|
อุปรากรจีน
อุปรากรจีนหรืองิ้ว เป็นหนึ่งในสามประเทศของโลกที่มีมาแต่โบราณ อีกสองประเทศคืออุปรากรของประเทศกรีซและอุปรากรภาษาสันสกฤตประเทศอินเดีย งิ้วได้พัฒนามาจากการร้องและเต้นรำ เพื่อบูชาเทพเจ้าตั้งแต่สมัยซานหวงอู่ตี้กว่าห้าพันปีมาแล้ว ต่อมาได้พัฒนาการละเล่นด้วยการเล่าเรื่องนิทาน หรือการเมืองตามประวัติศาสตร์มีดนตรีประกอบในสมัยราชวงศ์ฮั่นก่อนค.ศ. ๒๐๒ ถึงค.ศ. ๒๒๐ ถึงสมัยราชวงศ์ใต้หรือราชวงศ์ซ่ง ค.ศ. ๔๒๐ ๔๗๙ งิ้วแสดงโดยครอบครัวเร่ร่อน ถือว่าเป็นอาชีพต่ำสุด จนถึงสมัยราชวงศ์ถังมีฮ่องเต้ถังเสวียนจง ได้ทรงอุปถัมภ์การแสดงงิ้วให้เป็นอาชีพโดยมีสถาบันจัดสอนการแสดง สมัยราชวงศ์ซ่ง ค.ศ. ๙๖๐ ๑๒๗๙ งิ้วแสดงบนเวทีสี่เหลี่ยมและได้พัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง แต่อาชีพการแสดงงิ้วรุ่งเรืองมากในสมัยราชวงศ์หยวน ค.ศ. ๑๒๗๙ ๑๓๖๘ โดยเฉพาะในรัชสมัยฮ่องเต้กุไบลข่าน ในศตวรรษที่ ๑๙ งิ้วได้พัฒนาไปเป็นงิ้วปักกิ่ง ที่มีการแต่งกายด้วยสีสันฉูดฉาดละลานตา การแต่งหน้า การแสดงออกทางหน้าตา ท่าทาง และพูดภาษาจีนกลาง แต่งิ้วท้องถิ่นก็ยังคงพูดภาษาท้องถิ่นอยู่ เช่น งิ้วเซี่ยงไฮ้ กว่างโจว ชิวโจว ซูโจว เรื่องที่นำมาแสดงเอามาจากเทพนิยาย ประวัติศาสตร์ เครื่องแต่งกายของงิ้ว เริ่มพัฒนามาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง ค.ศ. ๑๓๖๘ ๑๖๔๔ เป็นต้นมา และเป็นต้นแบบของการแต่งกายของงิ้วโดยทั่วไป ด้วยการสวมผ้าถัก ลูกปัดสีต่างๆ เครื่องสวมศีรษะ การใส่ครีม สวมรองเท้าส้นสูงมาก การแต่งหน้ากากแตกต่างกันไปตามบุคลิกของตัวละครแต่ละตัว ซึ่งไม่เหมือนกันทุกตัว งิ้วปักกิ่งเริ่มแต่สมัยรัชกาลฮ่องเต้เฉียนหลง ปีค.ศ. ๑๗๙๐ เข้าไปแข่งขันการแสดงที่ปักกิ่ง โดยมีคณะงิ้วสี่คณะจากมณฑลอานฮุยเป็นตัวหลักด้วยการใช้ดนตรีสด การเปลี่ยนแปลงไปตามบุคลิกท่าทางเช่นการเดินขึ้นบันได การขี่ม้า การเปิดประตูหน้าต่าง เป็นต้น ทำให้ผู้ดูรู้เรื่องและสนุกสนาน แทนที่แบบงิ้วโบราณจากเมืองซูโจวที่เรียกว่า คุนชวี ซึ่งได้แสดงปักหลักอยู่ที่ปักกิ่งกว่า ๒๐๐ ปีต้องล่าถอยด้วยคนไม่นิยมดู อย่างไรก็ตามงิ้วปักกิ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบของการแสดงงิ้วทั่วประเทศกว่า ๓๐๐ รูปแบบ แต่สรุปแล้วมี ๔ รูปแบบคือ ก) คุนชวี แสดงแบบดั้งเดิมโบราณจากเมืองซูโจว ข) ชินเชียง จากส่านซี เป็นงิ้วที่ร้องเสียงดัง ค) อวี้หรือเอว้หรือหวง เป็นงิ้วที่แสดงแบบร่าเริงสนุกสนาน ง) ปักกิ่ง เป็นงิ้วที่มีสีสันและการแสดงออกท่าทางทำให้ผู้ดูเห็นภาพ ส่วนงิ้วเปลี่ยนหน้ากากของมณฑลเสฉวนก็เป็นที่น่าสนใจ บทบาทของผู้แสดงงิ้วมี ๔ บทบาท คือ ๑) เซิง ๒) ตั้น ๓) จิ้ง ๔) โฉ่ว
