|
พระโพธิสัตว์องค์ชาย
พระโพธิสัตว์องค์ชาย
ประเทศอินเดียในสมัยโบราณ ยังปกครองกันอยู่เป็นแคว้นเล็กแคว้นใหญ่หรือหลายประเทศ ยังไม่ได้รวมกันเป็นเช่นปัจจุบัน ราชวงศ์คุปตะได้ปกครองแคว้นมคธ มีเมืองปาตลีบุตรเป็นเมืองหลวง ระหว่าง พ.ศ. ๘๑๐ ๑๐๑๐ เป็นแคว้นใหญ่ กษัตริย์ทรงนับถือพุทธศาสนามหายาน โปรดฯให้ช่างแกะสลักพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์มักเป็นรูปลอยนูนหรือรูปนูนสูง พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร มีพระอมิตาภะ ประดิษฐานอยู่บนพระเศียร รูปพระโพธิสัตว์ทรงเครื่องแบบวรรณะกษัตริย์ ไม่สวมเสื้อทรงภูษาผ้านุ่ง มีสร้อยกรองพระศอ มีสายธุรำสังวาลเป็นยัชโญปวีตของกษัตริย์ กำไลต้นแขนและข้อพระหัตถ์ ไม่สวมฉลองพระบาท มีทั้งสองกร สี่กรและหกกร มีทั้งพระวัชรปาณีซึ่งทรงถือวัชระหรือสายฟ้า และพระปัทมปาณี ถ้าเป็นพระปัทมปาณีทรงถือดอกบัวพระหัตถ์ซ้าย คนโทน้ำพระหัตถ์ขวา หากเป็นสี่กร ทรงถือดอกบัวและคนโทน้ำพระหัตถ์ซ้าย ส่วนพระหัตถ์ขวาทรงถือเจดีย์ และหงายพระหัตถ์ ทรงยืนหรือประทับนั่งบนดอกบัว หลังราชวงศ์คุปตะแล้ว ฝ่ายมหายานก็ยังเจริญรุ่งเรืองทั้งทางศาสนาและศิลปะรูปพระโพธิสัตว์ ต่อมาถึงสมัยราชวงศ์วรรธนะ ราชวงศ์ปาละและเสนะในอินเดีย
ในประเทศจีน รูปพระโพธิสัตว์ได้เริ่มปรากฏในสมัยราชวงศ์ซ่ง ระหว่างพ.ศ. ๑๕๐๓ ๑๘๒๒ เป็นลักษณะองค์ชาย เครื่องทรงยังคงรักษารูปแบบพระโพธิสัตว์อินเดียคือไม่สวมเสื้อ ทรงแต่ภูษา แต่ได้เปลี่ยนพระพักตร์เป็นแบบจีน เปลี่ยนเครื่องทรงบางส่วนเป็นริ้วผ้าไหมพาดองค์และบ่า แขน ผ้าห้อยหน้า เปลี่ยนท่าประทับนั่งเป็นชันเข่าขวา พาดพระกรขวาที่หัวเข่าขวา พระหัตถ์ซ้ายทรงยันพื้น พระหัตถ์ทั้งสองข้างไม่ได้ทรงถืออะไร ขาซ้ายปล่อยลงเหยียบบนดอกบัว ไม่ได้สวมฉลองพระบาท มีอุณาโลมหรือจุดที่พระนลาฏ บางองค์นั่งขัดสมาธิ ศิราภรณ์ทำผมมวยทรงสูงมีเครื่องประกอบคล้ายผ้า และมีพระอมิตาภะประดับด้านหน้าบนมวยผม เป็นประติมากรรมรูปปั้นหรือรูปแกะสลักที่สวยงามมาก สรีระสมส่วน
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน
ภาพประกอบ
*********
|
|
|