|
ผู้เป็นต้นแซ่แต่โบราณ
พระเจ้าหวงตี้
ปัจจุบันจีนมีประชากรกว่า หนึ่งพันสี่ร้อยล้านคน คนเหล่านี้ต่างก็มีแซ่หรือซิงที่ใช้ต่อเนื่องกันมากว่าห้าพันปี นั่นก็คือก่อนสมัยสามมหาจักรพรรดิห้ามหาราชันย์ โดยมอบแซ่สกุลให้แก่มารดาเด็กมิใช่ให้แก่บิดา ดังนั้นตัวอักษรแซ่แต่เดิมจะมีความหมายถึงผู้หญิงและการให้กำเนิด แซ่สกุลจึงเริ่มจากฝ่ายมารดาตั้งแต่สมัยเริ่มแรกแล้ว ก่อนสมัยราชวงศ์เซี่ย ราชวงศ์ซังและราชวงศ์โจว จากการขุดค้นทางโบราณคดี ได้มีการบันทึกตัวอักษรภาษาจีนลงบนกระดองกระดูกสัตว์ที่เรียกว่า ** เจี่ยกู่เหวิน ** จากตัวอักษร ๑,๗๐๐ ตัวที่สามารถอ่านได้ มีกว่า ๔๐๘ ตัวที่เป็นแซ่สกุลที่ใช้กันมาแต่โบราณถึงปัจจุบันเป็นแซ่พื้นๆที่แม้แต่เด็กก็สมารถอ่านออก แซ่สกุลแรกเริ่มจากชื่อหมู่บ้านที่ตนอาศัยอยู่หรือครอบครัวอาศัยอยู่หรือเป็นหัวหน้าชนเผ่าในหมู่บ้านนั้นซึ่งเป็นเครือญาติใกล้ชิดกัน ส่วนแซ่สกุลที่ใช้เพียงร่วมแซ่แต่ไม่ใช่เป็นเครือญาติที่ เรียกว่า ซื่อ หรือ แคลนเนม ได้มาจากการเป็นเมืองขึ้นหรือชื่อพระราชทานเพื่อเป็นเกียรติแก่นักรบนายพลทหารที่เก่งกล้าสามารถ ดังนั้นในสมัยโบราณจึงมีแต่กลุ่มพวกขุนนางชั้นสูงนักรบเท่านั้นที่มีแซ่สกุลทั้งในเครือญาติและร่วมแซ่สกุล คือไม่ใช่เป็นญาติพี่น้องกันแต่ใช้แซ่เดียวกัน ในสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิถังไท้จง แห่งราชวงศ์ถัง เมื่อ พ.ศ. ๑๑๖๐ ขุนนางราชสำนักชื่อ เกาซื่อเหลียน ได้สำรวจพวกที่ใช้แซ่ต่างๆ รวม ๕๙๓ แซ่ เขาได้พิมพ์เอกสารชื่อ ** บันทึกแซ่สกุล ** ไว้เพื่อเป็นเอกสารอ้างอิงสำหรับคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการและเพื่อการตรวจสอบการแต่งงานว่าใช้แซ่เดียวกันหรือไม่ ต่อมาได้มีการบันทึกเป็นเอกสารชื่อหนังสือว่า ** ร้อยแซ่สกุล ** โดยรวบรวมไว้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือประมาณ พ.ศ. ๑๕๐๓ มีทั้งหมด ๔๓๘ แซ่สกุล เป็นอักษรเดี่ยว ๓๐๘ แซ่และอีกสามสิบแซ่เป็นอักษรผสมสองตัว และได้มีการรวบรวมขยายออกเป็น ๒,๕๖๘ แซ่สกุล เฉินเซยหยวน นักการศึกษาสมัยราชวง์หมิงได้รวบรวมไว้ ๓,๖๒๕ แซ่สกุล เฉินหลี่ปู๋ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแซ่สกุลได้รวบรวมไว้ ๑๕,๑๔๒ แซ่สกุล ในจำนวนนี้กว่า ๘,๐๐๐ แซ่สกุล ที่เป็นของชาวจีนฮั่นที่กระจายกันอยู่ทั่วประเทศ แต่ใช่ว่าแซ่ทั้งหมดจะใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เช่นจากหนังสือที่เขียนในสมัยราชวงศ์ซ่งที่กล่าวถึงมีแซ่สกุลที่ไม่ได้ใช้แล้ว ๗๖ แซ่
ปัจจุบันจีนมี ๕๕ ชนเผ่ารวมทั้งจีนฮั่น กล่าวกันว่าในปัจจุบันมี ๓,๐๕๐ แซ่สกุล ๘๗ เปอร์เซ็นต์ของชาวจีนทั้งหมดจะใช้แซ่พื้นๆ ๑๐๐ แซ่ที่ได้จัดอันดับการใช้มาก โดยเฉพาะ แซ่หลี่ ( Li ) แซ่หวัง ( Wang ) และแซ่จาง ( Zhang ) มีผู้ใช้รวมกันกว่า ๒๗๐ ล้านคน ข่าวจากหนังสือพิมพ์ประชาชนรายวันของจีนรายงานว่า นักวิจัยชื่อหยวนอี้ต้าแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์จีนได้พบว่า แซ่หลี่ แซ่หวัง แซ่จาง คิดเป็น ๗.๙ ๗.๔ และ ๗.๑ เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด และจากแซ่พื้นๆเหล่านั้นใน ๑๐๐ แซ่ มี ๑๙ แซ่ที่มีจำนวน ๑ เปอร์เซ็นต์ของประชากรจีนทั้งหมด ได้แก่ แซ่หลี่ แซ่หวัง แซ่จาง แซ่หลิว แซ่เฉิน แซ่หยัง แซ่จ้าว แซ่หวง แซ่โจว แซ่อู๋ แซ่ซู แซ่ซุน แซ่หู แซ่ฉู่ แซ่เกา แซ่หลิน แซ่เหอ แซ่กัว และแซ่หม่า เมื่อแยกตามภูมิภาคของประเทศแล้ว ภาคเหนือใช้แซ่หวัง เป็นอันดับหนึ่ง แล้วตามด้วยแซ่หลี่ แซ่จาง และแซ่หลิว ภาคใต้ของจีนใช้แซ่เฉินมากที่สุด ถัดมาเป็นแซ่หลี่ แซ่หวง แซ่หลิน และแซ่จาง บริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีใช้แซ่หลี่มากที่สุด ถัดมาเป็นแซ่หวัง แซ่จาง แซ่เฉิน และแซ่หลิว ได้มีการจัดอันดับแซ่สกุลที่มีคนใช้มากใน พ. ศ. ๒๕๓๓ และในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ยกตัวอย่างยี่สิบอันดับแรก แซ่สกุลปี ๒๕๔๙ ดังนี้
๑)หลี่ ( Li )
๒)หวาง ( Wang )
๓)จาง ( Zhang )
๔)หลิว ( Liu )
๕) เฉิน ( Chen )
๖)เอี๋ยง ( Yang )
๗)หวง ( Huang )
๘)จ้าว ( Chao )
๙)โจว ( Zhou )
๑๐)อู๋ ( Wu )
๑๑)ฉวี ( Xu )
๑๒)ซุน( Sun )
๑๓)จู ( Zhu )
๑๔)หม่า ( Ma )
๑๕)หู ( Hu )
๑๖) กัว ( Gua )
๑๗)หลิน( Lin )
๑๘)เหอ ( He, Ho )
๑๙)เกา ( Gao )
๒๐)เหลียง ( Liang )
การใช้แซ่สกุลของชาวจีนแต่สมัยโบราณนั้น เมื่อกษัตริย์โปรดฯให้ขุนนางชั้นสูงไปปกครองเมืองใดในระดับ กง หรือ อ๋อง หรือ โหว แล้ว บางครั้งพระองค์จะพระราชทานแซ่ของพระองค์ให้ไปใช้ด้วย ราษฎรทั้งเมืองก็จะใช้แซ่เดียวกับเจ้าเมืองนั้น คล้ายๆกับเป็นหนึ่งกลุ่มคนหรือเป็นหนึ่งชาติโดยใช้แซ่เป็นการนับคนหรือการตรวจสอบคนในบังคับ แต่ถ้าเจ้านครนั้นแข็งเมืองมีอำนาจมากขึ้น ก็อาจจะกลับไปใช้แซ่เดิมของตนก็ได้ ข้างนายทัพขุนพลที่เก่งกล้าสามารถมักจะมีทหารผู้ร่วมแซ่เป็นพันๆคน ซึ่งมิใช้เป็นเครือญาติแต่ประการใด อย่างไรก็ตามถือกันว่าเมื่อตนใช้แซ่ใหม่ด้วยประการใดก็ดี เมื่อตายไปแล้วที่หน้าหลุมศพจะบันทึกแซ่ดั้งเดิมของผู้ตายเพื่อให้ผู้ตายได้พบบรรพบุรุษของตนในปรภพ
ดังได้กล่าวแล้วว่า พระเจ้าหวงตี้ แต่เดิมทรงใช้แซ่ซุน ต่อมาเปลี่ยนเป็นแซ่จี บรรดาโอรสที่แยกย้ายกันไปครองเมืองต่างๆเพื่อสร้างนครหรืออาณาจักรของตน รวม ๑๔ พระองค์ ทำให้เกิดที่มาของแซ่ใหม่อีก ๑๒ แซ่ในขณะนั้น โดยแยกไปตามสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ มีโอรสสององค์ที่ทรงใช้แซ่จี คือ จีหยูหยางกับจีจางหลิน ส่วนโอรสอีกสององค์คือ ชิงหยางและอี้กู๋ ทรงใช้แซ่จีภายหลัง แซ่ที่โอรสพระเจ้าหวงตี้ทรงใช้ได้แก่ แซ่จี ( Ji ) แซ่อิ๋ว ( You ) แซ่ฉี ( Qi ) แซ่เทิง ( Teng ) แซ่เจิ้น ( Zhen ) แซ่เริ่น ( Ren ) แซ่ซวีน ( Xun ) และ แซ่อี้ ( Yi )
สรุปแซ่ที่สืบสายมาจากพระเจ้าหวงตี้เป็นต้นแซ่มี ๔ แซ่ คือ แซ่จี แซ่เริ่น แซ่เทิง และ แซ่จิ้น จากต้นแซ่เหล่านี้ได้แตกออกไปดังนี้
๑) ต้นแซ่ แซ่จี แตกออกไปเป็นแซ่ดังนี้
แซ่ไช่ ( ไฉ ฉั่ว ) ( Cai )
แซ่ไต๋ ( Dai )
แซ่ต้วน (Duan )
แซ่ฟาง ( Fang )
แซ่เฝิง (Feng )
แซ่กัว ( Gua )
แซ่หัน(Han) แตกเป็นแซ่เหอ(He)แซ่ปิง( Ping )
แซ่เจี่ยง ( Jiang )
แซ่หลิน ( Lin )
แซ่หลิว ( Liu )
แซ่เซิน ( Shen ) แตกเป็นแซ่อิ๋ว ( You )
แซ่ซื่อ ( Shi )
แซ่ซุน (Sun ) แตกเป็นแซ่ฉี ( Qi )
แซ่หวาง ( Wang )
แซ่อู๋ ( Wu )
แซ่อี้ว ( Yu )
แซ่โจว ( Zhou )
๒) ต้นแซ่ แซ่เริ่น แตกออกไปดังนี้
แซ่ชาง ( Chang )
แซ่ซู ( Shu )
แซ่ซือ ( Xi )
แซ่ซุย ( Xue )
แซ่จาง ( Zhang )
๓) ต้นแซ่ แซ่เทิง
๔) ต้นแซ่ แซ่จิน
แซ่เหล่านี้สืบสายมาจากพระเจ้าหวงตี้ซึ่งเป็นต้นแซ่และพระโอรสของพระองค์ที่สืบสายมาแต่โบราณแล้ว นอกจากนี้ยังมีบุรพกษัตริย์ที่มีชื่อเสียงตามที่ได้มีการเรียกขานกันคือ สามมหากษัตริย์ห้ามหาจักรพรรดิ ที่ทรงเป็นต้นแซ่ต่างๆ ซึ่งบางแซ่อาจจะซ้ำกัน ดังนี้
๑) พระเจ้าเอียนตี้ หรือพระเจ้าเสินหนงซื่อ ทรงเป็นต้นแซ่ดังนี้
แซ่เจี่ยง ( Jiang ) แตกออกไปดังนี้
แซ่ติง ( Ting )
แซ่เกา ( Gao )
แซ่หง ( Hong )
แซ่หลู่ ( Lu )