๑) เซิง เป็นบทบาทการแสดงของผู้ชาย ที่ผู้แสดงจะต้องฝึก ๓ ชนิดด้วยกันคือ ก. เล่าเซิง เป็นตัวแสดงบทบาทของสุภาพบุรุษเป็นชายวัยกลางคนจนถึงคนแก่ หรือเป็นนักการศึกษา เป็นขุนนางชั้นต่างๆ ซึ่งจะสวมหมวกมีครีบชนิดและรูปแบบแตกต่างกันตามฐานะชนชั้น หรือแสดงเป็นนายพลทหารสวมเสื้อเกราะ อาจมีเคราสีดำหรือสีเทาตามอายุที่แสดง ข. เซี่ยวเซิง แสดงเป็นชายหนุ่ม เวลาร้องจะมีเสียงรัวเพื่อแสดงว่าเป็นคนหนุ่ม ไม่มีหนวดเครา ค. อู่เซิง เป็นพวกแสดงท่าทางโลดโผนหรือกายกรรม หกคะเมนตีลังกา เช่นพวกแสดงเป็นลิง เฮ่งเจีย เป็นต้น ๒) ตั้น เป็นบทบาทการแสดงของผู้หญิง ซึ่งมี ๖ บทด้วยกันคือ ก. เล่าตั้น แสดงเป็นผู้หญิงมีอายุหรือหญิงแก่ โดยแบ่งไปตามลักษณะบทบาท ฐานะ และอายุ เครื่องแต่งกายแบบเรียบง่าย ไม่แต่งหน้า การพูดหรือร้องใช้เสียงธรรมดาและน้ำเสียงต่ำกว่าตัวแสดงบทอื่นๆ ข. อู่ตั้น เป็นบทบาทโลดโผนเช่นเดียวกับอู่เซิง ค. ชิงอี้ เป็นบทแสดงหญิงผู้สูงศักดิ์ ที่มีกิริยามารยาทเรียบร้อย เป็นกุลสตรีแบบผู้หญิงจีน ที่มีความจงรักภักดี เหนียมอายและนิ่มนวล ง. หัวตั้น มีฐานะทางสังคมต่ำกว่าชิงอี้ แสดงออกทางร่าน เจ้ามารยาของวัยสาว จ. กุ้ยเหมินตั้น เป็นเด็กสาวในสังคมชั้นสูงที่จะเป็นชิงอี้ในอนาคต ฉ. เต้าหม่าตั้น แสดงบทเป็นนักรบหญิงสวมเสื้อเกราะและมีขนหางไก่ฟ้าสีทองสองหางยาวเฟื้อยปักไว้ที่หมวก ๓) จิ้ง เป็นการระบายสีบนใบหน้าเป็นรูปหน้ากากที่แตกต่างกันไปตามบทตัวละครแต่ละตัว ซึ่งมีหน้ากากเฉพาะตน เช่น กวนอู เล่าปี่ โจโฉ เป็นต้น การระบายสีบนใบหน้ายังแสดงให้เห็นถึงลักษณะนิสัยของตัวละครด้วย เช่น สีแดงหมายถึงความซื่อสัตย์ กล้าหาญ สีดำแสดงถึงคนใจร้อนวู่วาม สีน้ำเงิน แสดงถึงคนที่โหดร้ายทารุณ สีขาวแสดงถึงคนที่อ่อนแอ ทาจมูกขาวแสดงเป็นตัวตลก ๔) โฉ่ว แสดงบทตัวตลกด้วยคำพูด โดยเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมาล้อเลียนหรือเล่นตลก แล้วพูดเป็นสำเนียงคนท้องถิ่น ตัวตลกชายจำง่ายด้วยการเอาสีขาวป้ายจมูกและขอบตา แต่บางครั้งทาหน้าแบบนี้อาจแสดงเป็นตัววายร้ายก็ได้ ส่วนตัวตลกหญิงแต่งหน้าทาสีแดง แล้วทาคิ้วสีดำ หมวกของพวกเซิง ที่แสดงเป็นตัวขุนนางชั้นต่างๆ จะสวมหมวกมีครีบสองข้าง ถ้าเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ารูปรีหรือรูปไข่หรือมีมุมฉาก จะเป็นพวกขุนนางชั้นสูง ส่วนปีกกลมพวกโฉ่วสวม ถ้าปีกเป็นรูปตราเพชรเป็นพวกตัวโกง ส่วนปีกยาวและบางจะเป็นพวกอัครมหาเสนาบดีหรือฮ่องเต้ การใช้ขนไก่ฟ้าสีทองที่ยาวเกือบ ๖ ๗ ฟุตเสียบบนหมวกสองเส้น เดิมเป็นพวกตัวแสดงหัวหน้าชนกลุ่มน้อยหรือหัวหน้าโจร หรือหัวหน้ากบฏ แต่ด้วยความที่มีสีสันและรูปทรงที่สวยงาม พวกแสดงเป็นนายพลสวมเกราะจึงเอามาเสียบด้วย ข้อห้ามของคณะงิ้วเช่นเดียวกับการแสดงของพวกอื่น คือ ห้ามพูดคำว่า เหมิง เมื่ออยู่หลังเวที และห้ามพุดคำว่า เกิงเมื่ออยู่หน้าเวที ซึ่งมาจากเรื่องอวี้เหมิง การไหว้ครูงิ้ว ผู้แสดงทุกคนจะต้องไหว้บรมครูงิ้วคือ องค์ถังหมิงหวง หรือเล่าเอี๋ย ด้วยการจุดธูปเทียนของหอมสักการะก่อนการแสดงทุกครั้ง ที่บนหิ้งหรือบนโต๊ะที่วางรูปแกะสลักหรือป้ายวิญญาณ เพราะพวกเขาถือว่าพระองค์อาจทำให้การแสดงของตนดีหรือไม่ดีก็ได้ในแต่ละรอบ นอกจากองค์ถังหมิงหวงแล้ว นักแสดงบางคนที่แสดงบทบาทของนายพลนักรบพวกเขาจะต้องสักการะ เทพเจ้าอู่ฉาง ด้วยรวมทั้งการแสดงบทเป็น ขุนนางผู้ซื่อสัตย์ ฮ่องเต้ หรือขุนนางโฉดชั่ว จะต้องสักการะตัวละครนั้นๆด้วยเพื่อจะได้แสดงให้สมบทบาท อีกประการหนึ่ง ตุ๊กตาที่พวกงิ้วใช้แสดงแทนเด็ก พวกเขาถือว่ามีวิญญาณของเด็กที่ตนเอามาแสดงสิงอยู่ ก่อนและหลังการแสดงผู้แสดงจะต้องสักการะด้วยทุกครั้ง ในระหว่างการแสดงจะต้องเอารูปเด็กแหงนหน้ามองดูฟ้า เมื่อเลิกการแสดงจับให้มองดูพื้นดิน ซึ่งรูปดังกล่าวน่าจะเป็นเทพเจ้าหลี่โลเชียก็ได้ การแสดงงิ้วก็เหมือนการแสดงละครโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ที่ผู้แสดงงิ้วในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องพูดภาษาจีนได้ก็แสดงได้ดีสมบทบาทเช่นเดียวกัน ด้วยการท่องบทและออกเสียงให้ถูกต้องเท่านั้นก็สามารถยึดเป็นอาชีพได้ ปัจจุบันคณะงิ้วในกรุงเทพฯมีประมาณ ๓๐ คณะ ทั้งคณะใหญ่และคณะเล็ก คณะใหญ่มีผู้แสดงกว่าห้าสิบคน ส่วนคณะเล็กมีผู้แสดงต่ำกว่ายี่สิบคน รับจ้างไปแสดงทั่วประเทศ มีรถบรรทุกทั้งคนและอุปกรณ์การแสดงตลอดจนดนตรี
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑
Title : Chinese Opera
: Somboon Kantakian
Credits: Somboon Kantakian 26/02/2009
|
|
|