยู่ในปากเสือ รูปหน้ากากลอยนูน บางรูปพัฒนามาจากหน้ากากเทาเท่ย รูปคนเหล่านี้ที่น่าสนใจก็คือ มีทั้งดวงตากลมโตแบบชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และดวงตาเล็กแบบคนจีนฮั่น
การออกแบบรูปหน้าเสี้ยว เช่น รูปมังกร เป็นต้น
กลุ่มลายเส้น เป็นเส้นรอบวงกลม ลายเส้นหยัก ลายสายฟ้า ลายขูดขีด ลายจักจั่น ลายก้อนเมฆ ลายก้นหอย เส้นตรง เส้นขวาง และลวดลายอื่นๆที่เป็นพื้นฐานของมนุษย์ยุคโบราณที่ได้ใช้กันทั่วไป
สรุปแล้วการออกแบบลวดลายบนเครื่องทองบรอนซ์ อาจแบ่งเป็น ๔ ประเภท คือ ประเภทลายเส้น ประเภทลอยนูน ประเภทภาพเสี้ยว และประเภทเต็มตัว เช่น นก สัตว์บนฝาภาชนะ ซึ่งเป็นส่วนอยู่ภายนอกภาชนะ ยกเว้นภาชนะสำหรับใส่น้ำ ตัวลวดลายอยู่ภายใน
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๐
Title : Form and Style of Decoration
: Somboon Kantakian
|
|
|