แซ่ชิว ( Qiu )
แซ่เซย ( Xie )
แซ่ฉวี ( Xu )
แซ่อุย ( Wei )
๒) พระเจ้าเส้าเฮ่า หรือ พระเจ้าจินเทียนซื่อ ทรงเป็นโอรสองค์โตของพระเจ้าหวงตี้กับพระนางเหลยจู่ สืบสายแซ่สกุลดังนี้
แซ่จิน ( Jin )
แซ่หลี่ ( Li )
แซ่จาง ( Zhang )
๓) พระเจ้าเกาเอี๋ยงซื่อ หรือ พระเจ้าเจวียนซวี แซ่สกุลที่สืบมาจากพระองค์คือ แซ่อู่ฮุย ( Wu Hui ) กับแซ่อิง ( Ying ) ซึ่งแตกสาขาดังนี้
(๑) แซ่อู่ฮุย แตกเป็น
แซ่ฉาว ( Cao ) แตกเป็น แซ่หนือ ( Ni )
แซ่จี (Ji)แตกเป็นแซ่ต่อง(Dong)แซ่ซู(Su)แตกเป็นแซ่ซี(Xi )
แซ่เปิ่ง ( Peng ) แตกเป็นแซ่เชียน (Qian )
แซ่อุน ( Yun )
แซ่เจิ้น (Zhen )
แซ่เหมย ( Mie) แตกเป็น :
แซ่ไป๋ ( Bai, Ba )
แซ่เปา ( Bao )
แซ่เหมียว ( Miao )
แซ่โม่ ( Mo )
แซ่พ่าน ( Pan )
แซ่ชู ( Qu )
แซ่อู๋ ( Wu )
แซ่เซียง(Xiong)แตกเป็นแซ่หลัว(Luo)
แซ่จา ( Zha )
(๒) แซ่อิง แตกออกไปดังนี้
แซ่หวง ( Huang )
แซ่เหลียง ( Liang )
แซ่ฉิน ( Qin )
แซ่ฉวี (Xu )
แซ่จ้าว( Zhao)แตกเป็น แซ่หม่า (Ma )
๔) พระเจ้าตี้เหยา หรือ พระเจ้าถังซื่อ ต้นแซ่มีเพียงแซ่เดียวคือ แซ่ฉี ( Qi ) แตกออกเป็นแซ่ย่อยอีกสามแซ่คือ
(๑) แซ่ตู้ ( Du ) แตกเป็น แซ่ฟ่าน ( Fan ) และแซ่หลิว ( Liu ) แซ่หลิวแตกเป็นแซ่หง ( Hong )
(๒) แซ่ถัง ( Tang )
(๓) แซ่เถา ( Tao )
๕) พระเจ้าซุ่นตี้ หรือ พระเจ้าอู่ซื่อ มีแซ่ที่สืบสาย คือ แซ่กุย ( Gui ) และแซ่เหยา ( Yao ) แซ่กุย แตกออกเป็นสี่แซ่ คือ ๑. แซ่เฉิน ( Chen ) และแซ่เฉินแตกออกเป็นแซ่หู ( Hu ) ๒. แซ่เถียน ( Tian ) และแซ่เถียนแคกเป็นแซ่เชอ ( Che ) ๓. แซ่หวัง ( Wang ) ๔. แซ่เอวียน ( Yuan )
๖) พระเจ้าเซี่ยอวี่ตี้ มีแซ่สืบสายคือ แซ่ซื่อ ( Si ) แตกเป็นแซ่เปา ( Bao ) แซ่โอว ( Ou ) แซ่เซี่ย ( Xia ) แซ่อวี้ ( Yu ) และแซ่เจิ้ง ( Zeng )
ได้มีผู้สรุปที่มาของแซ่สกุลไว้ ดังนี้
๑) เกี่ยวกับพระราชวงศ์ เช่น แซ่ถัง แซ่ซ่ง
๒) เป็นเครืออาณาจักร เช่น แซ่เชียง แซ่หวง
๓) เป็นอำเภอ เช่น แซ่หง
๔) เป็นตำบล เช่น แซ่อิน แซ่ซู
๕) เป็นหมู่บ้านชนบท เช่น แซ่หลู แซ่เอิน
๖) เป็นทางแยก สถานี เช่น แซ่หมี่
๗) เป็นสถานที่นอกทางผ่าน เช่นแซ่ซีเหมินแซ่ตุงเสียง
๘) เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ เช่น แซ่ชิน แซ่ฟู่
๙) เป็นชื่อบุคคลที่สำคัญในสังคม เช่น แซ่ฟาง แซ่กุง
๑๐) เป็นการดัดแปลงจากชื่อญาติ เช่น แซ่เมิ่ง
๑๑) เป็นแซ่จากชนเผ่าดั้งเดิมของตน เช่นแซ่โซ แซ่ชาง
๑๒) เป็นตำแหน่งหน้าที่ราชการ เช่น แซ่ซื่อ
๑๓) เป็นฐานันดรศักดิ์ เช่น แซ่หวัง ( อ๋อง ) แซ่โฮ่ว
๑๔) เป็นอาชีพการค้าขาย เช่น แซ่อู๋ แซ่เต้า
๑๕) เป็นวัตถุ เช่น แซ่ฉู่ แซ่ตู้
๑๖) เป็นพระนามของเจ้านคร เช่น แซ่เหวิน
๑๗) เพิ่มจากชื่อหรือสกุลจากบรรพบุรุษ เช่นแซ่กงซุ่น
๑๘) ประยุคใช้จากนามผู้ปกครองนคร เช่น แซ่หมัง แซ่ฝู
อย่างไรก็ตามแซ่ดั้งเดิมนั้น จะเป็นคำโดดคำเดียวหรือพยางค์เดียว ต่อมาได้นำเอาสิ่งต่างๆดังกล่าวข้างบนมาผสมเป็นแซ่ ซึ่งมีทั้งคนต่างชาติและชาวจีนฮั่นเอง แซ่ที่เป็นคนต่างชาติ เช่น จากภาษาเตอรกิส ได้แก่ แซ่อาชินา แซ่ซาจิก ภาษาตุงกูซิก ได้แก่ แซ่โม่หยง แซ่โม่ฉี ภาษาแมนจูราชวงศ์ชิง แซ่อ้ายซิน-เจวี๋ยหรัว แปลว่า ครอบครัวทอง เป็นต้น
สำหรับแซ่ที่ชาวจีนฮั่นดัดแปลงโดยเอาคำภาษาจีนมาต่อกันแล้วยังมีความหมายจากรากศัพท์เดิม แซ่ต่างๆเช่น ตงฟาง ตงเก๋อ ตวนมู่ ตู๋กู เหอหลัน เหอเหลียน หนานกง โอวหยัง ซ่างกวน ซือหม่า ซือถู ซือกง ซีเหมิน จงลี่ จู้หรง ฯลฯ
แซ่สกุลเหล่านี้ได้มีการบันทึกเป็นจดหมายเหตุว่าใครใช้แซ่นั้นมาเป็นรุ่นที่เท่าไรสืบต่อเนื่องกันมาที่สามารถตรวจสอบได้ถึงบรรพบุรุษของตนในแต่ละรุ่น แต่การบันทึกดังกล่าวบางช่วงอาจจะขาดตอนไปจากการสงครามหรืออุทกภัยอัคคีภัย แล้วเริ่มช่วงของบรรพบุรุษใหม่หรือหากหาจดหมายเหตุช่วงที่ขาดไปนำมาปะติดปะต่อกันได้ การบันทึกเหล่านี้ได้แจกจ่ายไปตามผู้สืบเชื้อสายเพื่อรักษาสายสัมพันธ์มิให้ขาดตอน แซ่สกุลแต่ละแซ่จะมีบรรพบุรุษต้นแซ่ว่าเดิมอยู่ที่เมืองใด เช่น
แซ่ไช่(ฉั่ว)บรรพบุรุษต้นแซ่อยู่ที่เมืองผิงเถามณฑลซานตง
แซ่ไต๋ เมืองหาว มณฑลอันฮุย
แซ่หัน เมืองหนันหยาง มณฑลเหอหนาน
แซ่หลิน เมืองหลื่อซือ มณฑลซานซี
แซ่หวัง เมืองไท้หยวน มณฑลซานซี
แซ่จี เมืองหนันหยาง มณฑลเหอหนาน
ฯลฯ
เมื่อคนทั้งตำบลใช้แซ่เดียวกัน มีข้อห้ามแต่งงานกับคนแซ่เดียวกัน การแต่งงานจึงต้องหาคู่คนต่างตำบล ถึงแม้คนในตำบลนั้นมิได้เป็นญาติที่ใกล้ชิดกันก็ตาม การเปลี่ยนแซ่หนึ่งไปใช้อีกแซ่หนึ่ง บางคนกระทำเพื่อหนีเภทภัยทางการเมืองหรือเหตุผลส่วนตัว สมัยก่อนสตรีที่แต่งงานแล้วจะยังคงใช้แซ่เดิมของตน ยกเว้นคนที่สามีมีบรรดาศักดิ์เป็นขุนนาง เช่นนางเฉินฮูหยิน สมัยหลังบางคนใช้แซ่สามีนำหน้าชื่อของตนก็มี แต่วิธีการใช้แซ่นั้น ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย จะใช้แซ่นำหน้าแล้วตามด้วยชื่อ เช่น ซุนยัดเซ็น หลี่ซื่อหมิง หลินเจ๋อสวี เฉินเหว่ยหลิง ฯลฯ แต่ถ้าใช้ชื่อภาษาอื่นจะใช้แซ่ตามหลังชื่อ เช่น ปีเตอร์ เฉิน เลสลี่ จาง สมศักดิ์ แซ่ตัน ฯลฯ
พระราชวงศ์และพระบรมวงศานุวงศ์ จะมีแซ่ที่ติดตัวมาแต่เดิมทรงใช้แซ่นั้นๆซึ่งจะไปซ้ำกับชาวบ้าน แต่มิได้เป็นพระญาติแต่อย่างใด เช่น ราชวงศ์ซัง กล่าวกันว่าใช้แซ่ จี ราชวงศ์โจวใช้แซ่จี ราชวงศ์ฉินแซ่อิ๋ง ราชวงศ์ฮั่นแซ่หลิว ราชวงศ์จิ้นแซ่ซือหม่า ราชวงศ์สุยแซ่เอี๋ยง ราชวงศ์ถังแซ่หลี่ ราชวงศ์ซ่งแซ่จ้าว ราชวงศ์หมิงแซ่จู ราชวงศ์ชิงแซ่อ้ายซินเจวี๋ยหลัว ราชวงศ์ฉีแซ่เซียว ราชวงศ์เฉินแซ่เฉินหรือแซ่ตัน ราชวงศ์เว่ยเหนือแซ่ทั่วป๋า ราชวงศ์ฉีเหนือแซ่เกา ราชวงศ์โจวเหนือแซ่อิ่วเหวิน ในยุคสามก๊ก ราชวงศ์เว่ยแซ่เฉา ราชวงศ์สู่แซ่เล่า ราชวงศ์อู๋แซ่ซุน ยุคราชวงศ์เว่ยตะวันตกแซ่หยวน ราชวงศ์โจวเหนือแซ่อิ้ว ในยุคห้าราชวงศ์มี แซ่จู แซ่หลี่ แซ่สือ แซ่หลิว แซ่กัว และแซ่ไช่-หลิน เป็นต้น ในสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตกและก่อนจากนั้น ได้มีชาวจีนฮั่นจากภาคเหนืออพยพลงมายังภาคกลางและภาคใต้มีหลายละลอกเพื่อหนีความแห้งแล้งอดอยากและหนีภัยพวกชนเผ่าอู่หูทางภาคเหนือ มีกล่าวถึงพวกตระกูลแซ่ต่างๆอพยพลงมาพร้อมกับเจ้าพระราชวงศ์จิ้นองค์หนึ่ง คือซือหม่ารุ่ยอ๋อง เรียกว่าพวกแปดแซ่หรือแปะแซ่ ได้แก่ แซ่หลิน แซ่หวง แซ่เฉิน แซ่เจิ้ง แซ่จั่น แซ่ชิว แซ่เหอ และแซ่หู ได้กระจายกันไปทำมาหากินอยู่ตามเมืองในมณฑลต่างๆ
คนแซ่สกุลเหล่านี้ถึงแม้จะไม่ใช่ญาติใกล้ชิดในครอบครัว (Xing) แต่เป็นพี่น้องร่วมแซ่ที่เรียกว่า ซื่อ ( Shi ) จะรวมตัวกันอยู่ในหมู่บ้านตำบลแลัวสร้างศาลเจ้าบูชาบรรพบุรุษผู้เป็นต้นแซ่ของพวกตน หรือรวมกันเป็นชมรม สมาคม เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เมื่ออยู่ต่างเมืองในจีนหรืออยู่ต่างประเทศ ถึงกำหนดวันสำคัญต่างก็กลับไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เพื่อระลึกถึงความกตัญญูผู้มีพระคุณต่อลูกหลานที่ได้ทำมาหากินกระจายกันไปทั่วโลก
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๐
Title : Ancestors of Ancient Chinese Clans
: Somboon Kantakian
|
|
|